วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

สังโยชน์ 10



สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี 10 อย่าง คือ
ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่
1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง
2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หรือนำศีลและพรตไปใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพื่อเป็นปัจจัยแก่การสิ้นกิเลส เช่นการถือศีลเพื่อเอาไว้ข่มไว้ด่าคนอื่น การถือศีลเพราะอยากได้ลาภสักการะเป็นต้น ซึ่งรวมถึงการหมดความเชื่อถือในพิธีกรรมที่งมงายด้วย
4. กามราคะ - มีความติดใจในกามคุณ
5. ปฏิฆะ - มีความกระทบกระทั่งในใจ
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่
6. รูปราคะ - มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน
7. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย
8. มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน
9. อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา - มีความไม่รู้จริง
พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ,วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส
พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 คือ กามราคะและปฏิฆะ ให้เบาบางลงด้วย
พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด
พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ


พรหมวิหาร 4 ตัดสังโยชน์ 10 (โดยหลวงพ่อฤๅษี ลิงดำ)

พรหมวิหาร 4 ในขั้นสุดท้าย ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ทรงอิทธิบาท 4 ครบถ้วน สำหรับพรหมวิหาร4 ก็จะสามารถทำให้ท่านทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้โดยเร็ว

จงอย่าลืมธรรมะอีกข้อหนึ่งว่า เราจะแก้กิเลสตัวไหน กิเลสตัวนั้นมันเข้ามายุ่งกับใจเราเสมอ เพราะมันเป็นข้าศึก ถ้าหากว่าเราจะแก้ความโลภ ทรัพย์สมบัติมันจะเกิดขึ้นมามากโดยที่คาดไม่ถึง

ถ้าจิตของเราไปติดทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านั้น แสดงว่าเราแพ้กิเลส ถ้าหากว่าเราจะแก้ราคะ ความรักในเพศ หรือความสวยสดงดงาม นั่นจะพบกับแขกที่มีเพศตรงข้าม มีลักษณะท่าทางสวยงามสง่าผ่าเผย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สิน มีจริยาเพรียบพร้อมเป็นที่น่ารัก มายั่วยวน ถ้าจิตใจของเราไม่คล้อยตามไป ชื่อว่าเราชนะ ถ้าเราคล้อยตามไป มีความพอใจ เราแพ้แก่กิเลส

เวลานี้บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ กำลังเจริญพรหมวิหาร 4 มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา มีจิตใจอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ของความชั่ว ในขณะที่เราทรงพรหม 4 นี่  เพื่อเป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ คือ โทสะ ก็จงระมัดระวังว่า อาการที่มันจะเกิดโทสะขึ้นอย่างไม่คาดฝัน มันจะมีมาถึงเรา อยู่เฉยๆอาจจะมีคนแกล้งมาหาเรื่องก็ได้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ผมประสบมามากในขณะที่ฝึก แต่ว่าเราก็ผ่านมาได้แบบสบายๆ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับกำลังใจ หรือว่า อิทธิบาท4อย่างเดียว

การเจริญพรหมวิหาร4 ของท่าน ผมได้กล่าวมาแล้วถึงขั้นอนาคามีผล คือว่า การเจริญพรหมวิหาร4 เป็นพระอนาคามีไม่ยาก ทั้งนี้เพราะอะไร  เพราะเรามี เมตตา ความรัก รักใคร รักตัวเรานี่แหละเป็นตัวสำคัญ กรุณา ความสงสาร เราสงสารใคร เราสงสารตัวเรา มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยา คือไม่มีอารณ์เครียด ในเมื่อความดีมันเข้ามาถึง อุเบกขา วางเฉย เฉยต่ออารมณ์ภายนอก เฉยต่ออารมณ์ภายใน เฉยต่ออาการของขันธ์5 ความจริญการเจริญพรหมวิหาร4 นี้เป็นพระอรหันต์ได้ง่าย

ที่ผมว่ารักตัวเราก็เพราะอะไร คือว่าถ้าจิตของเราไปติดในกามฉันทะ ก็ชื่อว่าเราเป็นคนไม่รักตัวเราเอง เพราะกามฉันทะเป็นกามคุณ5 ได้แก่ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อันนี้มันเป็นของไม่ดี อะไรที่ไหนมันสวยจริง กลิ่นที่ไหนมันหอมเสมอ รสที่ไหนมันอร่อยเลิศตลอดกาลตลอดสมัย สัมผัสเป็นเหตุเกิดความสุขใจ แต่มันทุกข์อะไรบ้าง นี่มันของไม่ดี ถ้าเรารักตัวเราจริงๆ เราก็ไม่ไปยุ่งกับราคะความรัก

และสำหรับโลภะ คือความโลภ ความร่ำรวยมันเป็นของดีหรือว่ามันเป็นของเลว เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ เรามองกันจริงๆ คนที่รวยก็แก่ ก็ป่วย ก็ตาย ด้วยกันทุกคน แล้วก็มีอารมณ์เร่าร้อน ทรัพย์สินทั้งหลายที่เขารวบรวมไว้ได้ ไม่มีใครนำไปได้ เมื่อเวลาตาย หากว่าเราไปติดรวยก็แสดงว่าเราไม่รักตัวเอง การที่เราจะรักตัวเองเราต้องเป็นคนวางภาระในความต้องการร่ำรวยเสีย

ต่อมาอารมณ์โกรธ อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ของความเร่าร้อน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เราจะฆ่าเขา เขาก็ตาย เราจะแกล้งให้เขามีทุกข์เขาก็มี ถ้าเราไม่ฆ่าเขาเขาก็ตาย เราไม่กลั่นแกล้งให้เขามีทุกข์ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะต้องไปทำทำไม ถ้าเรารักตัวเราก็อย่าสร้างโทสะ ความโกรธให้มันเกิดขึ้น มันสร้างความเร่าร้อนเปล่าๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์ ใครจะบ้าก็ปล่อยให้เขาบ้าไปตามเรื่องตามราว เป็นอันว่าคนที่ทำให้เราโกรธ เราคิดว่านั่นเขาบ้า เขาบ้าตรงไหน บ้าชีวิต บ้าฐานะ บ้าความเป็นอยู่ เพราะอะไร เพราะคนโกรธก็มีอาการเหมือนคนบ้านั่นเอง ยามปกติคนทุกคนต้องการความสงบเสงี่ยม ต้องการความเรียบร้อย แต่ทว่าความโกรธเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะแห่งความดีมันก็หายไป มันก็เหลือแต่ความเลว มั่นหลังไหลมานอกหน้า นี่ถ้าเราสงสารตัวเราเอง เราจงอย่าโกรธ เพราะถ้าเราไม่โกรธ เราไม่บ้า

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัน องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ก็ทรงเฉย พราหมณ์ชี้หน้าบอกว่า " พระสมณโคดม แกแพ้ข้าแล้ว " พระพุทธเจ้าทรงถามว่า " แพ้ตรงไหน " พราหมณ์จึงตอบว่า " ฉันด่าแก แกไม่ด่าดอบข้า ก็แพ้ข้า "  สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสว่า " พราหมณะ ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตคิดว่าถ้าใครเขาด่าตถาคต ถ้าตถาคตไปด่าตอบคนนั้น แสดงว่าตถาคตนะ่เลวกว่าคนนั้น" เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าทรงด่าพราหมณ์อย่างหนัก พราหมณ์มีปัญญารู้สึกตัว คิดว่าตัวผิดไปเสียแล้ว จึงนั่งกระหย่งถวายนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว แล้วกล่าวว่า " ภาษิตที่ท่านตรัสวันนี้เป็นของดีมาก ประเสริฐมาก คล้ายกับหงายหม้อที่กำลังคว่ำอยู่ให้ปากชูขึ้นรับน้ำฝน " แล้วจึงน้อมจิตใจของตนขอบวชในพระพุทธศาสนาเพราะอาศัยที่รู้ตัวว่าชั่วของพราหมณ์ ไม่ช้าพราหมณ์ก็ได้สำเร็จอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลเบื้องสูงในพระพุทธศาสนา

นี่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราควรศึกษากัน จงคิดว่าคนที่มีความโกรธคือคนบ้า บ้าในชีวิต บ้าในฐานะ เมาในศักดิ์ศรี ซึ่งมันไม่เป็นของดี ไม่เป็นของจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง ถ้าเราเมาในมันก็เป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ในที่สุดเราก็ตาย จะแบกยศถาบรรดาศักดิ์ไปทางไหนกัน เป็นอันว่าเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร4 เป็นอรหันต์ง่าย เป็นอรหันต์เพราะว่าเรารักตัวของเราเอง เราสงสารตัวของเราเอง เรารักตัวเรา ก็คือเราไม่ทำความชั่ว เพราะความชั่วเป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เราสงสารตัวเรา เราก็ระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้น

ข้อที่สาม มีจิตอ่อนโยน คือกำลังจิตไม่แข็งไม่กระด้าง ใครเขาทำดีทำชั่ว ช่างเขา เราพยายามรักษากำลังใจของเราให้บริสุทธิ์

อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ที่มันมาจากกระแสเสียงก็ดี มาจากอาการทางกายก็ดี ทั้งอารมณ์ภายนอกและอารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอกหมายถึงว่าตาสัมผัสรูป ไม่สนในรูป  หูสัมผัสเสียงไม่สนใจในเสียง จมูกสัมผัสกลิ่นไม่สนใจในกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส ไม่สนใจในรส กายสัมผัสแตะต้อง ไม่มีความสนใจในการสัมผัส นี่เรียกว่าเป็นอารมณ์มาจากทั้งภายนอกและภายใน อารมณ์ภายนอกเราชอบใจในรูป ชอบใจในเสียง อารมณ์ภายในนี้กำลังใจที่เข้าไปชอบ เห็นรูปสวยเราชอบ นั่นละรูป เป็นอารณ์ภายนอก

ความรู้สึกเป็นอารมณ์ภายใน เราวางเสียให้หมด ถ้าเรารักตัวเรา นี่ถ้าเราเจริญพรหมวิหาร4 จริงๆ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเราจะรักใคร เราต้องรักตัวเราก่อน ถ้าเราสงสารเขา เราก็สงสารตัวเราก่อน เราจะช่วยเขา เราต้องช่วยตัวเราก่อน อย่างภาษิตโบราณที่ท่านกล่าวว่า ถ้าจะเอาเตี้ยไปอุ้มค่อมมันก็ไม่มีความหมาย ต่างคนต่างเตี้ยด้วยกัน คนที่จะอุ้มคนขึ้นมาได้ให้มันพ้นพื้นดิน คนที่อุ้มต้องมีกายสูงกว่าใหญ่กว่าบุคคลที่ถูกอุ้มฉันใด แม้แต่การปฎิบัติในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็เหมือนกัน เราจะทำให้ชาวบ้านเขาเป็นสูข เราต้องทำใจของเราให้ถึงความสุขเสียก่อน

มาตอนนี้เราก็มาพูดกันว่า เราจะทำยังไงล่ะ มันถึงจะสุขจริงๆ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ทุกวันที่เราลืมตาขึ้นมา จงมองดู พรหมวิหาร4เป็นอันดับแรก แล้วก็ดู อิทธิบาท4 ดูบารมี10 แล้วก็จรณะ15 ทั้้ง4ประการนี้ให้มันอยู่ครบถ้วน จากนั้นจิตใจของเราสบาย เราก็มานั่งไล่เบี้ยสังโยชน์10ประการ ตอนนี้เรามานั่งไล่เบี้ยกันแล้ว

สังโยชน์10 ประการ เบื้องต้นคือ 5 อย่าง ที่มีความร้ายแรงและหนัก เราผ่านมาแล้วได้แก่
สักกายทิฏฐิ อันดับต้นมีความรู้สึกว่าเราจะตาย
วิจิกิจฉา การสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีในเรา คือคำว่าไม่สงสัยหมายความว่า พระพุทธเจ้าห้ามอย่างไหนเราละอย่างนั้น ทรงสนับสนุนอย่างไหนปฏิบัติอย่างนั้น มีในเราแล้ว
สีลัพพตปรามาส นี่เรามีศีลบริสุทธิ์
กามฉันทะ เราาตัดมันได้แล้ว จากอนาคามี
ปฏิฆะ อารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ คือบุคคลใดเขาจะกลั่นแกล้งให้สร้างความโกรธ เราไม่โกรธในเขา ให้อภัยทาน อย่างนี้เราชนะมันแล้ว

