วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

จรณะ ๑๕ (ความประพฤติ, ปฏิปทา, ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชาหรือนิพพาน)

๑. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล คือ ประพฤติถูกต้องดีงาม สำรวมในพระปาฏิโมกข์ มีมารยาทเรียบร้อย ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย)
๒. อปัณณกปฏิปทา ๓ (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ ซึ่งจะนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความเจริญงอกงามในธรรม เป็นผู้ดำเนินอยู่ในแนวทางแห่งความปลอดพ้นจากทุกข์อย่างแน่นอนไม่ผิดพลาด)
๒.๑ อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์ คือระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำใจ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา ห จมูก ลิ้น กาย ใจ )
๒.๒ โภชเน มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนาน มัวเมา
๒.๓ ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือ ขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป
๓. สัปปุริสธรรม ๘ (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี) บางทีเรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ เพราะนับเฉพาะสัทธรรม ๗ ในข้อ ๓.๑
๓.๑ สัทธัมมสมันนาคโต (ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ) คือ
ก. มีศรัทธา มีความเชื่อในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้
ข. มีหิริ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว
ค. มีโอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว
ง. เป็นพหูสูตหรือพหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้มาก ความเป็นผู้มีสมาธิดีอยู่เป็นปกติ ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก เจนใจ ขบได้ด้วยทฤษฎี
จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว การปรารภความเพียร ทำความเพียรมุ่งมั่น มีความเพียรทรงตัว คือ เพียรละความชั่ว ประพฤติแต่ความดี ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุระ
ฉ. มีสติมั่นคง ความมีสติระลึกสำรวมในอินทรีย์ ทรงสติตื่นอยู่เสมอ ไม่เผลอ
ช. มีปัญญา ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจชัดเจน เข้าใจหยั่งแยกแยะได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง(อาศัยกำลังของสมาธิ)
๓.๒ สัปปุริสภัตตี (ภักดีสัตบุรุษ คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย)
๓.๓ สัปปุริสจินตี (คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น)
๓.๔ สัปปุริสมันตี (ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น)
๓.๕ สัปปุริสวาโจ (พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต ๔)
๓.๖ สัปปุริสกัมมันโต (ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต ๔)
๓.๗ สัปปุริสทิฏฐิ (มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น)
๓.๘ สัปปุริสทานัง เทติ (ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่น ให้โดยเอื้อเฟื้อทั้งแต่ของที่ตัวให้ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น)
๔. ฌาน ๔ = รูปฌาน ๔
๑. ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔. จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น ๕ ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ที่มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน ในฌาน ๔ ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)
------------------------------------------------------------------------------
ดูเพิ่มเติม(อรูปฌาน ๔)http://www.larnbuddhism.com/grammathan/arupashan.html, http://poobpab.com/content/tripoom/prom_lok.htm

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

วิชชา ๓ วิชชา ๘ ( และอภิญญา ๖ )

วิชชา ๘ (ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ)
๑. วิปัสสนาญาณ (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่เป็นวิปัสสนา คือปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารคือนามรูปโดยไตรลักษณ์ มีต่างกันออกไปเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกัน )
๒. มโนมยิทธิ (ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรือชักงูออกจากคราบ)
๓. อิทธวิธา หรือ อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้)
๔. ทิพพโสต (หูทิพย์)
๕. เจโตปริยญาณ (ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้, รู้อารมณ์จิตของผู้อื่น)
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติ (ระลึกชาติได้)
๗. ทิพพจักษุหรือทิพพจักขุญาณ (ตาทิพย์)
๘. อาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ)

ข้อที่ ๒ (เตรียมตัวที่จะปฏิบัติเพื่อ อภิญญา ๖ ต่อไป) โดยมากจัดเข้าในข้อที่ ๓ ด้วย ข้อที่ ๓ ถึง ๘ (๖ ข้อท้าย) ตรงกับอภิญญา ๖. ดู (๑๐๕) วิชชา ๓; (๒๖๐) อภิญญา ๖; (๒๙๙) วิปัสสนาญาณ ๙
-----------------------------------------------------------------------------
วิชชา ๓ (ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ) " เตวิชโช "
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้, ระลึกชาติได้)
๒. จุตูปปาตญาณ (ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม, เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ)
๓. อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ, ความตรัสรู้)
วิชชา ๓ ข้อ ๑ - ๓ ตรงกับวิชชา ๘ ข้อ ๖ - ๘ ("ทิพพจักขุญาณ" ในวิชชา ๘ ข้อ ๗ กับ "จุตูปปาตญาณ" ในวิชชา ๓ เป็นอย่างเดียวกัน คือ ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย)
เมื่อเจริญอาโลกกสิณ(เพ่งแสงสว่าง) โอทาตกสิณ(เพ่งสีขาว) หรือ เตโชกสิณ(เพ่งไฟ) ใน ๓ อย่างนี้ ได้ทิพจักขุญาณ คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้เจโตปริยญาณและจุตูปปาตญานเอง
เตวิชโช ได้จุตูปปาตญาณ(ทิพจักขุญาณ)แล้ว สามารถจะเห็น(คุย)เทวดาหรือพรหมได้ เห็นสัตว์นรก เห็นเปรต เห็นอสุรกายได้ แต่ว่าไม่สามารถจะไปหาได้
มโนมยิทธิ ได้ทิพพจักขุญาณ(จุตูปปาตญาณ)แล้ว สามารถใช้กำลังของจิตเคลื่อนออกจากกายไปสวรรค์ ไปพรหมโลกได้ มีกำลังสูงกว่าเตวิชโช
(มโนมยิทธิ นี้ อาจเรียกว่าเป็น อภิญญาเล็ก ก็ได้ หรือ กึ่งอภิญญา อาศัยการไปมาด้วยอทิสสมานกายแต่เพียงอย่างเดียว ส่วน อภิญญาใหญ่ นั้น ท่านไปไหนมาไหนกัน ก็ยกเอากายหยาบทั้งกายไปด้วย)

-----------------------------------------------------------------------------
กรรมฐานทั้ง ๔๐
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ไม่เหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติคล้ายคลึงกัน แยกปฏิบัติเป็นหมวดหมู่ คือ
สุขวิปัสสโก สำหรับผู้ที่ต้องการเรียบ ๆ ไม่ต้องการฤทธิ์เดช ทำแบบสบาย ๆ จิตใจไม่ชอบจุกจิก
เตวิชโช สำหรับคนที่อยากรู้อยากเห็น ถ้ามีสิ่งปิดบังลี้ลับอยู่ ทนไม่ไหว ต้องหาให้พบ ค้นให้เห็น
ฉฬภิญโญ(อภิญญา ๖) สำหรับคนที่ต้องการมีฤทธิ์เดช
ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโต สำหรับคนที่ต้องการรอบรู้ทุกอย่าง มีทั้งฤทธิ์ด้วย มีทั้งความเป็นทิพย์ของจิตด้วย มีความฉลาดด้วย

-----------------------------------------------------------------------------
ดูเพิ่มเติมที่ http://buddhasattha.com/2010/02/24/%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B41-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

วิปัสสนาญาณ ๙ , ญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ)
วิปัสสนาญาณ ๙ (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง)
๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด)
๒.ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด)
๓.ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์)
๕.นิพพทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ)
๖.มุญฺจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น)
๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป)
๘.สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร, คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้)
๙.สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป)
.
ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ ๕ ตามแนวไตรลักษณ์) เข้ามาเป็นข้อที่ ๑ จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ ๑๐ และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ
ดู (๒๗๐) วิสุทธิ ๗; (๓๓๓) ญาณ ๑๖
.
ถ้าเพิ่มญาณ ข้อ ๑-๓ ของญาณ ๑๖ เข้าไปก่อนจะเข้าใจวิปัสสนาญาณ ๙ ชัดเจนขึ้น คือ
๑.นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม)
๒.ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี เป็นต้น)
๓.สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน)
.
ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด)
๑.นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม)
๒.ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี เป็นต้น)
๓.สัมมสนญาณ(ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน)
๔.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด)
๕.ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด)
๖.ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
๗.อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์)
๘.นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ )
๙.มุญฺจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น)
๑๐.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป)
๑๑.สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร, คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้)
๑๒.สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป)
๑๓.โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล)
๑๔.มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) ขั้น อตมฺมยตา ไม่กลับคืนอีก
๑๕.ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ)
๑๖.ปัจจเวกขณญาณ(ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่)
.
ในญาณ ๑๖ นี้ ๑๔ อย่าง (ข้อ ๑-๑๓ และ ๑๖) เป็น โลกียญาณ, ๒ อย่าง (ข้อ ๑๔ และ ๑๕) เป็นโลกุตตรญาณ ญาณ ๑๖ (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ ๑๖ นั่นเอง)ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา ในญาณ ๔-๑๒. ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙
.
วิปัสสนาภูมิ (ญาณ๑๖) หน้า ๑๔๒ - ๑๕๐ โดย พระครูเกษมธรรมทัต








มหาสติปัฏฐานสูตร

พิจารณาเห็นกายในกาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)



พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ [มีสติรู้ตัวเห็นกายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่เท่าทันปัจจุบันตามความเป็นจริง สักแต่ว่าเป็นที่รู้ เป็นที่อาศัยระลึก ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา (ด้วยกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดับไปเป็นธรรมดา) มีความเพียรกำจัดกิเลส คือ ราคะ(โลภะ) โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ ฯ ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ไม่เพลินยินดี ไม่ยินร้าย ไปกับอายตนะ ฯ จนทำให้เกิดเวทนา(ทุกข์ สุข ไม่ทุกข์ไม่สุข) เลยไปเป็นตัณหา(ความอยาก) ถึงอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) ต้นกำเนิดของทุกข์ “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ”]


ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น มีสติกำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า มีสติกำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก มีสติระงับกายสังขารหายใจเข้า มีสติระงับกายสังขารหายใจออก (มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สั้น ยาว ตรงจุดลมกระทบที่ปลายจมูก โดยจิตไม่ซัดส่าย ไม่เพ่ง ไม่เกร็ง ไม่ฝืน ไม่อึดอัด ไม่บังคับ โปร่ง เบา สบายๆ ทำลมหายใจให้สงบระงับ ละเอียด เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ความอยากบังคับ ทำให้ชินจนกระทั่งจิตไม่ต้องระวังเรื่องลมเข้าลมออก รู้ได้เป็นปกติ เป็นอัตโนมัติของมันเอง ลมหายใจเกื้อกูลสัมพันธ์กับกาย เป็นกายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่ "การรู้ลมหายใจทำได้ทุกเวาลา ทุกอิริยาบท ยิ่งรู้ลมหายใจตลอดเวลายิ่งดี" "จะใช้คำภาวนา พุท-โธ ให้รู้ว่าเรากำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวควบคู่ไปด้วยก็ได้ เมื่อเข้าสู่ฌานที่ 2 และฌานที่ 3 คำภาวนาจะหายไปเอง การรู้ลมหายใจเข้าออกยังมีอยู่แต่เบาลง เสียงที่ได้ยินก็รู้สึกว่าเบาลงด้วย สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์ตั้งมั่น อันจะทำไห้อารมณ์ที่ชั่วหรือนิวรณ์ที่จะมากั้นความดีไม่สามารถเข้ามาแทรกได้" "หากเกิดนิมิต เห็นแสง เห็นสี เห็นภาพ อย่าสนใจ ภาพจะปรากฎหรือไม่ก็ช่าง ไม่มีความสำคัญ อย่าสนใจ จงทิ้งภาพทิ้งอารมณ์นี้เสีย อย่าเอาจิตไปเกาะ เพราะจะทำให้จิตเคลื่อนออกจากสมาธิ ให้จิตทรงอยู่ในอารมณ์เดิมคือรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกไว้")


