วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลักธรรมในการครองตน ครองคน และครองงาน
หลักธรรมในการครองตน
หลักธรรมที่ทำให้ตนเองปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง รู้จักตนเอง ควบคุมตนเอง คือ
1.1 สติ สัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว ผู้นำต้องรู้ตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้การประพฤติปฏิบัติมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
1.2 หิริโอตัปปะ หิริคือการละอายต่อความชั่ว โอตัปปะคือการเกรงกลัวต่อบาป ธรรมะข้อนี้ช่วยให้คนที่ยึดถือไม่กล้าทำความชั่ว
1.3 ขันติ โสรัจจะ ขันติคือความอดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความทุกข์ อดทนต่อถ้อยคำที่ทำให้เจ็บใจ อดทนต่อความหิวกระหาย โสรัจจะคือความสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่หยิ่งยะโส ไม่โอ้อวด ไม่ยกตนเสมอท่าน จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมะที่ทำให้งาม
1.4 สัปปุริสธรรม7 ได้แก่การเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักกาลเวลา รู้จักประมาณ รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล และรู้จักตนเอง
หลักธรรมในการครองคน
หลักธรรมคำสอนที่ใช้สร้างมนุษย์สัมพันธ์ในระหว่างเพื่อนผู้ร่วมงาน เพื่อให้เกิดความยินดี เต็มใจทำงาน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของงาน ได้แก่
พรหมวิหาร 4 คือ
มีเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข ผู้น้อยจักไร้ทุกข์เกษมศรี
หัวหน้างานเป็นผู้นำกระทำดี มีเมตตาเป็นศรีประจำตน
กรุณา ปรารถนาให้พ้นทุกข์ แสดงตนช่วยคนสุขด้วยทุกหน
ทุกข์ของผู้ร่วมงานเหมือนทุกข์ตน แบ่งทุกข์ให้หลุดพ้นด้วยกรุณา
ยินดีเมื่อได้ดี ดีใจด้วย มุทิตา นำช่วยสวยหนักหนา
ผู้ร่วมงานซาบซึ้งตรึงอุรา ผู้นำพาให้เกิดขวัญกำลังใจ
กระทำตนเป็นคนกลางทุกทางที่ อุเบกขา นำชี้ให้ผ่องใส
ธรรมะของผู้นำประจำใจ พรหมวิหารสี่นี้ไซร้แจ่มใสเอย (สุบินรัตน์ รัตนศิลา 2543)
และเพื่อให้สายสัมพันธ์ผู้นำกับผู้ตามแน่นแฟ้น แนบแน่นและจงรักภักดี ผู้นำจะต้องมี
สังคหวัตถุ 4 ได้แก่
ทาน การให้สิ่งตอบแทน ให้รางวัลการทำงาน
ปิยวาจา การพูดไพเราะอ่อนหวาน
อัตถจริยา การรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม
สมานัตตา การเสมอต้นเสมอปลาย ไม่หน้าไหว้หลังหลอก
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นำต้องมีคือ ความเที่ยงธรรม หรือความยุติธรรม เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำลำเอียง เพราะรัก เพราะหลง เพราะโกรธ เพราะกลัว จะทำให้เกิดความแตกแยกในผู้ร่วมงาน
หลักธรรมในการครองงาน
หน้าที่การงานจะสำเร็จบรรลุจุดประสงค์ได้ต้องอาศัยหลักธรรมสำคัญคือ
อิทธิบาท 4 ได้แก่
ฉันทะ ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ สิ่งที่มีอยู่
วิริยะ ความเพียรพยายามอุตสาหะในหน้าที่การงาน ไม่ท้อแท้ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
จิตตะ ความเอาใจใส่ ความปฏิบัติงาน การใฝ่หาวิชาความรู้ประสบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน
วิมังสา การใช้สติปัญญา ใคร่ครวญ ไตร่ตรองให้รอบคอบ
-----------------------------------------------------------------
หลักพรหมวิหาร 4 (ด้วยวัตถุสิ่งของเงินทอง ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยวาจาทั้งความรู้และธรรม)
เมตตา ใช้ในกรณีปกติ = ให้ความรัก ให้ความปรารถนาดี กับมิตรและบุคคลอื่น (อย่าหวังผลตอบแทนเพราะจะเป็นราคะหรือโลภะ อย่าเป็นเสน่หาเพราะจะเกิดทุกข์และเกิดความลำเอียงจนเสียความยุติธรรม)
กรุณา ใช้ในกรณีเมื่อเขาตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ = ความมีใจพลอยหวั่นไหวอยากให้เขาพ้นทุกข์
มุทิตา ใช้กรณีเมื่อเขาได้ดี ทำดี ประสบความสำเร็จก้าวหน้า = พลอยยินดี ส่งเสริม สนับสนุน (แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการ หลักธรรม กฎธรรมชาติ และความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก โดยให้อัตตาหิ อัตโนนาโถ ทำงาน)
อุเบกขา ใช้กรณีเมื่อต้องรักษาความถูกต้อง รักษากฎ รักษาธรรม = วางเฉย (มีลักษณะร่วมสุขร่วมทุกข์ มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม)
อุเบกขา เป็นตัวทำให้ เมตตา กรุณา มุทิตา พอเหมาะพอดี และเป็นตัวรักษากฎกติกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น