ต่อแต่นี้ไปก็ทบทวนสังโยชน์อีก5ประการ ที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอนุสัย มันเป็นกำลังใจที่ทำยากสังนิดหนึ่ง สังโยชน์5ประการหลัง คือ

รูปราคะ การหลงไหลใฝ่ฝันในรูปฌาน คือเมาในการเข้าฌาน เห็นว่าการเข้าฌานนี่เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศ เป็นของดีพอที่จะโอ้ดวดใครต่อใครว่าได้ว่า เราทรงฌานไดดี ใช้เวลานาน การเมาในรูปฌานอย่างนี้ไม่ดีแน่ เพราะว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นแต่เพียงบันไดหรือว่าเครื่องรองรับที่จะก้าวเข้าไปสู่ พระนิพพาน ถ้าจิตใจของเรายับยั้งอยู่แค่รูปฌาน และอรูปฌานมันก็ใช้ไม่ได้ คือว่าท่านทั้งหลาย ถ้าจะทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้รูปฌานหรือว่าได้อรูปฌานด้วยก็ตาม ได้ฌานอะไรก็ตาม จะต้องทรงฌานไว้เสมอ ไม่ใช่ว่าถ้าเราจะไม่เมาในรูปฌานและอรูปฌาน นั่นเราไม่เกาะในรูปฌานและอรูปฌาน มันก็ไม่ถูก

เรื่องฌานนี้ต้องเกาะ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงใช้ ในสมัยที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระที่เป็นพระอรหันต์ทุกองค์ก็ต้องทรงฌานเป็นปกติ แต่ว่าฌานของพระอริยะเจ้าเรียกว่าโลกุตตรฌาน กำลังฌาน ฌานัง แลว่า การเพ่ง หรือว่า การตั้งใจ กำลังใจพ้นจากสภาวะของโลก นั่นก็คือ ไม่ติดอยู่ในกามฉันทะ ไม่ติดอยู่ในโลภะ ไม่ติดอยู่ในความโกรธ ความพยาบาท ไม่ติดอยู่ในความหลง เป็นกำลังฌานที่ตั้งใจตรงเฉพาะ พระนิพพาน

ฉะนั้น การไม่ติดอยู่ใน รูปฌาน และอรูปฌาน แทนที่จะติดอยู่โดยเฉพาะว่า รูปฌาน และอรูปฌานเป็นของดี สามารถทรงกำลังจิตให้มั่นคง จิตเราจะตั้งตรงไว้เฉพาะรูปฌานและอรูปฌาน อย่างนี้เราไม่เอา เราก็เปลี่ยนเป็นว่าใช้กำลังใจให้เป็นฌาน แต่ฌานนี้อยู่ใน อุปสมานุสติกรรมฐาน คือเอาอุปมานุสติกรรมฐาน เข้ามาเป็นอารมณ์ เห็นว่าโลกเป็นทุกข์ เทวโลกและพรหมโลกเป็นสุขจริง แต่สุขไม่นาน หมดบุญวาสนาบารมีเมื่อไร ก็ต้องลงกลับมาเกิดกันใหม่ มันก็ยุ่งกันอีก เป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ

ฉะนั้น ฌานในที่นี้ให้ตั้งไว้ในอุปสมานุสติกรรมฐาน จิตใจมีความพอใจในพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าไม่หลงในรูปฌานและอรูปฌาน

ต่อไป มานะ การถือตัวถือตน ทรงตรัสว่า อย่าถือตัวเกินไป คำว่าถือตัวเกินไปน่ะมันเกินพอดี ไอ้ตัวน่ะต้องถือ รักษาศักดิ์ศรีในฐานะของตนว่า เวลานี้เราเป็นคนจะไปกินข้าวกับหมาน่ะมันก็ไม่ได้ หรือว่าถ้าเราในฐานะพุทธศาสนิกชน ถ้าเราเป็นพระ เราจะไปวิ่งเล่นกับเด็กมันก็ไม่สมควร หรือว่าถ้าเราเป็นเณร เราจะกินข้าวเย็น ขึ้นต้นไม่้เล่นเหมือนลิงมันก็ใช้ไม่ได้  อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเป็นผู้ทรงศีล จะทำตนอย่างกะชาวบ้าน ที่เขาปราศจากศีลมันก็ไม่ถูก นี่คำว่าถือตัวนี่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า อย่าถือตัวจนเกินไป คำว่า เกินไป มันก็แสดงว่ายังมีคำว่าถืออยู่ คือให้ถืออยู่ให้สมควรแก่ฐานะที่เราทรงอยู่ ไม่ใช่รังเกียจชาวบ้าน เห็นว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขา คนนั้นชั่วคนนี้ดี ปล่อยเขา เราทรงอารมณ์ไว้ตามอัธยาศัย คือ ในฐานะที่เราเป็นนักพรต ทรงเนกขัมมบารมี แปลว่า ถือบวช

คำว่าเนกขัมมบารมีแปลว่าถือบวชนี่ บวชจะห่มผ้าเหลืองหรือไม่ห่มผ้าเหลืองก็ได้ นุ่งผ้าลาย นุ่งผ้าสีก็ได้ แต่ว่าถ้าใจเป็นพระ ใจปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าพระ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาท่านเรียกเราว่า พระ คือเริ่มเข้าเขตของความดี ที่เรียกว่า ประเสริฐ ฉะนั้น การถือตัวถือตนที่เรียกว่า มาานะ จงวางเสีย แต่ว่าจงถือไว้แต่พอควร ให้สมควรแก่ฐานะของตน

ดูตัวอย่างขององค์สมเด็จพระทศพล พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระพุทธเป็นเจ้าจอมอรหันต์ ท่านก็วางพระองค์ของท่านให้เหมาะสมในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ทรงถือสาหาความใคร ใครเขาจะเอาอาหารดีมาให้พระองค์ พระองค์ก็ฉัน อาหารที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเลว ให้มาแล้วพระองค์ก็ฉัน เวลาฉันก็ไม่เคยจะต้องหาแท่นที่ประทับเสมอไป ที่ไหนก็ได้ อย่างเรื่องของ นางบุญทาสี


















วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงปู่บุดดา ตอบเรื่อง นิพพาน และจิต

หลวงปู่บุดดา ตอบเรื่อง นิพพาน และจิต
ศิษย์: หลวงปู่ครับ นิพพานโลกุตระ เป็นอย่างไร
หลวงปู่: มันก็หมดอาสวะซิ อวิชชาไม่เหลือ
ศิษย์: จิตยังอยู่ไหมครับ
หลวงปู่: จิตปรมัตถ์ไป เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ จิตยังอยู่ มันเกิด-ดับ มันเป็นสังคตะไป ไม่ใช่สัตว์ คน เป็นสังคตธรรม สังคตธรรมมีอยู่(ยังเป็นความปรุงอยู่ "สังขารธรรม") อสังคตะธรรมมีอยู่(พ้นความปรุง "วิสังขารธรรม") วิราคะธรรมมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คนเท่านั้น
ศิษย์: หมดสมมุติ หมดความยึดถือไช่ไหมครับ
หลวงปู่: ฮื้อ! มันไม่มีอาสวะ ไม่มีอวิชชาสวะ ไม่มีอวิชชาสังโยชน์ ไม่มีอวิชชานุสัย ล่ะก็ กิเลส กรรม วิบาก มันก็ไม่มี จิตไม่มีนาม-รูปของขันธ์แล้ว มันเหนือนาม-รูปของขันธ์แล้ว สังคตะมันเหนือขันธ์ ๕ วิราคะธรรมมันเหนือขันธ์ ๕ (เหนือ คือ ไม่ถูกครอบงำ ไม่มีอุปาทานขันธ์ ย่อมไม่กลับกำเริบอีก) ขันธ์ ๕ ยังมีนามรูปติดต่อกันทางอายตนะธาตุนี่ ส่วนนิพพานปรมัตถ์นี้ไม่เกิดไม่ดับเป็นอสังคตะธรรม(พ้นความปรุง "วิสังขารธรรม") แต่ จิต เจตสิก รูป ปรมัตถ์นี้ ยังเกิดดับเป็นสังคตะธรรม วิราคะธรรม ไม่มีราคะ หมดราคะถึงโลกุตระแล้วนั่น ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เผาลนแล้ว
ศิษย์: เมื่อดับจิต แล้ว นิพพาน สูญ ไม่เหลืออะไรเลยหรือปล่าวครับ
หลวงปู่: นิพพานไม่สูญ เป็นแต่อาสวะกิเลสสูญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม วิบาก มันสูญ แต่ สังคตะธรรม อสังคะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย บารมี ๓๐ ทัศน์ที่พระพุทธเจ้าสร้างเป็นของไม่ตาย แต่ว่าตัวบุญต้องเปลี่ยนแปลงไปจนกว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ เพราะถ้าเป็นตัวบุญอยู่กับพระเวสสันดรก็ไม่ตรัสรู้ซิ ก็ได้เป็นกษัตริย์ไม่ตรัสรู้ซิ แต่เพราะ(พระสิทธัตถะ)สละหมดอย่างพระเวสสันดร เที่ยวออกค้นคว้าถึง ๖ ปี(ซึ่งก็ต้องอาศัยบารมี อันเป็นนิสัยที่สั่งสมมา)จึงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าบางองค์ก็อายุไม่เท่ากันมาองค์ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี(แล้วแต่บารมี)
ศิษย์: ที่เขาว่าไปเที่ยวเมืองนิพพานน่ะ เขาไปกันได้จริงหรือป่าวครับ
หลวงปู่: เที่ยวได้แต่ปริยัติน่ะซิ พูดเอาภาคปริยัติก็เที่ยวได้ ภาคปฏิเวธเที่ยวได้ที่ไหนล่ะ มันมีบอกเมื่อไหร่ล่ะ
ศิษย์: แล้วอย่างมโนมยิทธิล่ะครับ
หลวงปู่: นั่นมันเรื่อง พุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ก็ตามใจซิ ก็นิมิตมันมีอยู่ หลับตาลืมตาก็มี มีของพระอริยะเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงพุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ได้ให้เห็นกันทั่ว กามโลก รูปโลก อรูปโลก ให้เขาได้เห็นกันเมื่อครั้งเสด็จลงจากดาวดึงส์นี่ ก็จิตนี่ล่ะมันรับธรรมะ นอกจากกายกับจิตแล้วจะเอาอะไรไปรับล่ะ กายกับจิตนี่ล่ะมันรองรับพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้ารู้นรก ๒ ชั้น นรกชั้นนอก นรกชั้นใน สวรรค์ชั้นนอก สวรรค์ชั้นใน นิพพานชั้นนอก นิพพานชั้นใน มันต้องมีภายนอกภายในพิสูจน์กันดู
ดูนิพพานกันอย่างนี้ อ่านพระไตรปิฎกกันอย่างนี้ซิ นิพพานไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่นามขันธ์ มันเหนือรูปขันธ์ นามขันธ์ สร้างบารมีมาก็เอาเป็นเครื่องมือ สร้างบารมีต่างหากล่ะ นามรูปนี่ตรัสรู้แล้วเอาไปเมื่อไหร่ล่ะ บารมี ๓๐ ทัศน์ ไม่ใช่ตัวขันธ์ ๕ มันเหนือขันธ์ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เหลือขันธ์ ๕ พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายตรัสรู้ ละสังโยชน์แล้วก็ยังเหลือขันธ์ ๕ เขายังเขียนรูปโลกไว้ให้ดู แต่อยู่เหนือขันธ์ ๕
(ที่มา หลวงปู่บุดดา ตอบเรื่อง นิพพาน และจิต "หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี")
โดย: Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย

อสังขตะมีเพียงสิ่งเดียว คือ นิพพาน
ธรรมะจริงๆแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นสังขตธรรม ยังเป็นความปรุงอยู่ กับส่วนที่พ้นความปรุง เรียกอสังขตะ อสังขตะมีอันเดียวคือ นิพพาน นอกนั้นจะยังเป็นสังขตะอยู่ โลกุตระบางอย่างยังเป็นสังขตะ บางอย่างถึงจะเป็นอสังขตะ สังขตธรรม เช่น มรรค ผล เวลาเกิดมรรค มรรคเกิดแล้วดับมั้ย เกิดแล้วดับ เห็นมั้ย มีเกิดแล้วดับ เป็นสังขตะ อริยผลเกิดขึ้นแล้วดับมั้ย เกิดแล้วดับ อริยมรรคนะ ไม่ว่าจะชั้นใดชั้นหนึ่งก็ตาม เกิดขึ้นชั่ว ๑ ขณะจิตเท่านั้นเอง อริยผลเกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะ แต่ละคนไม่เท่ากัน บางคน ๒ ขณะ บางคน ๓ ขณะ ถ้าพวกอินทรีย์กล้า ปัญญาแก่กล้า เกิด ๓ ขณะ ถ้าปัญญาไม่กล้ามากก็เกิด ๒ ขณะ จะล้างกิเลสได้เท่ากันนะ แต่ความรู้ความเข้าใจก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น มรรคเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ผลเกิดขึ้นแล้วก็ดับ สิ่งที่ไม่ดับมีแต่นิพพาน ธรรมะมี ๒ ส่วน ส่วนที่ปรุงแต่ง กับไม่ปรุงแต่ง ส่วนที่ปรุงแต่งก็มีสองส่วนนะ ส่วนที่เป็นโลกียะ กับส่วนที่พ้นจากโลกียะเป็นโลกุตระ ธรรมะส่วนของโลกียะเนี่ย เป็นสิ่งที่พวกเรามีอยู่แล้ว ธรรมะในส่วนของโลกุตระของเรายังไม่เกิด คือ มรรค ผล ยังไม่เกิด แต่ธรรมะในส่วนของอสังขตะ คือนิพพาน มีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วแต่ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะว่าจิตเราไม่มีคุณภาพพอ จิตมันมีคุณภาพระดับไหน ก็เห็นธรรมะระดับนั้น ถ้าจิตคุณภาพสูง ก็เห็นธรรมะระดับสูง จิตพ้นจากความปรุงแต่ง ก็เห็นธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง จิตยังปรุงแต่งอยู่ ก็เห็นธรรมะที่ปรุงแต่งอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆเลย วันไหนจิตใจเราหดหู่นะ โลกทั้งโลกดูหดหู่ไปหมดเลย นิพพานมีอยู่แล้วนะ นิพพานไม่ได้เกิดขึ้น เพียงแต่เราไม่เห็น วันใดใจของเราพ้นจากการปรุงแต่ง เราก็เห็นนิพพาน วันใดใจเราปรุงแต่งเราก็ไม่เห็นหรอก เพราะฉะนั้นเมื่อใดพ้นความปรุงแต่งก็เห็นเหมือนอย่างในโลก วันใดจิตใจเราหดหู่นะ โลกก็หดหู่ด้วย ใจเรานี้แหละสร้างโลก คล้ายๆใส่แว่นตาเข้าไป ใส่สีชมพูโลกก็สีชมพู ใส่สีมืดๆหน่อย โลกก็มืดๆหน่อย ใจเราเป็นอย่างไรเราก็เห็นธรรมะระดับนั้น ใจเราชั่วเราก็เห็นแต่เรื่องชั่วๆ ใจเราดีขึ้นมาก็เห็นของดี ในความวุ่นวายก็ยังเห็นของดีได้นะ ถ้าใจของเราดีพออย่างเห็นคนเขาประท้วง คนเขาตีกัน เผาบ้านเผาเมือง นี่เห็นเรื่องไม่ดี ถ้าใจของเรามีคุณภาพพอเราก็เห็น โลกนี้เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เป็นไปอย่างที่ปราถนา ปราถนาสันติภาพมันไม่มี ปราถนาให้คนสามัคคีกันมันไม่มี กลับไปเห็นธรรมะได้ นี่ใจถ้ามีคุณภาพพอ เพราะฉะนั้นถ้าใจเราพ้นความปรุงแต่ง เราก็เห็นธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง เห็นนิพพานได้ อยู่ที่ใจเรานี่เองใจนี้เป็นคนสร้างโลก สร้างภพ กระทั่งพ้นโลกพ้นภพแล้ว คือ พระนิพพาน ก็อาศัยใจนี้แหละไปรู้ ถ้ามีคุณภาพพอก็รู้ได้ ไม่มีคุณภาพก็ไม่รู้หรอก ให้เรามาฝึกจิตฝึกใจ
(พระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชโช แสดงธรรมที่สวนสันติธรรมเมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนฉันเช้าระหว่างนาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๑๕ ถึงนาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๑๕)

คาถาธรรมบท

คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรค
ความไม่ประมาท เป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว บัณฑิตทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาททราบเหตุนั่นโดยความแปลกกันแล้ว ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาทยินดีแล้วในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ เพ่งพินิจ มีความเพียรเป็นไปติดต่อมีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานอันสะอาดผู้ใคร่ครวญแล้วจึงทำผู้สำรวมระวัง ผู้เป็นอยู่โดยธรรม และผู้ไม่ประมาทผู้มีปัญญาพึงทำที่พึ่งที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่นความไม่ประมาท ความสำรวมระวัง และความฝึกตน ชนทั้งหลายผู้เป็นพาลมีปัญญาทราม ย่อมประกอบตามความประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด ท่านทั้งหลายอย่าประกอบตามความประมาทอย่าประกอบการชมเชยด้วยสามารถความยินดีในกามเพราะว่าคนผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์เมื่อใด บัณฑิตย่อมบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาทเมื่อนั้นบัณฑิตผู้มีความประมาทอันบรรเทาแล้วนั้น ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท ไม่มีความโศก ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความโศก นักปราชญ์ย่อม พิจารณาเห็นคนพาล เหมือนบุคคลอยู่บนภูเขามองเห็นคนผู้อยู่ที่ภาคพื้นฉะนั้น ผู้มีปัญญาดี เมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมไม่ประมาทเมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ ย่อมตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคลเห็นปานนั้นไป ประดุจม้ามีกำลังเร็วละม้าไม่มีกำลังไป ฉะนั้นท้าวมัฆวาฬถึง ความเป็นผู้ประเสริฐ ที่สุดกว่า เทวดาทั้งหลายด้วยความไม่ประมาทบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทบัณฑิตติเตียนทุกเมื่อ ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป ดังไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไป ฉะนั้นภิกษุผู้ยินดีแล้วในความไม่ประมาทหรือเห็นภัยใน ความประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อมรอบ ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว ฯ

คาถาธรรมบท จิตตวรรค
นักปราชญ์ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอกรักษาได้โดยยากห้ามได้โดยยาก ให้ตรง ดังช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้นจิตนี้อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัย คือเบญจกามคุณเพียงดังน้ำซัดไปในวิปัสสนากรรมฐานเพียงดังบก เพื่อจะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรนดุจปลาอันชาวประมง ยกขึ้นแล้วจากที่อยู่คือน้ำโยนไปแล้วบนบกดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น การฝึกฝนจิตที่ข่มได้ยาก อันเร็ว มีปรกติตกไปในอารมณ์อันบุคคลพึงใคร่อย่างไร เป็นความดี เพราะว่าจิตที่บุคคลฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ นักปราชญ์พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยากละเอียดอ่อนมีปกติตกไปตามความใคร่ เพราะว่าจิตที่บุคคลคุ้มครองแล้วนำสุขมาให้ ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตอันไปในที่ไกล ดวงเดียวเที่ยวไปหาสรีระมิได้ มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์แก่บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้แจ่มแจ้งซึ่งพระสัทธรรมมีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย ภัยย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ ผู้มีจิตอันราคะไม่รั่วรด ผู้มีใจอันโทสะไม่ตามกระทบแล้วผู้มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ผู้ตื่นอยู่ กุลบุตรทราบกายนี้ว่าเปรียญด้วยหม้อแล้วพึงกั้นจิตนี้ให้เปรียบเหมือนนครพึงรบมารด้วยอาวุธคือ ปัญญา อนึ่งพึงรักษาตรุณวิปัสสนาที่ตนชนะแล้ว และไม่พึงห่วงใย กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้วมีวิญญาณปราศแล้วไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน ประดุจท่อนไม้ไม่มีประโยชน์โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจก ก็หรือคนมีเวรเห็นคนผู้คู่เวรกันพึงทำความฉิบหาย และความทุกข์ใดให้จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิดพึงทำบุคคลนั้นให้เลวยิ่งกว่าความฉิบหายและความทุกข์นั้นมารดาบิดาไม่พึงทำเหตุนั้นได้ หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ไม่พึงทำเหตุนั้นได้ จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้วพึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น ฯ

คาถาธรรมบท ปุปผวรรค
ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ใครจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้พร้อมกับเทวโลก ใครจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาด เลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้น พระเสขะจักรู้แจ้งแผ่นดินพระเสขะจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้พร้อมกับเทวโลก พระเสขะจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้นภิกษุทราบกายนี้ว่า เปรียบด้วยฟองน้ำ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะกายนี้ว่ามีพยับแดดเป็นธรรม ตัดดอกไม้อันเป็นประธานของมารแล้ว พึงไปสู่ที่ที่มัจจุราชไม่เห็น มัจจุย่อมจับนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายนั่นเทียวไปเหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดบ้านอันหลับแล้วไป ฉะนั้น มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุดย่อมทำนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลาย ไม่อิ่มแล้วในกามคุณนั่นแล ไว้ในอำนาจ ภมรไม่ยังดอกไม้อันมีสีให้ชอกช้ำ ลิ้มเอาแต่รสแล้วย่อมบินไป แม้ฉันใดมุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น บุคคลไม่พึงใส่ใจคำแสลงหูของชนเหล่าอื่น ไม่พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของชนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น ดอกไม้งามมีสีแต่ไม่มีกลิ่นแม้ฉันใดวาจาสุภาษิตย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำ ฉันนั้น ดอกไม้งามมีสีมีกลิ่นแม้ฉันใด วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำดี ฉันนั้นนายมาลาการพึงทำกลุ่มดอกไม้ให้มาก แต่กองแห่งดอกไม้แม้ฉันใดสัตว์ [ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ] ผู้เกิดแล้วพึงทำกุศลให้มากฉันนั้น กลิ่นดอกไม้ย่อมฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์หรือกฤษณาและกะลำพัก ย่อมฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษย่อมฟุ้งทวนลมไปได้เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทั่วทิศ กลิ่นคือศีลเป็นเยี่ยมกว่าคันธชาติเหล่านี้ คือจันทน์ กฤษณา ดอกบัว และมะลิ กลิ่นกฤษณาและจันทน์นี้ เป็นกลิ่นมีประมาณน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลายเป็นกลิ่นสูงสุด ย่อมฟุ้งไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วมีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาทผู้พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ดอกปทุมมีกลิ่นหอม พึงเกิดในกองแห่งหยากเยื่ออันเขาทิ้งแล้วในใกล้ทางใหญ่นั้น ย่อมเป็นที่รื่นรมย์ใจฉันใด พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นเพียงดั่งกองหยากเยื่อ ย่อมไพโรจน์ล่วงปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นดังคนบอดด้วยปัญญา ฉันนั้น ฯ