มีสติกำหนดรู้ตามลมหายใจ หายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น มีสติกำหนดรู้ตามตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า มีสติกำหนดรู้ตามตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก มีสติระงับกายสังขารหายใจเข้า มีสติระงับกายสังขารหายใจออก (ลมหายใจมีเพียง ๓ จังหวะ คือ เข้า ออก และ หยุด เมื่อผ่อนลมหายใจออกหมดจะเกิดความผ่อนคลายสบายใจ “เป็นช่วงลมหยุด” ร่างกายไม่ต้องการลมทันที พอร่างกายต้องการลมเข้าระลอกต่อไปจะเกิดสติรู้ขึ้นเอง ไม่รีบดึงลมหายใจเข้าก่อนความต้องการของร่างกายเพราะจะเป็นความอยากไม่ถือว่าเป็นสติรู้ สังเกตอาการหน้าท้องค่อยๆพองออกที่ละน้อยกระทั่งลมสุดปอด สติมักขาดตอนอยู่ที่ช่วงลมสั้น ฝึกจนไม่มีความอยากบังคับเอาแต่ลมยาว จะเอาลมเข้าเมื่อไร ยาวหรือสั้นให้กายเป็นผู้บอก ลมหายใจเป็นปัจจัยผลักดันธาตุลมที่เรียกว่า ลมในช่องท้อง ทำให้เกิดการพองการยุบการเปิดการปิดกระบังลม ลมหายใจก็เป็นเรื่องของลมหายใจ อาการพองอาการยุบก็เป็นเรื่องของลมในช่องท้อง แต่เป็นธาตุลมเหมือนกัน หากหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะรู้สึกว่าที่เคยหายใจด้วยจมูก จะเปลี่ยนเป็นรู้สึกว่าหายใจด้วยท้องแทน)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (เห็นว่าจิตเป็นผู้รู้ลม เฝ้ารู้อยู่เบื้องหลัง ขอบเขตกว้างขวางเกินลมหายใจเข้าออก รู้สึกถึงท่านั่งว่าหลังงอหรือหลังตรง รู้ทั่วถึงทั้งภายในทั้งภายนอกเท่าทันอาการของกาย)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายบ้าง (ลมเข้า ลมออก ไม่ใช่ลมเดิมและไม่ใช่ลมชุดเดิม, ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (รู้สึกว่าเรามีสองตัว ตัวหนึ่งเป็นรูปธรรม คือ ลมเข้าออก ปรากฏชัดอยู่ตรงหน้า ส่วนอีกตัวหนึ่งเป็นนามธรรม คือ จิตที่ตื่นตัวเต็มไปด้วยความรู้พร้อมรู้กระจ่างใสอยู่ทุกขณะ ระลึกรู้อย่างเป็นกลางและปล่อยวาง สักแต่ว่าระลึกรู้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย และไม่เกิดความทยานอยากหรือความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวเรา เป็นของเรา อันเป็นการยุติเหตุแห่งทุกข์) (“อานาปานบรรพ” พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก)



เมื่อ เดิน ยืน นั่ง นอน และมีอาการกายใด ก็รู้ชัดว่า(เดี๋ยวนี้) เดิน ยืน นั่ง นอน และอาการกายนั้น (การมีสติรู้ความไม่เที่ยงของลมหายใจ เราไม่อาจละอุปาทานในตัวตนได้ทั้งหมด เพราะลมหายใจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ถูกยึดมั่นว่าเป็นเรา เราจึงต้องฝึกรู้เห็นอิริยาบถของกาย ละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนต่อไปอีก)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (รู้สึกว่ามีหัว มีตัว มีแขนขา ปรากฏเป็นท่าทางหนึ่งๆ โดยปราศจากความเพ่งเล็งหรือเครียดเกร็ง เดินก็รู้สึกถึงฝ่าเท้ากระทบพื้นเต็มฝ่าเท้าไม่ขาด รู้ด้วยใจ ด้วยความรู้สึก ในผัสสะตามความเป็นจริง ไม่จินตนาการ นั่งหรือนอนหรือยืนก็รู้ว่า แช่นิ่งท่าเดียวหรือขยับเปลี่ยนท่า ยืดงอโยกคลอน สบายหรืออึดอัด ฟุ้งซ่านหรือสงบ คิดดีหรือคิดร้าย)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายบ้าง (อิริยาบถเดียวกันก็มีความเปลี่ยนแปลง ตั้งอยู่ท่าหนึ่งไม่นานก็ต้องเสื่อมไปเพื่อแปรไปสู่ท่าอื่น ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ “ อิริยาบถ นั่ง นอน ยืน ถูกรู้ควบคู่ไปกับลมหายใจด้วยได้ ส่วน อิริยาบถเดิน หากเอาลมหายใจไปผูกกับการเดินมันเดินไม่ได้เป็นการปฏิบัติผิด”)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (สักแต่ว่าระลึกรู้ เห็นแต่ความจริงที่ปรากฏ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา) “ เดินจงกรมเสร็จต้องนั่งต่อเลย ” (“อิริยาปถบรรพ” พิจารณาอิริยาบถของกาย)



ทำสัมปชัญญะ(ความเป็นผู้รู้พร้อม)ในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง ในการแลไปข้างหน้าแลเหลียวไปข้างซ้าย-ข้างขวา ในการดูอวัยวะเข้าเหยียดอวัยวะออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร(การสวมใส่เสื้อผ้า) ในการกิน ดื่ม เคี้ยว และ ลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และ ความเป็นผู้นิ่งอยู่ (ต้องระลึกรู้ละเอียดกว่าอิริยาบถซึ่งเป็นท่าทาง ต้องรู้ครอบคลุม ไปถึงความเคลื่อนไหวปลีกย่อยต่างๆ เพื่อรู้ขยายขอบเขต)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ทุกการเคลื่อนไหวเป็นที่ตั้งของการระลึกรู้ว่า ร่างกายขยับ อย่าไปเจาะจงอวัยวะ เพราะจะเป็นการเพ่งยึดกายว่าตัวเราแขนขาเราขยับ จะมองลึกลงไปถึงความเป็นธาตุก็ได้)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (เป็นธรรมดาที่ร่างกายจะต้องขยับเคลื่อนไหวไม่คงที่ ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (สักแต่ว่าระลึกรู้ เห็นแต่ความจริงที่ปรากฏ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา) (“สัมปชัญญบรรพ” พิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว)



พิจารณาว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ยื่อในกระดูก หัวใจ ตับ พังผืด ไต ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร(ปัสสาวะ) (รู้ว่าร่างกายที่ประกอบด้วยอวัยวะและส่วนต่างๆ นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะ ควรรู้เท่าทัน)


พิจารณากายนี้เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดโดยรอบเต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังฯ ปัสสาวะและอุจจาระเป็นของสกปรก (รู้ว่าส่วนต่างๆที่ประกอบเป็นกายนี้เต็มไปของสกปรกไม่น่ายินดี น่าเบื่อหน่าย แต่ไม่ถึงยินร้าย)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (จะพิจารณาปลงจิตให้เห็นเป็นอสุภะต่อเนื่องเพื่อละกำหนัด หรือจะพิจารณาเห็นด้วยใจสูงขึ้นไปถึงความเป็นธาตุไม่ใช่ตัวตนก็ได้)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (ผม ขน เล็บ ฟัน หนังฯ ย่อมหลุดร่วงเสื่อมไปเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (“ปฏิกูลมนสิการบรรพ” พิจารณาความน่าเกลียดของร่าง กาย)



พิจารณากายอันตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ มีธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ [เอาแค่ ธาตุลม ประเภทที่ ๔ คือ ลมในช่องท้องที่เราจับกายพองกายยุบ คือ อาการพอง อาการยุบ อาการที่มันนูนขึ้นแฟบลง เป็นอาการของธาตุลมที่มันปรากฏ มองให้เห็นความเป็นธาตุ มองโดยความเป็นเหตุปัจจัยว่าลมหายใจเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพองการยุบการเปิดการปิดกระบังลม เป็นการมีสติรู้ต่างหากจากลมหายใจ จากที่รู้สึกว่าเคยหายใจด้วยจมูก จะมีความรู้สึกว่าหายใจด้วยท้อง เมื่อเราเท่าทันว่า นี่คือพองนี่คือยุบ ความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจเข้าลมหายใจออก กับอาการพองอาการยุบ จะหลอมรวมเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกันเกิดขึ้นแองโดยธรรมชาติ ลมหายใจเข้าจมูกเป็นแค่ทางผ่านเบื้องต้น ทรวงอกเป็นท่าม กลาง ท้องเป็นสุดท้าย ส่วนลมหายหายใจออกท้องเป็นเบื้องต้น ทรวงอกเป็นท่ามกลาง จมูกเป็นสุดท้าย จุดกระทบที่สำคัญมี ๒ จุด คือ กระทบที่ปลายจมูกและกระทบที่ช่องท้อง(กึ่งกลางกายบริเวณเหนือสะดือ ๒ นิ้ว)]


ธาตุดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ส่วนที่แข้นแข็ง (ย่อมสลายเป็นธาตุดินดังเดิม)

ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหล (ย่อมสลายเป็นธาตุน้ำดังเดิม)

ธาตุลม ได้แก่ ลมพัดเบื้องบน ลมพัดเบื้องล่าง ลมพัดในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ส่วนที่มีลักษณะพัดไหว (ย่อมสลายเป็นธาตุลมดังเดิม)

ธาตุไฟ ได้แก่ ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน ไฟที่ทำให้อาหารย่อยสลาย ส่วนที่มีลักษณะอบอุ่น (ย่อมสลายเป็นธาตุไฟดังเดิม)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (เห็นกายโดยความเป็นธาตุด้วยใจในอิริยาบถ และการเคลื่อนไหว)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (ธาตุ ๔ ที่รวมกันเป็นกาย ย่อมแตกสลายไปเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมธรรมชาติ ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ )


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย ( ระลึกรู้ว่าธาตุ ๔ นั่งอยู่ สักแต่ว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่กาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน) (“ธาตุบรรพ” พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ )


พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้าตายแล้ว ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน อันพองขึ้น สีเขียวน่า เกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (นี้เป็น ๑ ใน ๙ ลักษณะ ของการพิจารณาเห็นความจริงขั้นสูงสุดเกี่ยวกับกายโดยเห็นกายเป็นของสูญในที่สุด เช่นเดียวกับฟองสบู่ย่อมแตกในที่สุด )


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (กายนี้เมื่อขาดลมหายใจแล้ว ย่อมต้องเป็นศพน่าเกลียดพุพองมีน้ำเหลืองไหลเป็นธรรมดา ฝึกมีสติอยู่กับกายจนจิตเห็นทะลุทะลวงเข้าไปเห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ผิวหนัง หากมีโอกาสควรดูศพสภาพต่างๆ หรือเห็นภาพศพสภาพต่างๆ และดูให้รู้ละเอียดลึกถึงกระบวนการเน่าเปื่อย ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นมากพอยังต้องเค้นนึกอยู่ก็จะเป็นเพียงจินตนาการ ไม่จัดเป็นความหยั่งรู้ตามลำดับ)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เป็นศพย่อมเข้าสู่กระบวนการเน่าเปื่อยเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๑ ใน ๙ ลักษณะ “ นวสีวถิกาบรรพ ”)


พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า อันฝูงกาจิกกิน ฝูงแร้งจิกกิน ฝูงนกตะกรุมจิกกิน หมู่สุนัขกัดกิน หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หมู่สัตว์เล็กๆ ต่างๆ กัดกิน น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรม ดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (ศพนี้จะต้องถูกสัตว์กัดแทะกินเป็นธรรมดา มีแมลง วันตามกลิ่นมาตอมและวางไข่ไว้ในส่วนที่ชื้น เช่น รูจมูก ลูกนัยน์ตา ช่องปาก หรือตามบาดแผล หลังจาก นั้น ๑๒ ชั่วโมง จะเป็นตัวหนอนฟักออกจากไข่เป็นตัวยั้วเยี้ยกัดกินศพ แล้วแปรสภาพเป็นฝูงแมลงวันตอมและวางไข่เป็นหนอนกัดกินศพอีก)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ศพนี้แม้เข้าสู่กระบวนการเน่าเปื่อยแล้ว ยังถูกสัตว์กัดแทะ ฉีกกิน อวัยวะทั้งภายในทั้งภายนอกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เป็นศพย่อมเข้าสู่กระบวนการเน่าเปื่อยเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๒ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือดอันเส้นเอ็นรัดรึง อยู่ น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (ศพนี้จะเหลือเพียงโครงกระดูกผูกด้วยเส้นเอ็นฉาบเลือดเนื้อเป็นธรรมดา เมื่อศพถูกกัดแทะเนื้อหนังขาดแหว่ง ก็ย่อมเผยให้เห็นแก่นของกายคือโครงกระดูก เบื้องแรกจะยังมีเลือดและเนื้อหนังติดอยู่ มีเส้นเอ็นร้อยรัดยึดโครงกระดูกให้รวมอยู่ด้วยกัน แล้วจะเน่าเปื่อยผุพังต่อไปในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไป)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เป็นศพย่อมเน่าเปื่อยต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๓ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็นร่างกระดูกเปื้อนด้วยเลือด แต่ปราศจากเนื้อ แล้วยังมีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (ศพนี้จะเหลือเพียงโครงกระดูกผูกด้วยเส้นเอ็นฉาบเลือดเป็นธรรมดา แล้วจะเน่าเปื่อยผุพังต่อไปในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไปอีก)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เป็นศพย่อมเน่าเปื่อยต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๔ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้วยังมีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (ศพนี้จะเหลือเพียงโครงกระดูกผูกด้วยเส้นเอ็นเป็นธรรมดา แล้วจะเน่าเปื่อยผุพังต่อไปในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไปอีก)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เป็นศพย่อมเน่าเปื่อยต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๕ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็น(ท่อน)กระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องรัดรึง แล้ว กระจายไปแล้วในทิศน้อยและทิศใหญ่ คือ กระดูกมือ กระดูกเท้า กระดูกแข้ง กระดูกขา กระดูกเอว กระดูกหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก กระดูกแขน กระดูกไหล่ กระดูกคอ กระดูกคาง กระดูกฟัน กระโหลกศีรษะ น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (โครงกระดูกนี้จะกระจัดกระจายเป็นธรรมดา เมื่อเส้นเอ็นเน่าเปื่อยหมดสภาพ กระดูกที่ขาดเส้นเอ็น ร้อยรัดย่อมกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง แล้วจะผุพังต่อไปในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไปอีก)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เหลือแต่กระดูกจะต้องผูพังต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๖ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็น(ท่อน)กระดูก มีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (โครงกระดูกนี้ จะมีสีขาวดุจสีสังข์เป็นธรรมดา เมื่อไม่เหลือแม้เส้นเอ็น ก็ย่อมปรากฏเพียงสีขาวโพลนของกระดูกชัด ไม่ ต่างจากเปลือกหอยสังข์ แล้วจะผุพังต่อไปในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไปอีก)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เหลือแต่กระดูกจะต้องผุพังต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๗ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็น(ท่อน)กระดูก เป็นกองเรียงรายแล้ว มีภาย นอก(เกิน)ปีหนึ่งไปแล้ว น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (โครงกระดูกนี้จะกองเรียงรายมีอายุได้เกินปีเป็นธรรมดา โครงกระดูกที่กองเรียงรายหากไม่ถูกดินโคลนทับถมจะคงสภาพเป็นกระดูกอยู่เกินปีได้ไม่นาน ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะผุพัง แล้วผุพังไปในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไปอีก)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เหลือแต่กระดูกจะต้องผูพังต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๘ ใน ๙ ลักษณะ)



พิจารณาเห็นสรีระ(ซากศพ)ที่ทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็น(ท่อน)กระดูก ผุ ละเอียด น้อมเข้ามาสู่กายนี้ ว่าถึงร่างกายนี้ก็ธรรมดาคงเป็นอย่างนี้ไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ (โครงกระดูกนี้จะผุพังป่นเป็นผงแหลกละเอียดเป็นธรรมดา โครงกระดูกจะผุพังละเอียดเป็นผงเป็นกองและถูกลมพัดปลิวไปคนละทิศละทางเป็นธาตุคืนสู่ธรรมชาติในที่สุด)


พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณากายทั้งภายในทั้งภายนอกให้เห็นกายลึกลงไปอีก)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง (กายที่เหลือแต่กระดูกจะต้องผูพังต่อไปอีกเป็นธรรมดาไม่สามารถบังคับไม่ได้)


มีสติว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (เห็นจริงไม่จริง ไม่สำคัญเท่าเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวชฯ) (พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ ลักษณะที่ ๙ ใน ๙ ลักษณะ)



นี้เป็นอารมณ์วิปัสสนากรรมฐานที่เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา(การเจริญสมาธิจิตตามแบบของพระพุทธเจ้าแบ่งออกเป็นสองสาย คือ กรรมฐาน ๔๐ สายหนึ่ง และมหาสติปัฏฐาน อีกสายหนึ่ง) การพิจารณากายแต่ละแบบเป็นไปเพื่อ ละ คลาย หน่าย ตัดความกำหนัด ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา ตามลำดับขั้น ตามความเป็นไปของร่างกาย การพิจารณากายนี้ จะพิจารณากายในกายทางหนึ่ง หรือหลายทางก็ได้ เช่น สุภัททสามเณร ท่านพิจารณาแต่คำว่า อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก ถือเอาอัฏฐิกสัญญาอย่างเดียวเป็นอารมณ์ ท่านก็ผ่องใสรุ่งเรืองเห็นแจ้งในร่างกายของตน จนได้บรรลุธรรมวิเศษ


สรุป การพิจารณากาย แบ่งออกเป็น ๖ แบบ มีหลักปฏิบัติ คือ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาภายใน พิจารณาภายนอก พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เห็นเป็นธรรมดาในความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป สักแต่ว่าเป็นที่รู้ เป็นที่อาศัยระลึก ไม่ติดไม่ยึดถืออะไรเป็นเราเป็นของเรา(ดับราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ) “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ” ต้องพิจารณาลมหายใจเข้าออกให้จิตทรงสมาธิดีเสียก่อน เพื่อทรงสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ก่อนพิจารณากรรมฐานกองอื่นตามลำดับหรือตามที่ปรารถนาตามจริตตน เพื่อให้แจ้งชัดกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่งเป็นหลักยึดถือเฉพาะตน เพื่อให้จิตตั้งมั่นพอเหมาะ



พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)


พิจารณาเห็นเวทนา(ความเสวยอารมณ์)ในเวทนาเนืองๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญ ญะมีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ [มีสติรู้ตัวเห็นเวทนาส่วนย่อยในเวทนาส่วนใหญ่ เท่าทันปัจจุบันตามความเป็นจริง สักแต่ว่าเป็นที่รู้ เป็นที่อาศัยระลึก ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา (ด้วยเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดับไปเป็นธรรมดา) มีความเพียรกำจัดกิเลส คือ ราคะ(โลภะ) โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ ฯ ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ไม่เพลินยินดี ไม่ยินร้าย ไปกับอายตนะฯ จนทำให้เกิดเวทนา(ทุกข์ สุข ไม่ทุกข์ไม่สุข) เลยไปเป็นตัณหา(ความอยาก) ถึงอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) ต้นกำเนิดของทุกข์ “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ”]


เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา (ไม่ทุกข์ไม่สุขหรือเฉย)ก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยอทุกขมสุข เวทนา(จากการพิจารณาจนเห็นกายโดยความเป็นของสูญ จะพบความจริงว่าจิตผละจากกายมาหาความรู้ สึกภายในอยู่เรื่อยๆ เพราะขาดฐานที่ตั้ง จึงมาตั้งอยู่กับความรู้สึกแทนกาย ต้องฝึกรู้ต่อไปจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งว่าเวทนาไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่สามารถยึดรั้งหรือผลักออก หากไม่รู้เท่าทัน)


เมื่อเสวยสุขเวทนามีอามิส(คือเจือกามคุณ)ก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยสุขเวทนามีอามิส เมื่อเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส(คือไม่เจือกามคุณ)ก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส (สุขเวทนามีอามิสเป็นสุขที่เกิดจากความอยากใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ นั้นๆ เป็นบทฝึกให้รู้แต่ไม่ให้หลงติดจมปักอยู่ในกามคุณ ส่วนสุขแบบไม่มีอามิสเป็นสุขที่เกิดจากการเจริญสติ เมื่อจิตเสพสุขเหล่านี้ย่อมเกิดการปล่อยวางโลก ไม่ติดใจวัตถุภายนอก แต่ไปติดใจรสความว่างและความสว่างอันเยือกเย็น โดยขาดปัญญารู้ว่าจะต้องปล่อยวางด้วยอุเบกขา เป็นความอยากอย่างหนึ่ง หรืออยากสุข)


เมื่อเสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส เมื่อเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส (ความทุกข์เป็นความอยากอย่างหนึ่ง คือ ความอยากไม่ทุกข์ มีโทษตรงที่กดทำให้สติพร่ามัว แต่ก็มีประโยชน์คืออยากผลักให้พ้นไปเสีย หากมีสติรู้ชัด รู้เท่าทันย่อมเห็นการเกิดดับตามความเป็นจริง ทุกข์แบบไม่มีอามิสเป็นผลข้างเคียงจากการเจริญสติ เช่น ทุกข์เพราะไม่สามารถตั้งจิตเป็นสมาธิได้ตามความปรารถนาจึงอยากไปให้พ้นสภาวะนี้ ซึ่งเกิดจากแรงดันของกิเลส ไม่ใช่ใคร่พ้นด้วยปัญญารู้ชัดละนิวรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องกั้นความสงบหรือสมาธิ)


เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส เมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่า(เดี่ยวนี้)เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส (ความไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆชินๆ ไม่สบายแต่ก็ไม่อึดอัดแม้ไร้ความยินดียินร้าย เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดซึ่งอาจจะทำให้โน้มเอียงไปทางเกียจคร้าน เป็นอยากอย่างสลัวๆ หรือสับสนไม่รู้ความรู้สึกว่าอยากดึงเข้าหรืออยากผลักออกไป หากมีสติรู้เท่าทันก็จะเห็นความแปรเปลี่ยน ความเสื่อม และการเกิดดับของเวทนานี้ได้ อันจะเป็นผลให้สติเจริญยิ่งขึ้น พ้นจากความเฉยเนือยมาสู่ความกระตือรือร้น)


พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณาเวทนาที่เกิดภายในจิตและจากผัสสะ)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง ความเสื่อมไปในเวทนาบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในเวทนาบ้าง (เห็นว่าสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เที่ยง เสื่อมไป และดับไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะยึดรั้งหรือผลักออกไปหรือไม่ก็ตาม ย่อมดับไปเอง)


มีสติว่าเวทนามีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง) สรุปการพิจารณาเวทนา(มีหลักปฏิบัติเหมือนการพิจารณากาย) มี ๙ อย่าง คือ ๑. สุข ๒. ทุกข์ ๓. ไม่ทุกข์ไม่สุข ๔. สุขประกอบด้วยอามิส(เหยื่อล่อมีรูป เสียง เป็นต้น) ๕. สุขไม่ประกอบด้วยอามิส ๖. ทุกข์ประกอบด้วยอามิส ๗. ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส ๘. ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส ๙. ไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ประกอบด้วยอามิส “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”



พิจารณาเห็นจิตในจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)


พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะมีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ [มีสติรู้ตัวเห็นจิตส่วนย่อยในจิตส่วนใหญ่เท่าทันปัจจุบันตามความเป็นจริง สักแต่ว่าเป็นที่รู้ เป็นที่อาศัยระลึก ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา (ด้วยจิตเกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมดา) มีความเพียรกำจัดกิเลส คือ ราคะ(โลภะ) โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ ฯ ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ไม่เพลินยินดี ไม่ยินร้าย ไปกับอายตนะฯ จนทำให้เกิดเวทนา(ทุกข์ สุข ไม่ทุกข์ไม่สุข) เลยไปเป็นตัณหา(ความอยาก) ถึงอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) ต้นกำเนิดของทุกข์ “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ”] “ ฝึกรู้จิตไล่จากหยาบไปหาละเอียด เมื่อกิเลสหยาบหายไป จิตก็มีคุณภาพสูงขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ”


เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีราคะ (เกิดจากการเห็นรูปลักษณ์ ทางเพศอันต้องตายวนใจ แล้วรู้สึกถูกดึงดูดให้จดจ่อ อีกทางหนึ่งคือการผุดความคิดทางเพศขึ้นมา แล้ว ยินดีตรึกนึกต่อ กระทั่งกระโจนเข้าไปว่ายในห้วงจินตนาการทางกามารมณ์ “จิตดวงหนึ่งมีราคะ เป็นอกุศลจิต จิตดวงที่เห็นจิตดวงก่อนปราศจากราคะเป็นจิตผู้รู้ จิตดวงที่เห็นจิตผู้รู้เป็นจิตผู้รู้แจ้ง ” จิตจะเห็นจิตดวงก่อนได้ต่อเมื่อมีสติระลึกรู้เท่าทันเท่านั้น)


เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโทสะ (การรู้สึกตัวของคนธรรม ดาว่ามีโทสะอยู่ในจิตนั้นเป็นไปด้วยอาการควบคุมตนเองมิให้หลุดคำพูดหรือกระทำเกินเลยออกไป หาใช่ความรู้สึกตัวแบบนักเจริญสติที่มีความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ว่ากายนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน จึงไม่ถลำไปอยู่กับความร้อนของโทสะ รู้ว่าโทสะเป็นส่วนเกิน เป็นของแปลกปลอม เป็นของอื่นนอกจากจิต ความรู้เท่าทันย่อมทำให้สติเกิดขึ้นและกลับมารู้อยู่กับความเยือกเย็นอันมาจากจิตที่ผ่องแผ้วจากโทสะ แต่หากโทสะกำเริบลุกลามไปเป็นความร้อนทางกายและวาจาแล้ว จะไม่เห็นโทสะหายไปในทันที ฉะนั้นจึงให้เฝ้ารู้เฝ้า ดูจะเห็นว่าโทสะค่อยระงับลงไปจนเกิดความสงบ)


เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะ (ภาวะที่ทำให้จิตไม่รู้ความจริง ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อย่างหยาบ คือ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อย่างละเอียด คือ ไม่รู้ว่ากายนี้ เป็นทุกข์ ใจนี้เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนอันน่ายึดมั่นถือมั่น ไม่มีบุคคล ไม่มีหญิงชาย ไม่มีเราเขา มีแต่จิตที่ถูกกระตุ้นให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ เจริญสติด้วยการรู้เท่าทันจนจิตเห็นจิตว่าเป็นเพียงผู้รู้ ผู้เป็นอิสระ ผู้ไม่หลงยึดนิมิตรูปนามใดๆ โมหะจะสลายหายไปเอง)


เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน (อาการซึมทื่อ ห่อเหี่ยวไม่ชื่นบาน หยุดอยู่กับที่ เฉื่อยชา เหม่อลอย ขี้เกียจเคลื่อนไหว เป็นความหดหู่อย่างอ่อน ส่วนความซึมเศร้าหมดอา ลัยตายอยากสิ้นหวังในชีวิตเป็นความหดหู่ขนาดหนัก อาการที่จิตไม่สงบ มีความพล่านไป ซัดส่ายไป คิดวกวนไม่เป็นเรื่อง เป็นความฟุ้งซ่านอย่างอ่อน ส่วนความตื่นเต้นหรือเครียดจัดเป็นความฟุ้งซ่านขนาดหนัก ภาวะหดหู่กับภาวะฟุ้งซ่านเป็นภาวะที่ลากจูงกันวนไปเวียนมาเป็นสภาพจิตที่เอามาใช้การยาก ผู้ที่กำลังสติยังอ่อนการมีสติรู้เท่าทันเพื่อให้หลุดมานั้นคงยาก ถ้าหดหู่หนักต้องแก้ด้วยการเคลื่อนไหวให้เกิดความกระตือรื้อร้นต่างๆ ถ้าฟุ้งซ่านจัดต้องแก้ด้วยการสร้างปัจจัยของความสงบ หาบรรยากาศวิเวก ลาก ลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจช้าๆ และหยุดหายใจเท่าที่ร่างกายต้องการระงับลม)


เมื่อจิตเป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหรคต จิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหรคต (คือ มหัคคตะจิต คือ ความตั้งมั่นเป็นหนึ่งของจิต มีความยิ่งใหญ่ ขั้นต้นอย่างน้อยต้องมีปีติสุขเอิบอาบซาบ ซ่าน เยือกเย็นวิเวก หมายเอาที่จิตเป็นฌาน หรืออัปปมัญญาพรหมวิหาร คือความระลึกนึกคิดปรุงใจแผ่ออกไป เป็นเมตตา เป็นกรุณา เป็นมุทิตา เป็นอุเบกขา)


เมื่อจิตเป็นสอุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นสอุตตระ (คือ กามาวจรจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าไม่ถึงอุปจารสมาธิ การเจริญสติย่อมมีจิตขึ้นและจิตตก เมื่อเคยจิตดีแล้วเปลี่ยนเป็นเสีย ก็รู้ว่าภาวะจิตปัจจุบันเป็นของด้อย ยังมีจิตที่เหนือกว่า)


เมื่อจิตเป็นอนุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นอนุตตระ (คือ กามาวจรจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าหมายเอาอุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิเฉียดฌาน คือ ใกล้จะถึงปฐมฌาน)


เมื่อจิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น (หมายเอาอัปปนาสมาธิ คือสมาธิแน่วแน่ จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน ถ้าเจริญสติจนชำนาญ รู้ลักษณะจิตตนได้ราวกับตาเห็นรูป ก็จะเริ่มมองจิตคนอื่นออก เห็นนิมิตลักษณะจิตของเขาเหมือนของเราเอง เป็นโอกาสให้เทียบเคียงได้ว่า จิตที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่า สะอาดบริสุทธิ์กว่า เป็นอย่างไร รู้ว่าจิตตั้งมั่นเป็นอย่างไร จิตผ่องใสเป็นอย่างไร จิตเป็นอิสระจากอุปาทานหยาบๆ เป็นอย่างไร จิตเป็นอิสระจากอุปาทานละเอียดๆ เป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นความเสื่อม ความเจริญ ไม่ยึดมั่นแต่จิตดีๆ ว่าน่ามีน่าเอา)


เมื่อจิตวิมุตติ ก็รู้ชัดว่า จิตวิมุตติ จิตยังไม่วิมุตติ ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่วิมุตติ (คือ จิตหลุดพ้นด้วย ตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ คือ พ้นจากกิเลส พ้นจากอุปาทาน พ้นจากความไม่รู้ เห็นความไม่เที่ยงของจิตจนไม่เหลือที่ตั้งให้อุปาทานอีกต่อไป จะเห็นก็เพียงสักแต่ว่าเป็นความรู้สึกหนึ่งเท่านั้น เป็นสภาวธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นรูปนาม สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วดับลง)


พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (จิตเป็นผู้รู้อะไรๆทั้งปวง จึงเป็นที่ตั้งสำคัญของความรู้สึกในตัวตน ตราบใด ที่สำคัญว่าจิตคือตน และไม่เห็นว่าจิตปรวนแปรอยู่เสมอ ความสำคัญผิดว่าจิตเป็นตัวเราจะยังคงฝังราก ลึก อย่างไม่อาจถอดถอน แม้จะสำเร็จสมาธิขั้นสูงและเกิดญาณรู้เห็นมากมายก็ตาม “ การรู้กาย รู้สุขและทุกข์จึงยังไม่พอ ต้องรู้ต่อให้ครอบคลุมถึงจิตด้วย เพราะจิตเท่านั้นที่เปื้อนกิเลสได้ กิเลสอยู่ตรงไหนจิตก็อยู่ตรงนั้น กิเลสหายไปที่ตรงไหนจิตก็ว่างจากกิเลสตรงนั้นด้วย ชั่วขณะที่รู้สึกตามจริงว่าจิตมีกิเลส ก็คือ การเห็นอกุศลดวงหนึ่ง และชั่วขณะที่รู้สึกตามจริงว่าจิตปลอดจากกิเลส ก็คือการเห็นกุศลจิตอีกดวงหนึ่ง ด้วยการตามรู้ตามดู เราจะพบธรรมชาติของจิตนั้นว่า ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปตลอดวันตลอดคืน”)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในจิตบ้าง ความเสื่อมไปในจิตบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในจิตบ้าง (เป็นธรรมดาของจิตที่ย่อมเกิดขึ้น และต้องดับไป ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้)


มีสติว่าจิตมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง)


สรุปการพิจารณาจิต(มีหลักปฏิบัติเหมือนการพิจารณากาย) มี ๑๖ อย่าง คือ ๑. จิตมีราคะ ๒. จิตปราศจากราคะ ๓. จิตมีโทสะ ๔. จิตปราศจากโทสะ ๕. จิตมีโมหะ ๖. จิตปราศจากโมหะ ๗. จิตหดหู่ ๘. จิตฟุ้งซ่าน ๙. จิตใหญ่ (จิตในฌาน) ๑๐. จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน) ๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๓. จิตตั้งมั่น ๑๔. จิตไม่ตั้งมั่น ๑๕. จิตหลุดพ้น ๑๖. จิตไม่หลุดพ้น “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”



พิจารณาเห็นธรรมในธรรม (ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)


พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะมีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ [มีสติรู้ตัวเห็นธรรมส่วนย่อยในธรรมส่วนใหญ่เท่าทันปัจจุบันตามความเป็นจริง สักแต่ว่าเป็นที่รู้ เป็นที่อาศัยระลึก ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา (ด้วยธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดับไปเป็นธรรมดา)มีความเพียรกำจัดกิเลส คือ ราคะ(โลภะ) โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ ฯ ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ไม่เพลินยินดี ไม่ยินร้าย ไปกับอายตนะฯ จนทำให้เกิดเวทนา(ทุกข์ สุข ไม่ทุกข์ไม่สุข) เลยไปเป็นตัณหา(ความอยาก) ถึงอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) ต้นกำเนิดของทุกข์ “ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ”]


พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕ (อุปสรรคสำคัญของสมาธิและฌาน)

เมื่อกามฉันท์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า กามฉันท์(ความพอใจในกามารมณ์)มีอยู่ภายในจิต (ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวลตราบใดที่ยังติดใจในกาม ตราบนั้นย่อมมิใช่วิสัยที่จะรู้สึกว่ากายไม่น่ายินดี กายไม่เที่ยง กายไม่ใช่เรา ถ้าเริ่มตรึกนึกถึงกามแล้วรู้ว่าตรึกนึกถึงกาม สติที่ขาดไปก็จะคืนกลับมา ไม่ตรึกนึกถึงกามต่อ และจะเห็นว่าความติดใจในกามหายไป เหลือแต่ความว่าง ความแห้งสะอาดจากกาม)


เมื่อกามฉันท์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า กามฉันท์ไม่มีภายในจิต