คาถาธรรมบท พาลวรรค
ราตรียาวแก่คนผู้ตื่นอยู่ โยชน์ยาวแก่คนผู้เมื่อยล้า สงสารยาวแก่คนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ถ้าว่าบุคคลเมื่อเที่ยวไปไม่พึงประสบสหายประเสริฐกว่าตน หรือสหายผู้เช่นด้วยตนไซร้ บุคคลนั้นพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่น เพราะว่าคุณเครื่องความเป็นสหาย ย่อมไม่มีในคนพาล คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ดังนี้ตนนั่นแลย่อมไม่มีแก่ตน บุตรทั้งหลายแต่ที่ไหน ทรัพย์แต่ที่ไหน ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นพาล ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมเหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้นถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลันเหมือนลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น คนพาลมีปัญญาทราม มีตนเหมือนข้าศึกเที่ยวทำบาปกรรมอันมีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ย่อมเสพผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแลทำแล้วเป็นดี บุคคลอันปีติโสมนัสเข้าถึงแล้ว [ด้วยกำลังแห่งปีติ] [ด้วยกำลังแห่งโสมนัส]ย่อมเสพผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นดี คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำหวาน ตลอดกาลที่บาปยังไม่ให้ผลแต่บาปให้ผลเมื่อใดคนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น คนพาลถึงบริโภคโภชนะด้วยปลายหญ้าคาทุกเดือนๆ เขาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว๑๖ หน ของพระอริยบุคคลทั้งหลายผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว ก็บาปกรรมบุคคลทำแล้วยังไม่แปรไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไปฉะนั้นบาปกรรมนั้นย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดแล้ว ฉะนั้นความรู้นั้นย่อมเกิดแก่คนพาลเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์อย่างเดียว ความรู้ยังปัญญาชื่อว่ามุทธาของเขาให้ฉิบหายตกไป ย่อมฆ่าส่วนแห่งธรรมขาวของคนพาลเสียภิกษุผู้เป็นพาล พึงปรารถนาความสรรเสริญอันไม่มีอยู่ความห้อมล้อมในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในอาวาส และการบูชาในสกุลของชนเหล่าอื่น ความดำริย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุพาลว่า คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองฝ่าย จงสำคัญกรรมที่บุคคลทำแล้วว่า เพราะอาศัยเราผู้เดียว คฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นจงเป็นไปในอำนาจของเราผู้เดียว ในบรรดากิจน้อยและกิจใหญ่ทั้งหลาย กิจอะไรๆ อิจฉา[ความริษยา]มานะ [ความถือตัว] ย่อมเจริญแก่ภิกษุพาลนั้น ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ารู้ยิ่งแล้ว ซึ่งปฏิปทา ๒ อย่างนี้ว่า ปฏิปทาอันเข้าอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพานเป็นอย่างหนึ่งดังนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนืองๆ ฯ

คาถาธรรมบท ปัณทิตวรรค
บุคคลพึงเห็นบุคคลใดผู้มักชี้โทษ เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ มักกล่าวข่มขี่ มีปัญญา พึงคบบุคคลผู้เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณที่ประเสริฐโทษที่ลามกย่อมไม่มี บุคคลพึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอนและพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษก็บุคคลนั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษบุคคลไม่ควรคบมิตรเลวทราม ไม่ควรคบบุรุษอาธรรม์ควรคบมิตรดี ควรคบบุรุษสูงสุด บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรมมีใจผ่องใสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศร พวกช่างถากย่อมถากไม้บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกฝนตน ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น ห้วงน้ำลึกใสไม่ขุ่นมัว แม้ฉันใด บัณฑิตย์ทั้งหลายฟังธรรมแล้วย่อมผ่องใส ฉันนั้นสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรมทั้งปวงโดยแท้ สัตบุรุษทั้งหลายหาใคร่กามบ่นไม่ บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการสูงๆ ต่ำๆ บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน ไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งผู้อื่น ไม่พึงปรารถนาบุตร ไม่พึงปรารถนาทรัพย์ ไม่พึงปรารถนาแว่นแคว้น ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จแก่ตนโดยไม่ชอบธรรมบัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีลมีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ในหมู่มนุษย์ชนผู้ที่ถึงฝั่งมีน้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ก็ชนเหล่าใดแล ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระสุคตเจ้าตรัสแล้วโดยชอบชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมารที่ข้ามได้โดยยาก แล้วจักถึงฝั่ง บัณฑิตออกจากอาลัยแล้ว อาศัยความไม่มีอาลัยละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว บัณฑิตพึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้โดยยาก ละกามทั้งหลายแล้วไม่มีกิเลสเครื่องกังวล พึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิตชนเหล่าใดอบรมจิตด้วยดีโดยชอบ ในองค์แห่งธรรมสามัคคีเป็นเครื่องตรัสรู้ ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในการสละคืนความถือมั่นชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้วมีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลก ฯ

คาถาธรรมบท อรหันตวรรค
ความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีทางไกลอันถึงแล้ว ผู้มีความโศกปราศไปแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ผู้มีกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงอันละได้แล้ว ท่านผู้มีสติย่อมขวนขวายท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนหงส์สละเปือกตมไป ฉะนั้น ชนเหล่าใดไม่มีการสั่งสมมีโภชนะอันกำหนดแล้ว มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร คติของชนเหล่านั้น รู้ได้โดยยาก เหมือนคติฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ภิกษุใดมีอาสวะสิ้นแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้วในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร รอยเท้าของภิกษุนั้นไปตามได้โดยยากเหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น อินทรีย์ของภิกษุใดถึงความสงบระงับเหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุนั้น ผู้มีมานะอันละได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่ภิกษุผู้มีอาสวะสิ้นแล้วมีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้คงที่ เปรียบดังเสาเขื่อน มีวัตรดีปราศจากกิเลสเพียงดังเปือกตม ผ่องใส เหมือนห้วงน้ำที่ปราศจากเปือกตมมีน้ำใส ย่อมไม่พิโรธ สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้คงที่ มีอาสวะสิ้นแล้ว เช่นนั้น ใจ วาจาและกายกรรมของภิกษุผู้ขีณาสพนั้น ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สงบระงับ คงที่ เป็นธรรมชาติสงบแล้ว นรชนใดไม่เชื่อต่อผู้อื่น รู้นิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ทำไม่ได้ ผู้ตัดที่ต่อมีโอกาสอันขจัดแล้ว มีความหวังอันคลายแล้ว นรชนนั้นแลเป็นบุรุษผู้สูงสุด พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใดคือบ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน ที่นั้นเป็นภาคพื้นอันบุคคลพึงรื่นรมย์ ชนไม่ยินดีในป่าเหล่าใด ป่าเหล่านั้น ควรรื่นรมย์ ผู้มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จักยินดีในป่าเห็นปานนั้น เพราะว่าท่านไม่ใช่ผู้แสวงหากาม ฯ

ธรรมบท ยมกวรรค
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตามทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตามทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริต ๓ อย่างเหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเราคนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่าคนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวรธรรมนี้เป็นของเก่า ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึก ความหมายมั่นย่อมระงับจากชนเหล่านั้น มารย่อมรังควาญบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่างาม ผู้ไม่สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลว เหมือนลมระรานต้นไม้ที่ทุรพลฉะนั้น มารย่อมรังควาญไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่สำรวมดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา ปรารภความเพียร เหมือนลมระรานภูเขาหินไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ใดยังไม่หมดกิเลสดุจน้ำฝาดปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งห่มผ้ากาสายะผู้นั้นไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ส่วนผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้วตั้งมั่นแล้วในศีลประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระและมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดีฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่บุคคลมุงดี ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้วฉันนั้น บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเศร้าโศกบุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อนผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง บุคคลผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่าบาปเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนโดยยิ่งผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้าย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่าบุญอันเราทำไว้แล้ว ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อยย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้วไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ

คาถาธรรมบท สหัสสวรรค
หากว่าวาจาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้บทอันเป็นประโยชน์บทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประเสริฐกว่า คาถาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้ คาถาบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบประเสริฐกว่าก็บุคคลใดพึงกล่าวคาถา ประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ตั้งร้อย บทธรรมบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบประเสริฐกว่า บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพัน ในสงครามบุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงครามส่วนบุคคลใดพึงชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงครามตนแลอันบุคคลชนะแล้วประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจักประเสริฐอะไร เพราะว่า เทวดา คนธรรพ์ มารกับทั้งพรหมพึงทำความชนะของบุรุษผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีปกติประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ ผู้เป็นสัตว์เกิดเห็นปานนั้นให้กลับแพ้ไม่ได้ ก็การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การบูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร ก็การบูชา ของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่งแล แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าผู้บำเรอไฟในป่าตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร บุคคลผู้มุ่งบุญพึงบูชายัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกตลอดปีหนึ่ง ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว [ทาน] นั้น แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ถึงส่วนที่ ๔แห่งการอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย การอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย ประเสริฐกว่า ธรรม ๔ ประการคือ อายุวรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์ ก็บุคคลผู้มีศีลเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ทุศีล มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไร้ปัญญามีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นอมตบทมีชีวิตอยู่ร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุดมีชีวิตอยู่ร้อยปี

คาถาธรรมบท ปาปวรรค
บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้นเพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผลบุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย[พอประมาณ] จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด]คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มากเว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ ผู้ใดย่อมประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนบาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาลดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามกย่อมเข้าถึงนรกผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพานอากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ไม่มีเลย อากาศท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไปส่วนแห่งแผ่นดิน ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ

คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค
ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญาสัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา ชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตนย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมได้ความสุขในโลกหน้าท่านอย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าวแล้วพึงกล่าวตอบท่านเพราะว่าถ้อยคำแข็งดีให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องท่านถ้าท่านไม่ยังตนให้หวั่นไหวดุจกังสดาลถูกขจัดแล้ว ท่านนี้จะเป็นผู้ถึงนิพพานความแข็งดีย่อมไม่มีแก่ท่าน นายโคบาลย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน ด้วยท่อนไม้ฉันใด ความแก่และความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไปฉันนั้น คนพาลผู้ไร้ปัญญาทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้สึก ภายหลังย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้ ฉะนั้นผู้ใดย่อมประทุษร้ายในพระขีณาสพผู้ไม่มีอาชญา ผู้ไม่ประทุษร้าย ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเหตุแห่งทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งพลันทีเดียว คือเวทนาหยาบช้า ความเสื่อมทรัพย์ ความแตกแห่งสรีระอาพาธหนัก ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความขัดข้องแต่พระราชาการกล่าวตู่อันร้ายแรง ความสิ้นญาติ ความย่อยยับแห่งโภคะทั้งหลาย หรือไฟย่อมไหม้เรือนของเขา เมื่อตายไป เขาผู้ไร้ปัญญาย่อมเข้าถึงนรก ความประพฤติเปลือย การทรงชฎาการนอนที่เปือกตม การไม่กินข้าว หรือการนอนเหนือแผ่นดิน ความคลุกคลีด้วยธุลี ความเพียรอันปรารภด้วยความเป็นคนกระโหย่ง ยังสัตว์มีความสงสัยอันข้ามไม่ได้แล้วให้หมดจดไม่ได้ ถ้าแม้บุคคลผู้ประดับแล้ว เป็นผู้สงบ ฝึกแล้วเที่ยงแล้ว เป็นผู้ประพฤติ ธรรมอันประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก แล้วพึงประพฤติสม่ำเสมอไซร้ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสมณะบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ บุรุษผู้เกียดกันอกุศลวิตกด้วยหิริ มีอยู่ในโลกน้อยคน บุรุษผู้บรรเทาความหลับตื่นอยู่ ดุจม้าที่เจริญหลบแส้ หาได้ยากม้าที่เจริญถูกนายสารถีเฆี่ยนด้วยแส้ย่อมทำความเพียร ฉันใด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีความเพียรมีความสังเวช ฉันนั้นเถิด เธอทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และการวินิจฉัยธรรมเป็นผู้มีวิชชาและจรณะอันสมบูรณ์ เป็นผู้มีสติ จักละทุกข์มีประมาณไม่น้อยนี้เสียได้ ก็พวกใช้น้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศรพวกช่างถากย่อมถากไม้ ผู้มีวัตรอันงามย่อมฝึกตน ฯ

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คำถามและคำตอบแนวการปฏิบัติธรรม โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
.
พระสุญฺโญฺภิกขุ พระภิกษุชาวอเมริกัน จดบันทึกเป็นภาษาอังกฤษเมื่อลาสิกขาแล้ว ท่านได้พิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน ต่อมามีผู้แปลเป็นภาษาไทยและหลวงพ่อชาให้พระวีรพล เตชปญฺโญ แห่งวัดหนองป่าพง สอบทานแล้วจึงได้พิมพ์ฉบับภาษาไทย

๑. ผมได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติกรรมฐานแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย

เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติ ความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้น จะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่านจากการหลุดพ้น ท่านจะเพียรพยายามอย่างหนักตามใจท่านก็ได้ จะเร่งความเพียรทั้งกลางคืนกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความอยากที่จะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่าน จะไม่มีทางที่จะพบความสงบได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยและความกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัติมานานเท่าใดหรือหนักเพียงใด ปัญญา (ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียรแต่ละความอยากเสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง

๒. เรื่องการหลับนอน ควรจะนอนมากน้อยเพียงใด

อย่าถามผมเลย ผมตอบให้ไม่ได้ บางคนหลับนอนคืนละประมาณ ๔ ชั่วโมงก็พอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือ ท่านเฝ้าดูและรู้จักตัวของท่านเอง ถ้าท่านนอนน้อยจนเกินไป ท่านก็จะไม่สบายกาย ทำให้คุมสติไว้ได้ยาก ถ้านอนมากเกินไป จิตใจก็จะตื้อเฉื่อยชาหรือซัดส่าย จงหาสภาวะที่เหมาะกับตัวท่านเอง ตั้งใจเฝ้าดูกายและจิต จนท่านรู้ระยะเวลาหลับนอนที่พอเหมาะสำหรับท่าน ถ้าท่านรู้สึกตัวตื่นแล้ว และยังซุกของีบต่อไปอีก นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จงมีสติรู้ตัวทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้น

๓. เรื่องการขบฉัน ควรจะฉันอาหาร มากน้อยเพียงใด

การขบฉันก็เหมือนกับการหลับนอน ต้องรู้จักตัวของท่านเอง อาหารต้องบริโภคให้เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย จงมองอาหารเหมือนยารักษาโรค ฉันมากไปจนง่วงนอนหลังฉันอาหารหรือเปล่า อ้วนขึ้นทุกวันหรือเปล่า จงหยุดแล้วสำรวจกายและจิตของท่าน ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร จงทดลองฉันอาหารตามปริมาณมากน้อยต่างๆ หาปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย ใส่อาหารที่จะฉันทั้งหมดลงในบาตรตามแบบธุดงควัตร แล้วท่านจะกะปริมาณอาหารที่จะฉันได้ง่าย เฝ้าดูตัวท่านเองอย่างถี่ถ้วนขณะที่ฉัน จงรู้จักตัวเอง สาระสำคัญของการฝึกปฏิบัติของเราเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรพิเศษที่ต้องทำไปมากกว่านี้ จงเฝ้าดูเท่านั้น สำรวจตัวท่านเอง เฝ้าดูจิต แล้วท่านจึงจะรู้ว่า อะไรคือสภาวะที่พอเหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของท่าน

๔. จิตของชาวเอเชียและชาวตะวันตกแตกต่างกันหรือไม่

โดยพื้นฐานแล้วไม่แตกต่างกัน ดูจากภายนอกขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาที่ใช้อาจดูต่างกัน แต่จิตของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติซึ่งเหมือนกันหมด ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ความโลภและความเกลียดก็มีเหมือนกัน ทั้งในจิตของชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก ความทุกข์และความดับแห่งทุกข์ก็เหมือนกันในทุกๆคน

๕. เราควรอ่านตำรับตำรามากๆ หรือศึกษาพระไตรปิฎกด้วยหรือไม่ ในการฝึกปฏิบัติ

พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ไม่อาจค้นพบได้ด้วยตำราต่างๆถ้าท่านต้องการจะรู้เห็นจริงด้วยตัวของท่านเองว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ท่านไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับตำรับตำราเลย จงเฝ้าดูจิตของท่านเอง พิจารณาให้รู้เห็นว่า ความรู้สึกต่างๆ เวทนานั้น เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร ความนึกคิดเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย จงมีสติอยู่เสมอ เมื่อไม่มีอะไรหรือมีอะไรเกิดขึ้น จะได้รู้ได้เห็น นี่คือทางที่จะบรรลุถึงสัจธรรมของพระพุทธองค์ จงเป็นปกติธรรมดาตามธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำขณะอยู่ที่นี่เป็นโอกาสแห่งการฝึกปฏิบัติ เป็นธรรมะทั้งหมด เมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์อยู่ พยายามให้มีสติ ถ้าท่านกำลังเทกระโถนหรือล้างส้วมอยู่ อย่าคิดว่าท่านกำลังทำบุญทำคุณให้กับผู้หนึ่งผู้ใด มีธรรมะอยู่ในการเทกระโถนนั้น อย่ารู้สึกว่าท่านกำลังฝึกปฏิบัติอยู่เฉพาะเวลานั่งขัดสมาธิเท่านั้น พวกท่านบางคนบ่นว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำสมาธิภาวนา แล้วเวลาหายใจเล่ามีเพียงพอไหม? การทำสมาธิภาวนาของท่าน คือการมีสติระลึกรู้ และการรักษาจิตให้เป็นปกติตามธรรมชาติในการกระทำทุกอิริยาบถ

๖. ทำไมพวกเราจึงไม่มีการสอบอารมณ์กับอาจารย์ทุกวัน

ถ้าท่านมีคำถาม เชิญมาถามได้ทุกเวลา แต่ที่นี่เราไม่จำเป็นจะต้องมีการสอบอารมณ์กันทุกวัน ถ้าตอบปัญหาเล็กๆน้อยๆทุกปัญหาของท่าน ท่านก็จะไม่มีทางรู้เท่าทันถึงการเกิดดับของความสงสัยในใจท่าน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจตัวท่านเอง สอบถามตัวท่านเอง จงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาทุกๆครั้งแล้วจงนำเอาคำสอนนี้ไปเปรียบเทียบกับการฝึกปฏิบัติของท่านเองว่าเหมือนกันหรือไม่ ต่างกันหรือไม่ ทำไมท่านจึงมีความสงสัยอยู่ ใครคือผู้ที่สงสัยนั้น โดยการสำรวจตัวเองเท่านั้น จะทำให้ท่านเข้าใจได้

๗. บางครั้งกังวลใจอยู่กับพระวินัยของพระสงฆ์ ถ้าหากฆ่าแมลง โดยบังเอิญแล้ว จะผิดไหม

ศีลหรือพระวินัยและศีลธรรม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฝึกปฏิบัติของเรา แต่ท่านต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างงมงาย ในการฆ่าสัตว์ หรือการละเมิดข้อห้ามอื่นๆนั้น มันสำคัญที่เจตนา ท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจของท่านเอง อย่าได้กังวลกับเรื่องพระวินัยให้มากจนเกินไป ถ้านำมาปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยส่งเสริมการฝึกปฏิบัติ แต่พระภิกษุบางรูปกังวลกับกฎเกณฑ์เล็กๆน้อยๆมากเกินไปจนนอนไม่เป็นสุข พระวินัยไม่ใช่ภาระที่ต้องแบก ในการปฏิบัติของเราที่นี่มีรากฐานคือพระวินัย พระวินัยรวมทั้งธุดงควัตรและการปฏิบัติภาวนา การมีสติและการสำรวมระวังในกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนในศีล ๒๒๗ ข้อนั้น ให้คุณประโยชน์อันใหญ่หลวง ทำให้มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ต้องพะวงว่าจะต้องทำตนอย่างไร ดังนั้นท่านก็หมดเรื่องต้องครุ่นคิด และมีสติดำรงอยู่แทน พระวินัยทำให้พวกเราอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน และชุมชนก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น ลักษณะภายนอกทุกๆคนดูเหมือนกัน และปฏิบัติอย่างเดียวกัน พระวินัยและศีลธรรม เป็นบันไดอันแข็งแกร่ง นำไปสู่สมาธิยิ่งและปัญญายิ่ง โดยการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระวินัยของพระสงฆ์และธุดงควัตร ทำให้เรามีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆและต้องจำกัดจำนวนบริขารของเราด้วย ดังนั้น ที่นี่เราจึงมีการปฏิบัติที่ครบถ้วนตามแบบของพระพุทธเจ้า คือ การงดเว้นจาก ความชั่วและทำความดี มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ชำระจิตให้บริสุทธิ์ โดยการเฝ้าดูจิตและกายของเราในทุกๆอิริยาบถ เมื่อนั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ หรือนอนอยู่ จงรู้ตัวของท่านเอง

๘. จะทำอย่างไรเมื่อผมสงสัย บางวันวุ่นวายใจด้วยความสงสัยในเรื่องการปฏิบัติ หรือในความคืบหน้าหรือในอาจารย์

ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น ที่สำคัญก็คือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตัวเป็นตน นั่นคืออย่าตกเป็นเหยื่อของความสงสัย ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จงเฝ้าดูกระบวนการเกิดดับของความสงสัย ของความฉงนสนเท่ห์ ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะหลุดพ้นออกจากความสงสัย และจิตของท่านก็จะสงบ ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร จงปล่อยวางสิ่งต่างๆที่ท่านยังยึดมั่นอยู่ ปล่อยวางความสงสัยของท่าน และเพียงแต่เฝ้าดู นี่คือที่สิ้นสุดของความสงสัย

๙. ท่านอาจารย์มีความเห็นเกี่ยวแก่วิธีฝึกปฏิบัติ วิธีภาวนา วิธีอื่นๆอย่างไร ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะมีอาจารย์มากมาย และมีแนวทางการทำสมาธิวิปัสสนาหลายแบบ จนทำให้สับสน

มันก็เหมือนกับการจะเข้าไปในเมือง บางคนอาจจะเข้าเมืองทางทิศเหนือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทางถนนหลายสาย โดยมากแล้วแนวทางภาวนาก็แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางสายหนึ่งสายใด เดินช้าหรือเดินเร็ว ถ้าท่านมีสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือแนวทางภาวนาที่ดีและถูกต้อง จะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้ว ก็ต้องปล่อยวางแนวทางภาวนาทุกรูปแบบด้วย ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ในตัวอาจารย์แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ท่านอาจจะอยากเดินทางไปศึกษาอาจารย์ท่านอื่น และลองปฏิบัติตามแนวทางอื่นบ้างก็ได้ พวกท่านบางคนก็ทำเช่นนั้น นี่เป็นความต้องการตามธรรมชาติ ท่านจะรู้ว่าแม้ได้ถามคำถามนับพันคำถามก็แล้ว และมีความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติอื่นๆก็แล้ว ก็ไม่อาจจะนำท่านเข้าถึงสัจธรรมได้ ในที่สุดท่านก็ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ท่านจะรู้ว่าเพียงแต่หยุด และสำรวจตรวจสอบดูจิตของท่านเองเท่านั้น ท่านก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาออกไปนอกตัวเอง ผลที่สุดท่านต้องหันกลับมาเผชิญหน้ากับสภาวะที่แท้จริงของตัวท่านเอง ตรงนี้แหละที่ท่านจะเข้าใจธรรมะได้

๑๐. มีหลายครั้งหลายหนที่ดูเหมือนว่าพระหลายรูปที่นี่ไม่ฝึกปฏิบัติ ดูท่านไม่ใส่ใจทำหรือขาดสติ เรื่องนี้กวนใจมาก

มันไม่ถูกต้องที่จะคอยจับตาดูผู้อื่น นี่ไม่ช่วยการฝึกปฏิบัติของท่านเลย ถ้าท่านรำคาญใจก็จงเฝ้าดูความรำคาญในใจของท่าน ถ้าศีลของผู้อื่นบกพร่อง หรือเขาเหล่านั้นไม่ใช่พระที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องของท่านที่จะไปตัดสิน ท่านจะไม่เกิดปัญญาจากการจับตาดูผู้อื่น พระวินัยเป็นเครื่องช่วยในการทำสมาธิภาวนาของท่าน ไม่ใช่อาวุธสำหรับใช้ติเตียนหรือจับผิดผู้อื่น ไม่มีใครสามารถฝึกปฏิบัติให้ท่านได้ หรือท่านก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผู้อื่นได้ จงมีสติใส่ใจในการฝึกปฏิบัติของตัวท่านเอง และนี่คือแนวทางของการปฏิบัติ

๑๑. ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะสำรวมอินทรีย์ ทอดสายตาลงต่ำเสมอ และกำหนดสติอยู่กับการกระทำทุกอย่าง แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นขณะที่กำลังฉันอาหารอยู่ ใช้เวลานาน และพยายามรู้สัมผัสทุกอย่าง เป็นต้นว่า เคี้ยวรู้รส กลืนรู้รส กำหนดรู้ ด้วยความตั้งใจทุกขั้นตอน และระมัดระวัง แบบนี้ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่