เมื่อความที่กามฉันท์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


เมื่อความละกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


เมื่อความที่กามฉันท์อันตนละแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


เมื่อพยาบาทมีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า พยาบาท(ความคิดแช่งสัตว์ให้พินาศ)มีอยู่ภายในจิต (ตราบใด ที่ยังผูกใจเจ็บ ตราบนั้นย่อมมิใช่วิสัยที่จะรู้ตามจริงว่า ความทุกข์เป็นสิ่งน่าอึดอัด ความทุกข์ไม่เที่ยง ความทุกข์ไม่ใช่เรา ถ้าเริ่มผูกใจเจ็บแล้วรู้ว่าผูกใจเจ็บ สติที่ขาดไปก็จะคืนกลับมา ไม่ตรึกนึกถึงเรื่องน่าขัดเคืองต่อ และจะเห็นว่าอาการผูกใจเจ็บหายไป เหลือแต่ความว่าง ความโปร่งสบายหายหนัก หายเจ็บใจ คู่ปรับของความผูกใจเจ็บ นั่นคือการแผ่เมตตา ใช้ยาชื่อว่า“อภัย” ซึ่งต้องปรุงด้วยใจ วูบหนึ่งของการคิดอภัย จิตจะคลายออกจากอาการยึด เปลี่ยนจากแน่นหนักคับแคบ เป็นโปร่งเบา)

เมื่อพยาบาทไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีภายในจิต

เมื่อความที่พยาบาทอันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความที่พยายาทอันตนละแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


เมื่อถีนมิทธะมีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ถีนมิทธะ(ความคร้านกาย ง่วงเหงา ซึม)มีอยู่ภายในจิต (ความง่วงเหงาซึมเซาในที่นี้เจืออยู่ด้วยความขี้เกียจ ยังไม่ถึงเวลาพักก็อยากพัก ยังไม่ถึงเวลานอนก็อยากนอน ถ้าเริ่มซึมเซาแล้วรู้ว่าซึมเซา สติที่ขาดไปก็จะคืนกลับมา ไม่ซึมเซาต่อ และจะเห็นว่าความซึมเซาหายไปกลายเป็นสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ยิ่งสั่งสมความเคยชินที่จะรู้มากขึ้นเท่าไร ก็จะกลับสดชื่นได้มากและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น คู่ปรับของความซึมเซา นั่นคือคิดเร่งความเพียร อาจจะเดินจงกรมเร็วๆ เพื่อดึงจิตออกมาจากความแช่จมหมกตัวนิ่ง)

เมื่อถีนมิทธะไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ถีนมิทธะไม่มีภายในจิต

เมื่อความที่ถีนมิทธะอันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความที่ถีนมิทธะอันตนละแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะมีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ)มีอยู่ภายในจิต (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเกิดจากความไม่สงบของจิต จิตดิ้นรนซัดส่าย ถ้าเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว รู้ว่าฟุ้ง ซ่าน สติที่ขาดไปก็จะคืนกลับมา ไม่ฟุ้งซ่านต่อ และจะเห็นว่าความฟุ้งซ่านหายไป กลายเป็นสงบวิเวก)

เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ภายในจิต

เมื่อความที่อุทธัจจกุกกุจจะอันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความที่อุทธัจจกุกกุจจะอันตนละแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


เมื่อวิจิกิจฉามีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า วิจิกิจฉา(ความเคลือบแคลงสงสัย)มีอยู่ภายในจิต (ความลัง เลสงสัยในที่นี้มุ่งเอาแง่ของการไม่ปลงใจในการเจริญสติ และเหตุที่สงสัยก็เพราะไม่ใส่ใจโดยแยบคาย เช่น คาใจในวิธีปฏิบัติและผลการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าที่ตัวเองทำอยู่ถูกหรือผิด ได้ผลอย่างหนึ่งแล้วจะต้องทำเช่นใดต่อไป ถ้าเริ่มสงสัยแล้วรู้ว่าสงสัย สติที่ขาดไปก็จะคืนกลับมา ไม่สงสัยต่อ และจะเห็นว่าความสงสัยหายไป กลายเป็นความเชื่อมั่น)

เมื่อวิจิกิจฉาไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีภายในจิต

เมื่อความที่วิจิกิจฉาอันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความที่วิจิกิจฉาอันตนละแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย



พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (นิวรณ์ย่อมเกิดขึ้นในจิตเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง (เป็นธรรมดานิวรณ์ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และต้องดับไป ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้)


มีสติว่าธรรมมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (“ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”)



พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อุปาทานขันธ์ ๕ (เป็นทุกข์)


รูป(สิ่งที่ทรุดโทรม) ความเกิดขึ้นของรูป ความดับไปของรูป (รูปในที่นี้ หมายถึง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม อันประชุมขึ้นเป็นกาย ลมหายใจจัดเป็นรูป เพราะเป็นธาตุลม และแม้อิริยาบถต่างๆก็จัดเป็นรูป เพราะอาศัยธาตุ ๔ ในการเกิดอิริยาบถ เมื่อหายใจก็เกิดมโนภาพบุคคลกำลังหายใจ เมื่อเคลื่อนไหวก็เกิดมโนภาพบุคคลกำลังเคลื่อนไหว เมื่อใดที่รู้ชัดว่ากายนี้เคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่งด้วยความเข้าใจว่าเพราะธาตุ ๔ ประชุมกันเคลื่อนไหว มโนภาพบุคคลกำลังเคลื่อนไหวจะหายไป เห็นแต่ว่ารูปมันเคลื่อนไหว ไม่มีตัวเราเคลื่อนไหว ท่าทางหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องเปลี่ยนเป็นท่าทางอื่นเป็นธรรมดา นี่ก็เรียกว่าเป็นการรู้ความเกิดดับแห่งรูป “รูปขันธ์”)


เวทนา(ความเสวยอารมณ์) ความเกิดขึ้นของเวทนา ความดับไปของเวทนา (เวทนาคือความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย เมื่อเป็นสุขจะเกิดมโนภาพบุคคลผู้ยิ้มแย้มจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย แต่เมื่อเป็นทุกข์จะเกิดมโนภาพบุคคลผู้ร้อนรุ่มกลุ้มใจ ถ้ากายระงับไม่กวัดแกว่งและไม่กำเกร็ง ก็จะเกิดความสุขทางกาย ถ้าใจสงบรู้และเปิดกว้าง ก็จะเกิดความสุขทางใจ แต่ถ้ากายกระสับกระส่ายหรือกำเกร็ง ก็จะเกิดความทุกข์ทางกาย ถ้าใจซัดส่ายหรือปิดแคบ ก็จะเกิดความทุกข์ทางใจ ไม่ว่าสุขทุกข์จะกินเวลายาวนานเพียง ใด ก็ต้องถึงกาลสิ้นสุดลงเป็นธรรมดา ไม่ได้มีบุคคลตัวตนเราเขา “เวทนาขันธ์”)


สัญญา(ความจำ)ความเกิดขึ้นของสัญญา ความดับไปของสัญญา (สัญญา คือความจำได้ หรือความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร สัญญาเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่นนั่งอยู่แล้วความคิดต่างๆ ผุดขึ้นมาเองชั่วขณะ ที่จำได้หมายรู้ว่าเป็นเรื่องใด เกี่ยวข้องกับใคร ก็เข้าข่ายเป็นสัญญาเช่นกัน หรือแม้ไม่คิดถึงเรื่องใด แต่สำคัญว่ามีตัวเรานั่งอยู่ เท่านี้ก็นับเป็น ‘อัตตสัญญา’ แล้ว “สัญญาขันธ์”)


สังขาร(ความคิดปรุง) ความเกิดขึ้นของสังขาร ความดับไปของสังขาร (สังขารคือตัวการปรุงแต่งใจให้เป็นกุศลหรืออกุศล คิดดีหรือคิดชั่ว เข้าข้างสว่างหรือข้างมืด สังขารไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงปฏิกิริยาทางใจที่โต้ตอบกับสิ่งกระทบ เห็นแต่ว่าคิดดีเพราะปัญญาเป็นผู้คิด ไม่ใช่เราคิด และเมื่อคิดร้ายก็เพราะกิเลสมันคิด ไม่ใช่เราคิดเช่นกัน คิดดีกับคิดร้ายอาจแข่งกันเกิดดับสลับกันภายในนาทีเดียว ถ้าเห็นเช่นนี้ ก็นับเป็นการเห็นสังขารเกิดดับแล้ว “สังขารขันธ์”)


วิญญาณ(ความรู้สึก) ความเกิดขึ้นของวิญญาณ ความดับไปของวิญญาณ (วิญญาณคือความรับรู้ที่เกิดขึ้นตามประสาทสัมผัส รวมทั้งมโนสัมผัส คือรู้ว่ากำลังเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู ได้กลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้แตะวัตถุด้วยกาย ได้ทราบด้วยใจ รู้ว่าตามันเห็น ไม่ใช่เราเห็น รู้ว่าหูมันได้ยิน ไม่ใช่เราได้ยิน รู้ว่าจมูกมันได้กลิ่น ไม่ใช่เราได้กลิ่น รู้ว่าลิ้นมันลิ้ม ไม่ใช่เราลิ้ม รู้ว่ากายมันแตะต้อง ไม่ใช่เราแตะต้อง กับทั้งรู้ว่าใจมันทราบ ไม่ใช่ตัวเราทราบ ที่ตั้งของอุปาทานในตัวตนถูกถอดออกหมด ตัวตนย่อมปรากฏเป็นของกลวง ของว่างเปล่า ของที่ไม่มี ถ้ารู้อย่างนี้ก็นับว่าเป็นการเห็นวิญญาณเกิดดับแล้ว “วิญญาณขันธ์”)


พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง (ขันธ์เกิดขึ้นแล้วดับตามเหตุอันสมควร ขันธ์หนึ่งดับไปขันธ์ใหม่เกิดขึ้นสืบแทน)


มีสติว่าธรรมมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (“ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”)



พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน และอายตนะภายนอก ๖ (อย่างละ ๖)


สังโยชน์(เครื่องผูก)ย่อมเกิดขึ้นอาศัย ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์(สิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยใจ) (การมีสติรู้เท่าทันผัสสะกระทบเพียรเผาความอยากมีตัวตนจนเหือดแห้ง สติย่อมเด่นชัดว่า ความปรากฏแห่งกาย ใจ และผัสสะ เป็นเพียงพันธนาการผูกมัดเราไว้กับภาระอันหนักสมควรปลดเปลื้องออกไปเสีย เมื่อเกิดผัสสะล่อใจแต่ละครั้งแล้วเราปล่อยใจให้ถลำไป กิเลสก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าตั้งสติรู้ได้ทัน ใจก็จะถอนขึ้นจากหล่มกิเลสทีละเล็กทีละน้อย ครั้งแรกๆอาจยากเหมือนฝืดฝืน แต่ครั้งต่อๆไปจะง่ายขึ้นทุกที เหมือนเป็นอัตโนมัติ และต้องยอมรับความจริงด้วยว่ากำลังสติของเรายังรู้เท่าทันผัสสะได้เพียงบางชนิด ไม่ใช่ทุกชนิด เช่น บุคคลอันเป็นที่น่าปรารถนา น่าสัมผัส ยั่วยวนให้เกิดกามารมณ์ หากไม่มีทางสู้ หรือสู้ไม่ได้ก็อย่าไปสู้ ให้อยู่ห่างไปเลย ช่วงใดยอมเข้าใกล้แหล่งรวมผัสสะที่ร้อนแรง ย่อมชี้ว่าช่วงนั้นเรายังไม่เต็มใจไปให้ถึงความหลุดพ้นจริงจัง แน่นอนว่าไม่ ใช่บาปผิดตามคดีโลกแต่ถือเป็นความผิดต่อนิพพาน เมื่อสติเจริญเต็มกำลังเราจะเห็นละเอียดลออกระทั่งขณะแห่งการเกิดความยึดติดในทันทีที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้ม ได้สัมผัส และได้รู้สึก)