การสำรวมอินทรีย์นั้น เป็นการปฏิบัติถูกต้องแล้ว เราจะต้องมีสติในการฝึกเช่นนั้นตลอดทั้งวัน แต่อย่าควบคุมให้มากเกินไป เดิน ฉัน และปฏิบัติตนให้เป็นธรรมชาติ ให้มีสติระลึกรู้ตามธรรมชาติ ถึงสิ่งที่กำลังเป็นไปในตัวท่าน อย่าบีบบังคับการทำสมาธิภาวนาของท่านและอย่าบีบบังคับตนเองไปจนดูน่าขัน ซึ่งก็เป็นตัณหาอีกอย่างหนึ่ง จงอดทน ความอดทนและความทนได้เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าท่านปฏิบัติตนเป็นปกติตามธรรมชาติ และมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ ปัญญาที่แท้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วย

๑๒. จำเป็นไหมที่จะต้องนั่งภาวนาให้นานๆ

ไม่จำเป็นต้องนั่งภาวนานานนับเป็นหลายๆชั่วโมง บางคนคิดว่ายิ่งนั่งภาวนานานเท่าใด ก็จะยิ่งเกิดปัญญามากเท่านั้น เคยเห็นไก่กกอยู่ในรังของมันทั้งวัน นับเป็นวันๆ ปัญญาที่แท้เกิดจากการที่เรามีสติในทุกๆอิริยาบถ การฝึกปฏิบัติของท่านจะต้องเริ่มขึ้นทันทีที่ท่านตื่นนอนตอนเช้า และต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องไปจนกระทั่งนอนหลับไป อย่าไปห่วงว่าท่านจะต้องนั่งภาวนาให้นานๆ สิ่งสำคัญก็คือท่านเพียงแต่เฝ้าดู ไม่ว่าท่านจะเดินอยู่ หรือนั่งอยู่ หรือกำลังเข้าห้องน้ำอยู่ แต่ละคนต่างก็มีทางชีวิตของตนเอง บางคนต้องตาย เมื่อมีอายุ ๕๐ ปี บางคนเมื่ออายุ ๖๕ ปี และบางคนเมื่ออายุ ๙๐ ปี ฉันใดก็ฉันนั้น ปฏิปทาของท่านทั้งหลายก็ไม่เหมือนกัน อย่าคิดมากหรือกังวลใจในเรื่องนี้เลย จงพยายามมีสติ และปล่อยทุกสิ่งให้เป็นไปตามปกติของมัน แล้วจิตของท่านก็จะสงบมากขึ้นๆในสิ่งแวดล้อมทั้งปวง มันจะสงบนิ่งเหมือนหนองน้ำใสในป่า ที่ซึ่งบรรดาสัตว์ป่าที่สวยงามและหายากจะมาดื่มน้ำในสระนั้น ท่านจะเข้าใจถึงสภาวธรรมของสิ่งทั้งปวง เรื่องสังขารในโลกอย่างแจ่มชัด ท่านจะได้เห็นความมหัศจรรย์และแปลกประหลาดทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป แต่ท่านก็จะยังคงสงบอยู่เช่นเดิม ปัญหาทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น แต่ท่านจะรู้ทันมันได้ทันที นี่แหละคือศานติสุขของพระพุทธเจ้า

๑๓. ยังคงมีความนึกคิดต่างๆ มากมาย จิตของฟุ้งซ่านมาก ทั้งๆที่พยายามจะมีสติอยู่

อย่าวิตกในเรื่องนี้เลย พยายามรักษาจิตของท่านให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อเกิดรู้สึกอะไรขึ้นมาภายในจิตก็ตาม จงเฝ้าดูมันและปล่อยวาง อย่าแม้แต่หวังที่จะไม่ให้มีความนึกคิดเกิดขึ้นเลย แล้วจิตก็จะเข้าถึงสภาวะปกติตามธรรมชาติของมัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความดีและความชั่ว ร้อนและหนาว เร็วหรือช้า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีตัวตนเลย อะไรๆก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านเดินบิณฑบาต ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่เดินและเห็นตามที่เป็นอยู่ อย่ายึดมั่นอยู่กับการแยกตัวไปอยู่แต่ลำพัง หรือกับการเก็บตัวไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด จงรู้จักตัวเองด้วยการปฏิบัติตนเป็นปกติตามธรรมชาติ และเฝ้าดู เมื่อเกิดสงสัยจงเฝ้าดูมันเกิดขึ้นและดับไป มันก็ง่ายๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดทั้งสิ้น เหมือนกับว่าท่านกำลังเดินไปตามถนน บางขณะท่านจะพบสิ่งกีดขวางทางอยู่ เมื่อท่านเกิดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จงรู้ทันมันและเอาชนะมันโดยปล่อยให้มันผ่านไปเสีย อย่าไปคำนึงถึงสิ่งกีดขวางที่ท่านได้ผ่านมาแล้ว อย่าวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่ได้พบ จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าสนใจกับระยะทางของถนนหรือกับจุดหมายปลายทางทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าท่านผ่านอะไรไป อย่าไปยึดมั่นไว้ ในที่สุดจิตจะบรรลุถึงความสมดุลตามธรรมชาติของจิต และเมื่อนั้นการปฏิบัติก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นและดับไปในตัวของมันเอง

๑๔. ท่านอาจารย์เคยพิจารณา "สูตรของเว่ยหล่าง" ของพระสังฆปริณายก นิกายเซ็น องค์ที่หก บ้างไหม

ท่านเว่ยหล่าง หรือท่านฮุยเหนิง นั่นเอง ท่านฮุยเหนิงมีปัญญาเฉียบแหลมมาก คำสอนของท่านลึกซึ้งยิ่งนัก ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่ผู้เริ่มต้นปฏิบัติจะเข้าใจได้ แต่ถ้าท่านปฏิบัติตามศีลและด้วยความอดทน และถ้าท่านฝึกที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านก็จะเข้าใจได้ในที่สุด ครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์คนหนึ่งอาศัยอยู่ในกุฏิหลังคามุงแฝก ฤดูฝนนั้นฝนตกชุก และวันหนึ่งพายุก็พัดเอาหลังคาโหว่ไปครึ่งหนึ่ง เขาไม่ขวนขวายที่จะมุงมันใหม่ จึงปล่อยให้ฝนรั่วอยู่อย่างนั้น หลายวันผ่านไป ได้ถามถึงกุฏิของเขา เขาตอบว่ากำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ใช้หัวสมอง มันก็เกือบจะเหมือนกับความวางเฉยของควาย ถ้าท่านมีความเป็นอยู่ดี และเป็นอยู่ง่ายๆ ถ้าท่านอดทนและไม่เห็นแก่ตัว ท่านจึงจะเข้าใจซึ้งถึงปัญญาของท่านฮุยเหนิงได้

๑๕. ท่านอาจารย์เคยสอนว่า สมถะหรือสมาธิ และ วิปัสสนาหรือปัญญานี้ เป็นสิ่งเดียวกัน ขอท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมได้ไหม

นี่ก็เป็นเรื่องง่ายๆนี่เอง สมาธิ (สมถะ) และปัญญา (วิปัสสนา) นี้ต้องควบคู่กันไป เบื้องแรกจิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ได้โดยอาศัยอารมณ์ภาวนา จิตจะสงบตั้งมั่นอยู่ได้เฉพาะขณะที่ท่านนั่งหลับตาเท่านั้น นี่คือสมถะ และอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐานช่วยให้เกิดปัญญา หรือวิปัสสนาได้ในที่สุด แล้วจิตก็จะสงบ ไม่ว่าท่านจะนั่งหลับตาอยู่ หรือเดินอยู่ในเมืองที่วุ่นวาย เปรียบเหมือนกับว่าครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นเด็ก บัดนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่ แล้วเด็กกับผู้ใหญ่นี้เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือเปล่า ท่านอาจจะพูดได้ว่าเป็นคนคนเดียวกัน หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่งท่านก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นคนละคนกัน ในทำนองเดียวกัน สมถะหรือวิปัสสนาก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นคนละเรื่องกัน หรือเปรียบเหมือนอาหารกับอุจจาระ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน และถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนละสิ่งกัน อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่พูดมานี้ จงฝึกปฏิบัติต่อไปและเห็นจริงด้วยตัวของท่านเอง ไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่านี้ ถ้าท่านพิจารณาว่าสมาธิและปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว ท่านจะรู้ความจริงได้ด้วยตัวของท่านเอง ทุกวันนี้ผู้คนไปยึดมั่นอยู่กับชื่อเรียก ผู้ที่เรียกการปฏิบัติของพวกเขาว่า "วิปัสสนา" สมถะก็ถูกเหยียดหยาม หรือผู้ที่เรียกการปฏิบัติของพวกเขาว่า "สมถะ" ก็จะพูดว่า จำเป็นต้องฝึกสมถะก่อนวิปัสสนา เหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ อย่าไปวุ่นวายคิดถึงมันเลย เพียงแต่ฝึกปฏิบัติไป แล้วท่านจะรู้ได้ด้วยตัวท่านเอง

๑๖. ในการปฏิบัติของเรา จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงฌานหรือไม่

ไม่ ฌานไม่ใช่เรื่องจำเป็น ท่านต้องฝึกจิตให้มีความสงบ และมีอารมณ์เป็นหนึ่ง (เอกัคคตา) แล้วอาศัยอันนี้สำรวจตนเอง ไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่านี้ ถ้าท่านได้ฌานในขณะฝึกปฏิบัตินี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่อย่าไป หลงติดอยู่ในฌาน หลายคนชะงักติดอยู่ในฌานมันทำให้เพลิดเพลินได้มากเมื่อไปเล่นกับมัน ท่านต้องรู้ขอบเขตที่สมควร ถ้าท่านฉลาด ท่านก็จะเห็นประโยชน์และขอบเขตของฌานเช่นเดียวกับที่ท่านรู้ขั้นความสามารถของเด็ก และขั้นความสามารถของผู้ใหญ่

๑๗. ทำไมเราต้องปฏิบัติตามธุดงควัตร เช่นฉันอาหารเฉพาะแต่ในบาตรเท่านั้น

ธุดงควัตรทั้งหลาย ล้วนเป็นเครื่องช่วยให้ทำลายกิเลสเครื่องเศร้าหมอง การปฏิบัติตามข้อที่ว่าให้ฉันแต่อาหารในบาตร ทำให้เรามีสติมากขึ้น ระลึกว่าอาหารนั้นเป็นเสมือนยารักษาโรค ถ้าเราไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองแล้ว มันก็ไม่สำคัญว่าเราจะฉันอย่างไร แต่เราอาศัยธุดงควัตรทำให้การปฏิบัติของเราเป็นไปอย่างง่ายๆ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติธุดงควัตรไว้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระภิกษุทุกองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติธุดงควัตรสำหรับพระภิกษุผู้ประสงค์จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ธุดงควัตรเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาในศีล เพราะฉะนั้นช่วยเพิ่มความมั่นคงและความเข้มแข็งของจิตใจเรา ข้อวัตรทั้งหลายเหล่านี้มีไว้ให้ท่านปฏิบัติ อย่าคอยจับตาดูว่าผู้อื่นปฏิบัติอย่างไร จงเฝ้าดูจิตของตัวท่านเอง และดูว่าอะไรจะเป็นประโยชน์สำหรับท่าน กฎข้อที่ว่าเราต้องไปอยู่กุฏิ จะกุฏิใดก็ตามที่กำหนดไว้ให้เรา เป็นกฎที่เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน มันช่วยกันไม่ให้พระติดที่อยู่ถ้าผู้ใดจากไปแล้วและกลับมาใหม่ ก็จะต้องไปอยู่กุฏิใหม่ การปฏิบัติของพวกเราเป็นเช่นนี้ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด

๑๘. ถ้าหากว่า การใส่อาหารทุกอย่างรวมลงในบาตรเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ทำไมท่านอาจารย์จึงไม่ปฏิบัติด้วยเช่นเดียวกัน ท่านคิดว่าไม่สำคัญหรือ ที่อาจารย์จะต้องทำเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์

ถูกแล้ว อาจารย์ควรทำเป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ของตน ไม่ถือว่าท่านติ ท่านซักถามได้ทุกอย่างที่อยากทราบ แต่ว่ามันก็สำคัญที่ท่านต้องไม่ยึดอยู่กับอาจารย์ ถ้าดูจากภายนอก อาจารย์ปฏิบัติดีพร้อมหมดก็คงจะแย่มาก พวกท่านทุกคนก็จะพากันยึดติดในตัวอาจารย์ยิ่งขึ้น แม้พระพุทธเจ้าเอง บางครั้งก็ตรัสให้บรรดาสาวกปฏิบัติอย่างหนึ่ง และพระองค์เองกลับปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ความไม่แน่ใจในอาจารย์ของท่านก็ช่วยท่านได้ ท่านควรเฝ้าดูปฏิกิริยาของตัวเอง ท่านไม่คิดบ้างหรือว่า อาจจะเป็นไปได้ว่าที่อาจารย์แบ่งอาหารจากบาตรใส่จานไว้เพื่อเลี้ยงดูชาวบ้านที่มาช่วยทำงานวัด ปัญญา คือสิ่งที่ท่านต้องเฝ้าดูและทำให้เจริญขึ้น รับเอาแต่สิ่งที่ดีจากอาจารย์ จงรู้เท่าทันการฝึกปฏิบัติของท่านเอง ถ้าอาจารย์พักผ่อนในขณะที่พวกท่านทุกองค์ต้องนั่งทำความเพียรแล้ว ท่านจะโกรธหรือไม่ ถ้าผมเรียกสีน้ำเงินว่าแดง หรือเรียกผู้ชายว่าผู้หญิงก็อย่าเรียกตามผมอย่างหลับหูหลับตา อาจารย์องค์หนึ่งของผมฉันอาหารเร็วมาก และฉันเสียงดัง แต่ท่านสอนให้พวกเราฉันช้าๆ และฉันอย่างมีสติ เคยเฝ้าดูท่านและรู้สึกขัดเคืองใจมาก เป็นทุกข์ แต่ท่านไม่ทุกข์เลย เพ่งเล็งแต่ลักษณะภายนอก ต่อมาจึงได้รู้ว่า บางคนขับรถเร็วมากแต่ระมัดระวัง บางคนขับช้าๆแต่มีอุบัติเหตุบ่อยๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นในกฎระเบียบและรูปแบบภายนอก ถ้าท่านใช้เวลาอย่างมากเพียงสิบเปอร์เซ็นต์มองดูผู้อื่น แต่เฝ้าดูตัวเองเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว แรกๆคอยเฝ้าสังเกตอาจารย์ ก็คือ อาจารย์ทองรัตและเกิดสงสัยในตัวท่านมาก บางคนถึงกับคิดว่าท่านบ้า ท่านมักจะทำอะไรแปลกๆ หรือเกรี้ยวกราดเอากับบรรดาลูกศิษย์ของท่าน อาการภายนอกของท่านโกรธ แต่ภายในใจท่านไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน ท่านน่าเลื่อมใสมาก ท่านเป็นอยู่อย่างรู้แจ้งและมีสติ จนถึงวาระที่ท่านมรณภาพ การมองออกไปนอกตัว เป็นการเปรียบเทียบแบ่งเขาแบ่งเราท่านจะไม่พบความสุขโดยวิธีนี้ และท่านจะไม่พบความสงบเลย ถ้าท่านมัวเสียเวลาแสวงหาคนที่ดีพร้อม หรือครูที่ดีพร้อม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราดูที่ธรรมะ ที่สัจธรรม ไม่ใช่คอยจับตาดูผู้อื่น

๑๙. เราจะเอาชนะกามราคะที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกปฏิบัติได้อย่างไร บางครั้งรู้สึกเป็นทาสของความต้องการทางเพศ

กามราคะจะบรรเทาลงได้ด้วยการเพ่งพิจารณาถึงความน่าเกลียด โสโครก อสุภะ การยึดติดอยู่กับรูปร่างกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองในทางตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อย หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้ และพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามราคะเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้ท่านเอาชนะกามราคะได้

๒๐. เมื่อโกรธ ควรจะทำอย่างไร

ท่านต้องแผ่เมตตา ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนา ให้แก้ด้วยเมตตาจิต ถ้ามีใครทำไม่ดีหรือโกรธ อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้ บางครั้งท่านอาจจะเห็นพระภิกษุรูปอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านอาจจะรำคาญใจ ทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี้ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า "เขาไม่เคร่งเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเช่นฉัน เขาไม่ใช่พระที่ดี" นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองของตัวท่านเอง อย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขา แบ่งเรา จงละทิฏฐิ ของท่านเสีย แล้วเฝ้าดูตัวท่านเอง นี่แหละคือธรรมะของเรา ท่านไม่สามารถบังคับให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านต้องการ หรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตน แล้วท่านก็จะเข้าใจ

๒๑. ง่วงเหงาหาวนอนอยู่มาก ทำให้ภาวนาลำบาก

มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้าตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำถ้าท่านยังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะไปชนอะไรเข้าจะทำให้ท่านหายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่อีก ก็จงยืนนิ่งๆทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นสว่าง เป็นกลางวัน หรือนั่งริมหน้าผาสูง หรือบ่อลึก ท่านจะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างไรๆก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งท่านหลับไป เมื่อท่านรู้สึกตัวตื่นขึ้น จงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาหรือหลับต่ออีก เริ่มต้นมีสติระลึกรู้ทันทีที่ท่านตื่น ถ้าท่านง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารให้น้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีกห้าคำท่านจะอิ่ม จงหยุด แล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูใหม่อีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว ท่านต้องกะฉันอาหารให้พอดี เมื่อท่านฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึกกระปรี้ประเปร่าขึ้นแล้วฉันน้อยลง ท่านต้องปรับตัวของท่านเอง

๒๒. ทำไมเราจึงต้องกราบกันบ่อยๆ ที่นี่

การกราบนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นรูปแบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ การกราบนี้ต้องทำให้ถูกต้อง ก้มลงจนหน้าผากจรดพื้นวางศอกให้ชิดกับเข่า ฝ่ามือทั้งสองราบอยู่ที่พื้น ห่างกันประมาณสามนิ้ว กราบลงช้าๆ มีสติรู้อาการของกาย การกราบช่วยแก้ความถือตัวของเราได้เป็นอย่างดี เราควรกราบบ่อยๆ เมื่อท่านกราบสามหนท่านควรตั้งจิตระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ นั่นคือคุณลักษณะแห่งจิตอันสะอาด สว่าง และสงบ ดังนั้นเราจึงอาศัยรูปแบบนี้ฝึกฝนตน กาย และจิตจะประสาน กลมกลืนกัน อย่าได้หลงผิดไปจับตาดูว่าผู้อื่นกราบอย่างไร ถ้าสามเณรน้อยดูไม่ใส่ใจ และพระผู้เฒ่าดูขาดสติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะตัดสินใจ บางคนอาจจะสอนยาก บางคนเรียนได้เร็ว บางคนเรียนได้ช้า การพิจารณาตัดสินผู้อื่นมีแต่จะเพิ่มความหยิ่งทะนงตน จงเฝ้าดูตัวเอง กราบบ่อยๆ ขจัดความหยิ่งทะนงตนออกไป ผู้ที่เข้าถึงธรรมะได้อย่างแท้จริงแล้ว ท่านจะอยู่เหนือรูปแบบ ทุกๆอย่างที่ท่านทำก็มีแต่การอ่อนน้อมถ่อมตน เดินก็ถ่อม ฉันก็ถ่อมขับถ่ายก็ถ่อม ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านพ้นจากความเห็นแก่ตัวเสียแล้ว

๒๓. อุปสรรคใหญ่ของลูกศิษย์ใหม่ของท่านอาจารย์คืออะไร

ทิฏฐิ ความเห็น และความนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวง เกี่ยวกับตัวเขาเอง เกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนา เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายๆท่านที่มาที่นี่ ต่างมีตำแหน่งการงานสูงในสังคม บางคนเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่ง หรือได้ปริญญาต่างๆ ครูและข้าราชการ สมองของเขาเต็มไปด้วยความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ เขาฉลาดเกินกว่าที่จะฟังผู้อื่น เปรียบเหมือนน้ำในถ้วย ถ้าถ้วยมีน้ำสกปรกอยู่เต็ม ถ้วยน้ำก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เมื่อได้เทน้ำเก่านั้นทิ้งไปแล้วเท่านั้น ถ้วยนั้นก็จะใช้ประโยชน์ได้ ท่านต้องทำจิตให้ว่างจากทิฏฐิ แล้วท่านจึงจะได้เรียนรู้ การปฏิบัติของเรานั้นอยู่เหนือความฉลาดหรือความโง่ ถ้าท่านคิดว่าฉันเก่ง ฉันรวย ฉันเป็นคนใหญ่คนโต ฉันเข้าใจพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งทั้งหมด เช่นนี้แล้ว ท่านจะไม่เห็นความจริงในเรื่องของอนัตตาหรือความไม่ใช่ตัวตน ท่านจะมีแต่ตัวตน ตัวฉัน ของฉัน แต่พระพุทธศาสนาคือการละตัวตน เป็นความว่าง เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นนิพพาน

๒๔. กิเลสเครื่องเศร้าหมอง เช่นความโลภ หรือความโกรธเป็นเพียงมายา หรือเป็นของจริง

เป็นทั้งสองอย่าง กิเลสที่เราเรียกว่าราคะหรือความโลภ ความโกรธ และความหลง นั้นเป็นแต่เพียงชื่อ เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เราเรียกชามใหญ่ ชามเล็ก สวย หรืออะไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สภาพที่เป็นจริง แต่เป็นความคิดปรุงแต่งที่เราคิดปรุงขึ้นจากตัณหา ถ้าเราต้องการชามใหญ่ เราก็ว่าอันนี้เล็กไป ตัณหาทำให้เราแบ่งแยกความจริงก็คือมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ลองมามองแง่นี้บ้าง ท่านเป็นผู้ชายหรือเปล่า ท่านตอบว่าเป็น นี่เป็นเพียงรูปปรากฏของสิ่งต่างๆ แท้จริงแล้ว ท่านเป็นส่วนประกอบของธาตุและขันธ์ ถ้าจิตเป็นอิสระแล้ว จิตจะไม่แบ่งแยก ไม่มีใหญ่ ไม่มีเล็ก ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีอะไรจะเป็นอนัตตา หรือความไม่ใช่ตัวตน แท้จริงแล้วในบั้นปลายก็ไม่มีทั้งอัตตาและอนัตตา เป็นแต่เพียงชื่อเรียก