ความที่สังโยชน์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

ความที่ละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

ความที่สังโยชน์อันตนละแล้วไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย


พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (เพื่อละสังโยชน์ ๑๐ เป็นพระอริยะตามลำดับต่อไป )


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง (ผัสสะอันเกิดจากอายตนะย่อมเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา บังคับไม่ได้ )


มีสติว่าธรรมมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (“ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”)



พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ โพชฌงค์ ๗ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง)


เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์(ความระลึกรู้)มีภายในจิต (เป็นสติที่ได้เจริญถึงขั้นรู้เท่าทันผัสสะอย่างเป็นอัตโนมัติ ถึงขั้นไม่เสวยเวทนาเพราะแจ่มแจ้งในสภาวธรรมทั้งหลายแล้ว เป็นกิริยาจิต)

เมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่อสติสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


เมื่อธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ (ความเลือกเฟ้นธรรม)มีภายในจิต (มีความสามารถล่วงรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าเป็นกายหรือเป็นใจ ไม่ ว่าเป็นดีหรือเป็นร้าย ทั้งเท่าทันไม่ว่าตอนเกิดหรือตอนดับ กระทำจิตในจิตให้แยบคาย ให้ถ่องแท้ ให้ลง ไปถึงที่เกิด “โยนิโสมนสิการ” และเกิดปัญญารู้ว่าภาวะตรงหน้าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจบังคับยึดถือ ไว้ เป็นผู้ทรงปัญญามีสัมมาทิฏฐิ “ความเห็นชอบ” การพิจารณาธรรมอาจหมายถึงความสามารถในการรับมือกับกิเลสเฉพาะหน้าได้อย่างท่วงทันด้วย เช่น เมื่อราคะกล้าเป็นสภาวะเด่นเห็นชัดในปัจจุบัน ยังไม่หายไปเพียงด้วยการตั้งสติรู้ ก็เปลี่ยนแผนรับมือกิเลสใหม่ อาจระลึกถึงก้อนเสลดในลำคอ ซึ่งทั้งลื่น ทั้งเหนียว ทั้งเหม็น หากเชี่ยวชาญในการนึก รู้สึกถึงความสกปรกได้ชัด ก็ย่อมถอนราคะได้ทันสถานการณ์ นี่นับเป็นตัวอย่างของปัญญาพิจารณาสิ่งถูกรู้เพื่อให้เกิดธรรมอันควร)

เมื่อธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่อธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์ (ความเพียร)มีภายในจิต (ผู้มีความเพียรพิจารณาทุกสภาพธรรม ย่อมร่าเริงในการเห็นสภาวะต่างๆในขอบเขตกายใจ ว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปจริงๆทุกสภาพ ความเพียรยืนพื้นอยู่บนการพิจารณาธรรมโดยไม่เกี่ยงงอนว่าเป็นภาวะใด เช่น ขณะนี้รู้สึกพร่าเลือน ไม่พร้อมจะตั้งสติ ก็ทำความรู้จักอาการพร่าเลือน ดูว่ามันมีสภาพให้รู้สึกอย่างไร แล้วจะแปรไปเป็นแบบไหนอีก เท่านี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความเพียรแล้ว ผู้เพียรที่จะเอาแต่สภาพธรรมที่น่าพอ ใจย่อมหดหู่แบบไม่รู้ตัว จะล้มเหลวไม่ได้อย่างใจร่ำไป)

เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ปีติสัมโพชฌงค์ (ความปลื้มกายปลื้มใจ)มีภายในจิต (เมื่อความเพียรพิจารณาธรรมแก่กล้าเต็มกำลัง สิ่งที่เกิดตามมาเป็นธรรมดาคือความอิ่มใจอันปราศจากเหยื่อล่อแบบโลกๆ หรือปีติในฌาน ทั้งมิใช่ความปลาบปลื้มกับการนึกว่าจะได้มรรคผลรำไรในอนาคตอันใกล้ เพราะใจเราพออยู่กับสติที่มาถึงแล้วเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่มรรคผลที่ยังมาไม่ถึงเบื้องหน้า จิตเป็นอิสระจากการเกาะเกี่ยว เป็นผู้เห็นทรัพย์ภายในที่น่าปลื้มใจกว่าทรัพย์ภายนอก)

เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่อปีติสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประกา


เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ความสงบกาย สงบใจ)มีภายในจิต (เมื่ออิ่มเอมเปรมใจเต็มที่ ถึงขั้นไม่อยากได้อะไรนอกจากมีสติรู้นั้น ย่อมตามมาซึ่งความสงบระงับเยือกเย็นเป็นธรรมดา ความสงบระงับมีหลายระดับ ระดับที่กายหมดความกระสับกระส่ายเพราะนอนหลับสบายก็มี ระดับที่กายใจผ่อนพักหลังสะสางการงานยุ่งเหยิงเสร็จสิ้นก็มี ระดับที่จิตใจสงบสุขเพราะเรื่องร้ายผ่านไปก็มี ระดับที่กายใจหยุดกระโจนไปหากามก็มี ระดับที่จิตดับความเร่าร้อนของเพลิงพยาบาทลงด้วยน้ำใจอภัยได้ก็มี แต่ความสงบระงับที่กล่าวมาทั้งหมด ยังด้อยคุณภาพนักเมื่อเทียบกับความสงบระงับในขั้นนี้ เพราะในขั้นนี้จิตอิ่มใจในธรรมจนไม่อยากกลับไปหากิเลส อยากตีตัวออกห่างจากกิเลส และเมื่อจิตไม่เอากิเลส กิเลสย่อมปรากฏเป็นของอื่น เป็นของแปลกปลอมจากสติผู้รู้ผู้เห็น ยากที่จะกดดันกายใจกระสับกระส่ายได้อีก)

เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ (ความที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว)มีภายในจิต (เมื่อเจริญสติกระทั่งกายใจไม่กระสับกระส่าย สงบระงับเยือกเย็นบริบูรณ์ จึงถึงความตั้งมั่นอยู่กับความรู้สึกว่ากายใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่ว่าขยับท่าไหน เกิดปฏิกิริยาทางใจหนักเบาเพียงใด ก็ล้วนเป็นภาวะแห่งรูป เป็นภาวะแห่งนามไปทั้งสิ้น ความตั้งมั่นอันปลอดโปร่งไร้อุปาทาน จะทำให้จิตปรากฏเด่นดวงมีความเป็นใหญ่ รู้ลักษณะของตัวเองมากกว่ากาย เครื่องกระทบภายนอกน้อยใหญ่ไม่มีอิทธิพลพอจะทำให้หวั่นไหวเสียการทรงตัว)

เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ความที่จิตเป็นกลางตามธรรม)มีภายในจิต (เมื่อจิตตั้งมั่นจนความยินดียินร้ายทั้งหลายหายเงียบ สิ่งที่เกิดตามมาเป็นธรรมดา คือ ความรับรู้อย่างเป็นกลางวางเฉย อะไรๆสักแต่เป็นสภาวธรรม สักแต่เป็นนิมิตหลอกใจ ไม่ใช่บุคคล ไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์ ควรรับรู้อยู่เงียบๆ ถึงการผ่านมาแล้วจากไปของสรรพสิ่ง จิตตีตัวออกห่างจากความถือว่ามี ถือว่าเป็น เห็นใครตายก็รู้ว่าแค่ภาวะแห่งรูปหนึ่งดับไป หรือแม้เห็นความคิดแย่ๆผุดขึ้นในหัวก็รู้ว่าแค่ภาวะแห่งสังขารขันธ์เกิดขึ้น ไม่มีบุคคลอยู่ในที่ไหนๆทั้งภายในและภายนอก ความมีใจรู้อย่างเป็นกลางเต็มที่ ก็คือ ปล่อยวางถึงขีดสุดนั่นเอง เป็นคุณภาพของจิตที่พร้อมจะถึงฌานในแบบมรรคผล เมื่อถึง ความพร้อมบรรลุมรรคผล จิตจะคล้ายฟองสบู่ที่พร้อมแตกตัวหายวับโดยไม่ไยดีกับการมีการเป็นของตน มโนภาพบุคคลเหลือน้อยเต็มที นิมิตแสดงความไม่ใช่ตัวตนของกายใจก็ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เราเจริญสติมาทั้งหมดก็เพื่อสร้างเหตุให้เกิดไฟล้างผลาญกิเลส เพื่อดูว่าจิตพร้อมจะลุกโพลงเป็นไฟล้างกิเลสไหม ซึ่งดูได้จากการมีสติรู้เฉพาะหน้า มีความเพียรพิจารณาธรรมจนอิ่มใจ สงบระงับ ตั้งมั่นเป็นสมาธิรู้เห็นกายใจอย่างเป็นกลางวางเฉยนั่นเอง )

เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต ก็รู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีภายในจิต

เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย

เมื่อความบริบูรณ์ของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ธรรมทั้งหลายเกิดจากสังขารความปรุงแต่งทั้งสิ้น)


พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง (ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดับไป ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้)


มีสติว่าธรรมมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (“ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”)



พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจจ์ ๔ (ของจริงแห่งพระอริยเจ้า)


พิจารณากำหนดรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย(เหตุที่เกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ธรรมที่ดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธปฏิปทาหรือมรรค(ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์) [ขั้นสุดท้ายของการฝึกมีสติอยู่กับสภาวธรรม ขั้นที่พร้อมบรรลุมรรคผล หมายถึง รู้ความจริงเบื้องต้น คือรู้ว่าเป็นโรคอะไร “สัจจญาณ” รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร คือรู้ว่าจะต้องรักษาอย่างไร “กิจจญาณ” และ รู้ว่าทำสำเร็จแล้ว คือรู้ว่ารักษาโรคให้หายได้แล้ว “กตญาณ” เรียกว่า รู้อริยสัจจ์ ๔ ครบถ้วน ( วน ๓ รอบ ๑๒ อาการ)]

ทุกข์ พิจารณากำหนดรู้ว่า ชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความแห้งใจ) ปริเทวะ (ความร่ำไรรำพัน) ทุกข์(ความไม่สบายกาย) โทมนัส(ความเสียใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ) นี้เป็นทุกข์ ความประสบสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก นี้ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก นี้ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมประสงค์ นี้ก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ (ความถือมั่น) เป็นทุกข์ (ทุกขสัจจ์) เป็นสิ่งที่ควรรู้ให้รอบ(โดยเห็นเข้ามาในตัวเราว่า มีแต่ขันธ์ ๕ แสดงความจริงอยู่ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ไม่ควรถือว่าขันธ์เหล่านั้นเป็นเรา “ เหล่านี้คือทุกข์ ควรกำหนดรู้ และได้กำหนดรู้แล้ว ”)

ชาติ(ความเกิด) ความเกิดพร้อม(คือมีอายตนะบริบูรณ์) ความหยั่งลง(ชลาพุชะปฏิสนธิ “เกิดแล้วโตเป็นตัวในครรภ์มารดา เช่น มนุษย์ ช้าง ม้า” อัณฑชะปฏิสนธิ “เกิดในฟองไข่แล้วฟักเป็นตัว เช่น ครุฑ, นาค”) ความบังเกิด(คือเกิดในกำเนิดต่างๆ เช่น เชื้อโรค) ความเกิดจำเพาะ(คือเป็นโอปปาติกะปฏิสนธิ) ความปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์เหล่านั้นๆ นี้เรียกว่า ชาติ

ชรา(ความแก่) ความคร่ำคร่า ความที่ฟันหลุด ความที่ผมหงอก ความที่หนังหดเหี่ยวเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์เหล่านั้นๆ นี้เรียกว่า ชรา

มรณะ(ความตาย) ความจุติ ความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความทำกาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งชีวิตอินทรีย์จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า มรณะ

โสกะ(ความแห้งใจ) ความโศก ความเศร้าใจ ความแห้งผากภายใน ความโศกภายในสัตว์ นี้เรียกว่า โสกะ
ปริเทวะ(ความร่ำไรรำพัน) ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่ร่ำไรรำพัน นี้เรียกว่า ปริเทวะ

ทุกข์(ความไม่สบายกาย) ความไม่ดีเกิดในกาย เวทนาไม่ดีเป็นทุกข์ เกิดแต่สัมผัสทางกาย นี้เรียกว่า ทุกข์

โทมนัส(ความเสียใจ) ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่สัมผัสทางใจ นี้เรียกว่า โทมนัส

อุปายาส(ความคับแค้นใจ) ความแค้น ความคับแค้น ความที่สัตว์แค้น ความที่สัตว์คับแค้น อันประกอบด้วยความฉิบหายอันใดอันหนึ่ง และความทุกข์อันใดอันหนึ่งที่มากระทบแล้ว นี้เรียกว่า อุปายาส

ความประสบสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก อารมณ์เหล่าใดในโลกซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ปลื้มใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่ใคร่ต่อความฉิบหาย ที่ใคร่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ที่ใคร่ความไม่สำราญ และที่ใคร่ความไม่เกษมจากเครื่องประกอบ(กิเลส)แก่ผู้นั้น ความไปร่วม ความมา ร่วม ความประชุมร่วม ความระคนกับด้วยอารมณ์ นี้เรียกว่า ความประสบสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก

ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก อารมณ์เหล่าใดในโลกซึ่งเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ปลื้มใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่ใคร่ต่อความเจริญ ที่ใคร่ประโยชน์กื้อกูล ที่ใคร่ความสำราญ และที่ใคร่ความเกษมจากเครื่องประกอบ(กิเลส)แก่ผู้นั้น คือมารดา หรือบิดา พี่ชาย น้อง ชาย หรือพี่หญิง น้องหญิง มิตร หรืออำมาตย์ หรือญาติสายโลหิต ความไม่ไปร่วม ความไม่มาร่วม ความไม่ประชุมร่วม ความไม่ระคนกับด้วยอารมณ์ นี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก

ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมประสงค์ ความปรารถนาเกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์ที่มี ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความแห้งใจ ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความเสียใจ สัตว์ไม่ได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมประสงค์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นทุกข์ “ ได้กำหนดรู้แล้ว ”


ทุกขสมุทัย(เหตุที่เกิดทุกข์) ตัณหา(ความทะยานอยาก)ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความเพลิดเพลิน ความอยากในอารมณ์รักใคร่ ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น(คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) เมื่อเกิดขึ้นที่ไหนย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น (เหตุให้เกิดทุกข์คือความอยากเสพผัสสะที่น่าเพลิดเพลินยินดี อยากเอาแต่ขันธ์ ๕ ที่ชอบใจ เมื่อไม่ได้อย่างใจก็เป็นทุกข์ ตัวผัสสะไม่ได้เป็นปัญหา ความอยากเสพผัสสะต่างหากที่เป็นปัญหา “เหล่านี้คือเหตุ ควรละ และได้ละแล้ว ”)

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

ความกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความคิดอ่านใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความคิดอ่านใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้ง อยู่ที่ความคิดอ่านใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความอยากใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความอยากใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความอยากใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความตรึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความตรึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความตรึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความตรองถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ความตรองถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความตรองถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เหล่านี้ คือ ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) “ ได้ละแล้ว ” เหตุแห่งทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีใจเข้าเป็นผู้รับผลทุกข์


ทุกขนิโรธ(ธรรมเป็นที่ดับทุกข์) คือ ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่อาลัย ในตัณหานั้น ตัณหา อันเกิดขึ้นตั้งอยู่ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก เมื่อบุคคลจะละเสียย่อมละเสียได้ในที่นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับในที่นั้น (ความดับทุกข์ คือการสละคืนความอยากเสพผัสสะได้จริงอย่างสิ้นเชิง หลังจากสละคืนความอยากได้หมดจดเท่ากับดับเหตุแห่งความดิ้นรนกระวนกระวายได้สนิท เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดภาวะ “ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น”หรือ“เหนือกรรม” “เหล่านี้คือธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ควรทำให้แจ้ง และได้แจ้งแล้ว)

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสีย ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

ความกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ความกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

เวทนาที่เกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่เวทนาที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่เวทนาที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น

ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความคิดอ่านใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความคิดอ่านใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ความคิดอ่านใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความอยากใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความอยากใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ความอยากใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความตรึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความตรึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เมื่อจะดับก็ย่อมดับที่ความตรึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น

ความตรองถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละเสียก็ย่อมละเสียที่ความตรองถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เมื่อจะดับ ก็ย่อมดับที่ความตรองถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้น เหล่านี้ คือ ทุกขนิโรธ(ธรรมเป็นที่ดับทุกข์) “ ได้ทำให้แจ้งแล้ว ”


ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา “เหล่านี้คือข้อปฏิบัติ ควรปฏิบัติ และได้ปฏิบัติแล้ว) ทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) “รู้ความจริงอย่างอริยะ”หมายถึง ปัญญาเข้าใจถูกต้องตามที่เป็นจริง เห็นทุกข์ มีความเห็นที่จะออกจากทุกข์ มีความเห็นชอบถูก ต้องเกี่ยวกับทุกข์ เห็นชอบในการปฏิบัติให้พ้นทุกข์อย่างถูกต้อง เห็นเข้าใจในอริยสัจ ว่าเป็นทางดับทุกข์ เห็นเข้าใจปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งทุกข์ เห็นเข้าใจพระไตรลักษณ์ อนิจ จัง ทุกขัง อนัตตา ว่า สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดับไปเป็นธรรมดา ไม่สามารถบังคับ ได้ ยึดถือเป็นตัวเราของเราไม่ได้ ไม่ใช่เราของเรา ไม่ใช่เขาของเขา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เชื่อกฎแห่งกรรมว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว มารดามี บิดามี นรกมี สวรรค์มี นิพพานมี

สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) การดำริในการออกบวชคือออกจากกามารมณ์ ความดำริในความไม่พยา บาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) “กำหนดชอบ” “คิดอย่างอริยะ” คิดหาทางให้พ้นไปจากทุกข์ ด้วยโยนิโสมนสิการวิจัยธรรมอย่างแยบคายถ่องแท้ถึงที่เกิดแห่งทุกข์

สัมมาวาจา(วาจาชอบ) เจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก กล่าวเท็จ ส่อเสียด หยาบคาย เพ้อเจ้อ นี้เรียก ว่า สัมมาวาจา(วาจาชอบ) “พูดอย่างอริยะ” ทำให้ใจและกายสบาย ใจและกายผ่องใส อันเป็นบาทฐานในการปฏิบัติขั้นสมาธิในที่สุด

สัมมากัมมันตะ(การงานชอบ) เจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การฆ่าสัตว์ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ความประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ(การงานชอบ) “กระทำชอบ” “กระทำอย่างอริยะ” ทำให้ใจและกายสบาย ใจและกายผ่องใส อันเป็นบาทฐานในการปฏิบัติขั้นสมาธิในที่สุด

สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) การละความเลี้ยงชีพผิดย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพชอบ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) “เป็นอยู่ชอบ” “เลี้ยงชีพอย่างอริยะ”ทำให้ใจและกายสบาย ใจและกายผ่องใส อันเป็นบาทฐานในการปฏิบัติขั้นสมาธิในที่สุด

สัมมาวายามะ(พยายามชอบ) เพื่อจะยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อจะละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อจะยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่ให้สาบสูญ เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้นเต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยังความพอใจให้บังเกิด ย่อม พยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้ นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)“เพียรอย่างอริยะ” เพื่อละอกุศลธรรมทั้งปวง และเพื่อยังกุศลธรรมทั้งปวงให้ถึงพร้อมเกิดมีขึ้นในจิต

สัมมาสติ(ระลึกชอบ) พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะมีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัส (ความยินดีและยินร้าย)ในโลกเสียให้พินาศ นี้เรียกว่า สัมมาสติ(ระลึกชอบ) “มีสติระลึกรู้อย่างอริยะ” ด้วยการเจริญสติปัฎฐาน ๔ “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”

สัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) “มีสมาธิตั้งมั่นอย่างอริยะ ” นำสมาธิในขั้นสมถะ (ฌาน) ที่มีจิตสงบ ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน ที่ไม่ติดเพลินแช่นิ่งอยู่ในความสงบของอุเบกขาของสมาธิ นำไปใช้ในการพิจารณาธรรมในการปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อเป็นปัจจัยเกื้อหนุนจนเกิดมรรคสมังคี ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดมรรคองค์ที่ ๙ อันเป็นการปฏิบัติในขั้นสัมมาญาณ(ขั้นปัญญาที่ใช้ในการดับทุกข์) ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดมรรคองค์ที่ ๑๐ หรือสัมมาวิมุตติ หรือสุขจากการหลุดพ้น [“สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือจิตเป็นผู้เห็น” “สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ดำริ ” “สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ ก็คือจิตเป็นผู้นึกแล้วกล่าว” “สัมมากัมมันโต การงานชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดทำการงาน” “สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบก็คือจิตเป็นผู้คิดหาเลี้ยงชีวิต” “ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ก็คือจิตเป็นผู้มีเพียรมีหมั่น ” “ สัมมาสติ ความระลึกชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ระลึก" ทั้ง ๗ นี้แหละเป็นอาการ ประชุมอาการทั้ง ๗ นี้ลงเป็นองค์สัมมาสมาธิ แปลว่า ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้เป็นเอกัคคตาอยู่ในความเป็นหนึ่ง ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีออก ไม่มีเข้า เรียกว่า มรรคสมังคี ประชุมมรรคทั้ง ๘ ลงเป็นหนึ่ง หรือเอกมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า กล่าวคือ “มีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ เพราะด้วยสัมมาทิฏฐิ จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักมิจฉาวาจา ว่าเป็นมิจ ฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจา ว่าเป็นสัมมาวาจา รู้จัก..ฯลฯ ” “ มีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เพราะเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ พอเหมาะสัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะพอเหมาะสัมมาวาจาจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมา วาจาพอเหมาะสัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมากัมมันตะพอเหมาะสัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมาอาชีวะพอเหมาะสัมมาวายามะจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมาวายามะพอเหมาะสัมมาสติจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมาสติพอเหมาะสัมมาสมาธิจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมาสมาธิพอเหมาะสัมมาญาณจึงพอเหมาะ เมื่อมีสัมมาญาณพอเหมาะสัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะ โดยนัยดังนี้แล้ว พระเสขะ(อริยะผู้ยังไม่บรรลอรหันต์)ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงกลายเป็นอรหันต์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐]


ปฐมฌาน สงัดแล้วจากกามารมณ์ สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศล จึงเข้าถึงปฐมฌาน (ความเพ่ง ที่ ๑) ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก

ทุติยฌาน เพราะความที่วิตกและวิจาร(ทั้ง๒) ระงับลง จึงเข้าถึงทุติยฌาน (ความเพ่งที่ ๒) เป็นเครื่องผ่องใสใจ ณ ภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอก ผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิด จากสมาธิ

ตติยฌาน เพราะความที่ปีติวิราคะ (พ้นไป,ไม่มี) ย่อมเป็นผู้เพิกเฉยอยู่และมีสติสัมปชัญญะและ เสวยความสุขด้วยกายอาศัยคุณคืออุเบกขา เป็นผู้อุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข จึงเข้าถึง ตติยฌาน(ความเพ่งที่ ๓)

จตุตถฌาน เพราะละสุขเสียได้ เพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความที่โสมมนัสและโทมนัส (ทั้ง๒) ในการก่อนอันอัสดงดับไป จึงเข้าถึงจตุตถฌาน (ความเพ่งที่ ๔) ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) เหล่านี้ คือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์) “ ได้ปฏิบัติแล้ว ” พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง (ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดัปไป ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ) มีสติว่าธรรมมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆในโลกด้วย (“ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ” “ มีใจเป็นกลาง ”)


สรุปการพิจารณาธรรม(มีหลักปฏิบัติเหมือนการพิจารณากาย) แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ

๑. พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ ที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ (นีวรณบรรพ)

๒. พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธบรรพ)

๓. พิจารณาอายตนะภายในภายนอก ๖ คือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์ (อายตนบรรพ)

๔. พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ (โพชฌงคบรรพ)

๕. พิจารณาอริยสัจจ์ ๔ (สัจจบรรพ)


สรุปการพิจารณา กาย, เวทนา, จิต, ธรรม ทั้งสี่ข้อนี้ มีการพิจารณาที่ตรงกัน ๑๐ ประการ คือ ๑.มีความเพียร ๒.มีสัมปชัญญะ ๓.มีสติ ๔.พิจารณาภายใน ๕.พิจารณาภายนอก ๖.พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก ๗.ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ๘.เห็นเป็นธรรมดาในความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ๙.สักแต่ว่าเป็นที่รู้เป็นที่อาศัยระลึก ๑๐.ไม่ติดไม่ยึดถืออะไรๆในโลก(ดับ ราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ) ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิด นิพพิทา(ความหน่าย) วิราคะ(คลายกำหนัด,ความไม่ยึดติด) วิมุตติ(ความดับกิเลสไม่เหลือ,ความหลุดพ้น)    นิพพาน(ความเกษม,สว่าง,สงบ,เย็น)   “ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ”


มหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ครอบคลุมหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้อย่างแยบคาย ทั้ง อริยสัจ ๔ ปฏิจจสุปบาท และ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (สติปัฏฐาน๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘) ซึ่งกล่าวสรุปเหลือเพียง สติสัมปชัญญะ คือ ความไม่ประมาท นั่นเอง พุทธพจน์ “การส่งจิตออกไปภายนอก เพ่งโทษผู้อื่นนั้นคือเหตุ และมีทุกข์เป็นผล การพิจารตน เอง คือจิตดูจิตของตนเป็นมรรค มีนิโรธ คือการดับทุกข์เป็นผล” จิตที่เห็นจิตเป็นจิตผู้รู้ เพราะจิตหยุดค้นหาจิตด้วยสติระลึกรู้อารมณ์ภายในที่ปรากฎชัดอย่างเป็นกลาง จึงได้เห็นจิตที่ดับไปก่อนนั้นปรากฏชัดอยู่ต่อหน้า หากสติมีกำลังไม่มากพอจำเป็นต้องเฝ้าดูอารมณ์ที่ปรากฏไปเรื่อยๆ จนได้เห็นจิตปรากฏชัดขึ้นมา เพื่อเจริญสู่เป้าหมายขั้นสูงสุด คือ “วางจิตวางใจ” การรู้อารมณ์หากกำหนดบัญญัตินำปรมัตถ์จะเป็นปริยัติ ต้องกำหนดปรมัตถ์เป็นสำคัญ แต่หากมี บัญญัติเกิดตามมาก็กำหนดกลับไปที่ปรมัตถ์บัญญัตินั้นก็จะหายไปเองในระหว่างปฏิบัติหากอารมณ์ใดเกิดแทรกขึ้นมาให้กำหนดอารมณ์นั้นก่อน เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว จึงค่อยปฏิบัติต่อไป


หมายเหตุ มหาสติปัฏฐานสูตรนี้ คัดลอกเรียบเรียงโดยยึดมหาสติปัฏฐานสูตรฉบับหลวงแปลเป็นสำคัญ ส่วนถ้อยคำอธิบายอาศัยถ้อยคำของครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยะสงฆ์ทั้งที่ละสังขารแล้วและยังมีชีวิตอยู่ ตลอดจนผู้รอบรู้ในธรรมหลายท่าน ด้วยจิตเคารพบูชาท่านทั้งหลายเป็นครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น เหตุที่ไม่ได้กล่าวนามท่านอ้างอิง เพราะเกรงว่าการคัดลอกเรียบเรียงขยายความไม่ตรงกับถ้อยคำที่ท่านได้อธิบายไว้ หากผิดพลาดประการใด กราบขอขมาครูบาอาจารย์ทุกท่านได้โปรดอโหสิกรรมด้วย วรรธ์นพล ศรีบูรณะไชย ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


ผนวกส่งท้ายมหาสติปัฏฐาน

ขันธ์ ๕ ใดรู้จักนิพพาน ขันธ์ ๕ นั้นสมมุติเรียกว่า ‘โสดาบัน’ เพราะทำลายความเห็นผิดว่ากายใจเป็นตัวตนได้แล้ว มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ไม่สงสัยความจริงในแบบของอริยะและไม่มีทางหลงไขว้เขวไปถือปฏิบัติตนตามแนวทางที่มิใช่อริยะอีก จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้ากระแสนิพพานไม่กลับตกต่ำเป็นธรรมดา

เมื่อโสดาบันบุคคลเจริญสติ ย่อมรู้ว่าแม้จิตไม่ใช่ตน แต่จิตก็รู้นิพพานได้โดยอาศัยการเห็นกายใจไม่เที่ยง จนคลายความยินดีในกายใจ เปลี่ยนมายินดีในความเป็นกลางวางเฉย เมื่อเป็นสมาธิตั้งมั่นเต็มที่แล้วถอนความยินดีในความเป็นกลางวางเฉยนั้นอีกชั้น จิตก็จะหลุดจากกรอบครอบงำของขันธ์ ๕ แล้วตื่นรู้เบิกบานอยู่ในการเห็นนิพพานอันสงบจากขันธ์ ๕ นิ่งรู้นิพพานด้วยอำนาจฌานโดยไม่มีไฟล้างกิเลสลุกโพลงขึ้นแต่อย่างใด แม้เห็นนิพพานได้อย่างโสดาบัน อำนาจแรงดึงดูดของกายใจก็ยังไม่หมด เห็นได้จากที่โสดาบันบุคคลยังมีราคะ โทสะ และโมหะ ได้เท่าเดิม เพียงแต่จะไม่หลงทำผิดศีลธรรมด้วยอำนาจ กิเลสฝ่ายต่ำเหล่านั้น เมื่อไม่ตั้งอยู่ในความประมาทกับทั้งอาศัยความเบิกบานในการเห็นนิพพาน ก็เดินหน้าเจริญสติต่อ ไป สะสมกำลังสติ รู้ความจริงแบบอริยะชัดเจนขึ้น โสดาบันบุคคลจะยกระดับได้อีกขั้น เมื่อจิตปฏิรูปตนเป็นไฟล้างกิเลส เราสมมุติเรียกว่า ‘สกทาคามี’ เป็นบุคคลผู้บรรเทาเบาบางจากราคะ โทสะ โมหะ แล้ว

อำนาจดึงดูดของกายใจยังไม่หมด สกทาคามีบุคคลต้องเจริญสติต่อไปอีก กระทั่งยกระดับได้อีกขั้น เมื่อจิตปฏิรูปตนเป็นไฟล้างกิเลสอีกขั้น เราสมมุติเรียกว่า ‘อนาคามี ’ เป็นบุคคลผู้หมดกามราคะ แล้ว ไม่มีความขัดเคืองใดๆ กระทบใจได้อีก จิตจึงมีความสุขเป็นปกติ รู้ขันธ์จากระยะห่างไม่เข้ามายุ่งด้วยแบบ ประชิดติดพันเหมือนเคย แต่แรงยึดเหนี่ยวสุดท้ายอันเปรียบเหมือนเส้นใยบางๆ ยังคงอยู่ เส้นใยบางๆ นี้เองที่ลึกลับที่สุด เห็นยากที่สุด เพราะคล้ายขันธ์ ๕ ไร้แรงดึงดูดแล้ว ไม่อาจครอบงำจิตได้อีกแล้ว แต่จิตก็ยังไม่เป็นอิสระถึงที่สุด ยังรู้สึกว่าขันธ์ ๕ เป็นตนอยู่

เมื่ออนาคามีบุคคลเจริญสติจนทราบชัดถึงที่สุด ว่าจิตผู้รู้ที่แสนสุขก็เป็นตัวทุกข์อยู่ทั้งตัว พอทำ ลาย ‘ความไม่รู้ว่าจิตเป็นทุกข์’ เสียได้อย่างเด็ดขาด จิตจึงปฏิรูปตนเป็นไฟล้างกิเลสครั้งสุดท้าย ได้ชื่อว่า ‘อรหันต์’ เพราะมีจิตพรากจากขันธ์อย่างเด็ดขาดแล้ว ผู้เข้าถึง ‘จิตที่พรากจากขันธ์’ ย่อมทราบว่านอกจากภาวะถอยห่างเป็นต่างหากจากกายใจ ยังมีภาวะเหมือนอยู่คนละโลกกับกายใจ ที่เรียกว่า “วางจิตวางใจ ”

------------------------------------------------------------------

การปฏิสนธิเป็นไปอย่างสมบูรณ์ (๓ สัปดาห์ หลัง ปจด. ขาด) การพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์
http://www.thaiparents.com/pg_babydev02.html
------------------------------------------------------------------

โพธิปักขิยธรรมภาคปฏิบัติ พระภาวนาวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ๕ ธันวาคม ๒๕๓๒
http://kirimanon.blogspot.com/2010/11/blog-post.html
------------------------------------------------------------------
สติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ฯลฯ
http://nkgen.com/1mainpage1024.htm#title

------------------------------------------------------------------

ภาพอสุภกรรมฐาน




------------------------------------------------------------------

พระศาสดาทรงบอกวิธีแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

พระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน ก็ไปบำเพ็ญเพียรในที่สงบ แต่แล้วก็ถูกความง่วงเข้าครอบงำ ทำให้ไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้เป็นปกติ พระศาสดาจึงทรงบอกวิธีแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

๑. เมื่อกำลังคิดถึงสิ่งใดอยู่ ให้คิดถึงสิ่งนั้นเข้าไว้ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๒. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้คิดทบทวนถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้วอย่างละเอียด จะทำให้หายง่วงได้

๓. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ท่องธรรมที่ได้เรียนมาดังๆ

๔. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้แยงหูทั้งสองข้าง แล้วใช้ฝ่ามือลูบไปตามตัว

๕. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นแล้วลูบหน้าด้วยน้ำ และเหลียวไปรอบๆ หรือ แหงนหน้าขึ้น จะทำให้หายง่วงได้ 

๖. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้นึกว่านี่เป็นเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์ สว่างไสวไปหมด จะทำให้หายง่วงได้

๗. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม เพื่อให้จิตมีสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหว

๘. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้นอนในท่าสีหไสยา คือ ตะแคงขวาตั้งสติว่าจะตื่นอยู่เสมอและจะไม่ยินดีกับการนอนหรือการเคลิ้มหลับ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

-------------------------------------------------------------

วิปัสสนาภูมิ โดย พระครูเกษมธรรมทัต (บัญญัติ ปรมัตถ์ รูป นาม และการกำหนดปรมัตถ์, วิปัสสนาภูมิ ๖ ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๒๒, อริยสัจจะ ๔, ปฏิจจสมุปบาท ๑๒, นิวรณ์ ๕, กิเลส, ไตรลักษณ์, การปรับอินทรีย์ให้สมดุล )


-------------------------------------------------------------

สังโยชน์ ๑๐