๒๕. ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรรมด้วย

กรรม คือ การกระทำ กรรม คือการยึดมั่นถือมั่น กาย วาจา และใจ ล้วนสร้างกรรมเมื่อมีการยึดมั่นถือมั่น เราทำกันจนเกิดความเคยชินเป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ในกาลข้างหน้า นี่เป็นผลของการยึดมั่นถือมั่น และของกิเลส เครื่องเศร้าหมองของเราที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ความยึดมั่นทั้งหลายจะทำให้เราสร้างกรรม สมมติว่าท่านเคยเป็นขโมย ก่อนที่จะบวชเป็นพระ ท่านขโมยเขา ทำให้เขาไม่เป็นสุข ทำให้พ่อแม่หมดสุข ตอนนี้ท่านเป็นพระ แต่เวลาที่ท่านนึกถึงเรื่องที่ท่านทำให้ผู้อื่นหมดสุขแล้ว ท่านก็ไม่สบายใจ และเป็นทุกข์ แม้จนทุกวันนี้ จงจำไว้ว่า ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลในอนาคตได้ ถ้าท่านเคยสร้างกรรมดีไว้ในอดีต และวันนี้ก็ยังจำได้ ท่านก็เป็นสุข ความสุขใจเป็นผลจากกรรมในอดีต สิ่งทั้งปวงมีเหตุเป็นปัจจัย ทั้งในระยะยาว และถ้าใคร่ครวญ ดูแล้วทั้งในทุกๆขณะด้วย แต่ท่านอย่าไปนึกถึงอดีต หรือปัจจุบัน หรืออนาคตเพียงเฝ้าดูกายและจิต ท่านจะต้องพิจารณาจนเห็นจริงในเรื่องกรรม ด้วยตัวของท่านเอง จงเฝ้าดูจิตปฏิบัติแล้วท่านจะรู้อย่างแจ่มแจ้ง อย่าลืมว่ากรรมของใครก็เป็นของคนนั้น อย่ายึดมั่น และอย่าจับตาดูผู้อื่น ถ้าเราดื่มยาพิษ เราก็ได้ทุกข์ ไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะมาเป็นทุกข์ด้วย จงรับเอาแต่สิ่งดีที่อาจารย์สอน แล้วท่านจะเข้าถึงความสงบ จิตของท่านจะเป็น เช่นเดียวกันกับจิตของอาจารย์ ถ้าท่านพิจารณาดูท่านก็จะรู้ได้ แม้ว่าขณะนี้ท่านจะยังไม่เข้าใจ เมื่อท่านปฏิบัติต่อไปมันก็จะแจ่มแจ้งขึ้น ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเอง ได้ชื่อว่า ปฏิบัติธรรม เมื่อเรายังเล็ก พ่อแม่วางกฎระเบียบกับเรา และหัวเสียกับเรา แท้จริงแล้วท่านต้องการจะช่วยเรา กว่าเราจะรู้ก็ต่อมาอีกนาน พ่อแม่และครูบาอาจารย์ ดุว่าเรา และเราก็ไม่พอใจ ต่อมาเราจึงเข้าใจว่าทำไมเราจึงถูกดุ ปฏิบัติไปนานๆแล้วท่านก็จะเห็นเอง ส่วนผู้ที่คิดว่าตนฉลาดล้ำก็จะจากไปในเวลาอันสั้น เขาไม่มีเวลาไม่มีวันจะได้เรียนรู้ ท่านต้องขจัดความคิดว่าตัวฉลาดสามารถออกไปเสีย ถ้าท่านคิดว่าท่านดีกว่าผู้อื่น ท่านก็จะมีแต่ทุกข์ เป็นเรื่องน่าสงสาร อย่าขุ่นเคืองใจ แต่จงเฝ้าดูตนเอง

๒๖. บางครั้งดูเหมือนว่าตั้งแต่บวชเป็นพระมานี้ประสบความ ยากลำบากและความทุกข์มากขึ้น

พวกท่านบางคนมีภูมิหลังที่สะดวกสบายทางวัตถุมาก่อนและมีเสรีภาพ เมื่อเปรียบกันแล้ว ขณะนี้ท่านต้องเป็นผู้อยู่อย่างสำรวมตนเองและมักน้อยยิ่งนัก ซ้ำในการฝึกปฏิบัตินี้ ยังให้ท่านนั่งนานและคอยหลายชั่วโมง อาหารและดินฟ้าอากาศก็ต่างกันไปกับบ้านเมืองของท่าน แต่ทุกคนก็ต้องผ่านความทุกข์ยากกันบ้าง นี่คือความทุกข์ที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ อย่างนี้แหละที่จะทำให้ท่านได้เรียนรู้ เมื่อท่านนึกโกรธ หรือนึกสงสารตัวเอง นั่นแหละเป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าใจเรื่องของจิต พระพุทธเจ้าตรัสว่ากิเลสทั้งหลายเป็นครูของเรา ศิษย์ทุกคนก็เหมือนลูกของเรา เรามีแต่เมตตากรุณาและความปรารถนาดีต่อทุกคน ถ้าเราทำให้ท่านทุกข์ยากก็เพื่อประโยชน์ของท่านเอง เรารู้ว่าพวกท่านบางคนมีการศึกษาดี และมีความรู้สูง ผู้ที่มีการศึกษาน้อย และมีความรู้ทางโลกน้อย จะฝึกปฏิบัติได้ง่าย มันก็เหมือนกับว่า ฝรั่งเช่นท่านนี้มีบ้านหลังใหญ่ที่จะต้องเช็ดถู เมื่อเช็ดถูแล้วท่านก็จะมีที่อยู่กว้างขวาง มีครัว มีห้องสมุด มีห้องนั่งเล่น ท่านต้องอดทน ความอดทนและความทนได้สำคัญมากในการฝึกปฏิบัติของเรา เมื่อเรายังเป็นพระหนุ่มๆอยู่ เราไม่ได้รับความยากลำบากมากเท่าท่าน เราพูดภาษาพื้นเมือง และฉันอาหารพื้นเมืองของเราเอง แม้กระนั้นบางวันเราก็ทอดอาลัย ผมอยากสึก และถึงกับอยากฆ่าตัวตายความทุกข์เช่นนี้เกิดจากความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)เมื่อท่านเข้าถึงสัจธรรมแล้ว ท่านจะละทิ้งทัศนะและทิฏฐิเสียได้ ทุกอย่างจะเข้าสู่ความสงบ

๒๗. เจริญสมาธิภาวนาจนจิตสงบลึก ควรทำอย่างไร ต่อไป

นี่ก็ดีแล้ว ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ และใช้สมาธินี้พิจารณาจิตและกาย ถ้าจิตเกิดไม่สงบก็จงเฝ้าดูด้วย แล้วท่านจะรู้ถึงความสงบที่แท้จริง เพราะอะไร เพราะท่านจะได้เห็นความไม่เที่ยง แม้ความสงบเองก็ดูให้เห็นไม่เที่ยง ถ้าท่านยึดติดอยู่กับภาวะจิตที่สงบ แล้วท่านจะเป็นทุกข์เมื่อจิตไม่สงบ ฉะนั้นจงปล่อยวางหมดทุกสิ่งแม้แต่ความสงบ

๒๘. ได้ยินท่านอาจารย์พูดว่าท่านเป็นห่วงลูกศิษย์ที่พากเพียรมาก ใช่ไหม

ถูกแล้ว เป็นห่วง ห่วงว่าเขาเอาจริงเอาจังจนเกินไป เขาพยายามเกินไป แต่ขาดปัญญา เขาเคี่ยวเข็ญตนเองไปสู่ความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็น บางคนมุ่งมั่นที่จะรู้แจ้ง เขาขบฟันแน่นและใจดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เป็นความพยายามมากเกินไป คนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน พวกเขาไม่รู้ถึงสภาพเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง สังขารทั้งปวง จิตและร่างกายล้วนเป็นของไม่เที่ยง จงเฝ้าดูและอย่ายึดมั่นถือมั่น บางคนคิดว่าเขารู้ เขาวิพากษ์วิจารณ์ จับตามองและลงความเห็นเอาเอง อย่างนี้ก็ตามใจเขา ทิฏฐิของใครก็ปล่อยให้เป็นของคนนั้น การแบ่งเขาแบ่งเรานี้อันตราย เปรียบเหมือนทางโค้งอันตรายของถนน ถ้าเราคิดว่าคนอื่นด้อยกว่า หรือดีกว่า หรือเสมอกันกับเรา เราก็ตกทางโค้ง ถ้าเราแบ่งเขา แบ่งเรา เราก็จะเป็นทุกข์

๒๙. ได้เจริญสมาธิภาวนามาหลายปีแล้ว ใจเปิดกว้างและสงบระงับเกือบจะในทุกสภาพการณ์ เวลานี้อยากจะย้อนหลัง และฝึกทำสมาธิชั้นสูง หรือฝึกฌาน

จะทำอย่างนั้นก็ได้ เป็นการฝึกจิตที่มีประโยชน์ ถ้าท่านมีปัญญาท่านจะไม่ยึดติดอยู่ในสมาธิจิต ซึ่งก็เหมือนกันกับอยากนั่งภาวนานานๆ อยากจะลองฝึกอย่างนั้นดูก็ได้ แต่จริงๆ แล้วการฝึกนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับท่วงท่าอิริยาบถต่างๆ แต่นี่เป็นการมองตรงเข้าไปในจิตนี่คือปัญญา เมื่อท่านพิจารณาและเข้าใจชัดในเรื่องของจิตแล้ว ท่านก็จะเกิดปัญญา รู้ถึงขอบเขตของสมาธิ หรือขอบเขตของตำรับตำรา เมื่อท่านได้ฝึกปฏิบัติ และเข้าใจจริงเรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ท่านจะกลับไปอ่านตำรับตำราก็ได้ เปรียบได้เหมือนขนมหวาน จะช่วยท่านในการสอนผู้อื่น หรือท่านจะหวนกลับไปฝึกฌานก็ได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้แล้วที่จะไม่ยึดถือในสิ่งใด

๓๐. ขอความกรุณา ทบทวนใจความสำคัญของ การสนทนา นี้ด้วย

ท่านต้องสำรวจตัวเอง รู้ว่าท่านเป็นใคร รู้ทันกายและจิตใจของท่าน โดยการเฝ้าดูในขณะนั่งภาวนา หลับนอน และขบฉัน จงรู้ความพอดีพอเหมาะสำหรับตัวท่าน ใช้ปัญญาในการฝึกปฏิบัตินี้ ต้องละความอยากที่จะบรรลุผลใดๆ จงมีสติรู้ว่าอะไรเป็นอยู่ การเจริญสมาธิภาวนาของเราก็คือการมองตรงเข้าไปในจิต ท่านจะมองเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และความดับไปแห่งทุกข์ แต่ท่านต้องมีความอดทน อดทนอย่างยิ่ง และต้องทนได้ ท่านจะค่อยๆได้เรียนรู้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกอยู่กับอาจารย์อย่างน้อยห้าปี ท่านจะต้องเห็นคุณค่าของการให้ทานของความอดทนและของการเสียสละ อย่าปฏิบัติเคร่งเครียดจนเกินไป อย่ายึดติดอยู่กับรูปแบบภายนอก การจับตาดูผู้อื่น เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จงเป็นปกติตามธรรมชาติ และเฝ้าดูสิ่งนี้อยู่ พระวินัยของพระสงฆ์ และกฎระเบียบของวัดสำคัญมาก ทำให้เกิดบรรยากาศที่เรียบง่าย และประสานกลมกลืน จงใช้ให้เป็น แต่จำไว้ว่า ความสำคัญของพระวินัยของพระสงฆ์ คือการเฝ้าดูเจตนาและสำรวจจิต ท่านต้องใช้ปัญญาอย่าแบ่งเขาแบ่งเรา ท่านจะขัดเคืองใจหรือไม่ ถ้าต้นไม้เล็กๆในป่าไม้สูงใหญ่และตรง อย่างต้นอื่นๆ นี่เป็นเรื่องโง่เขลา อย่าไปตัดสินคนอื่นคนเรามีหลายแบบต่างๆกัน อย่าคอยแต่มั่นหมายที่จะเปลี่ยนแปลงใครๆไปหมดทุกคน ดังนั้นจงอดทนและฝึกให้มีคุณธรรม มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆและเป็นปกติตามธรรมชาติ เฝ้าดูจิต นี่แหละคือการปฏิบัติของเรา ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัว และความสงบสันติ

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โพธิปักขิยธรรมภาคปฏิบัติ โดยพระภาวนาวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ๕ ธันวาคม ๒๕๓๒

วันนี้จะชี้แจงภาคปฏิบัติธรรม แยกรูปแยกนามในโพธิปักขิยธรรม ให้ญาติโยมฟังเพื่อนำมาเป็นหลักปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เหตุผลที่ให้ปฏิบัติโดยไม่ห่วงภาควิชาการ ให้ปฏิบัติค้นหาเหตุผลให้กุศลเกิดขึ้นจากวิธีปฏิบัติให้ผุดขึ้นมาในดวงใจเองนั้น เพราะท่านทิ้งความรู้เดิมที่เป็นทิฐิมานะในชีวิตของตนให้หมดจากจิตใจไป การปฏิบัติจริงนั้น เกิดจากดวงใจคือภาวนา เป็นปัญญาใสสะอาด ผุดขึ้นมาเอง จึงจะเป็นการปฏิบัติได้ของจริงด้วยความถูกต้อง ดังนั้นจึงต้อง ห้ามดูหนังสือ ห้ามคุยกัน ที่พูดย้ำมานานคือ กินน้อยนอนน้อย ทำความเพียรมาก หากปฏิบัติได้ตามองค์ภาวนานี้ ก็จะพบวิชาการ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงศึกษาค้นพบด้วยพระองค์เอง เรียกว่าวิชาพ้นทุกข์ และมาแยกแยะออกไปในรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ บอกหน้าที่การงาน พละ ๕ ประการ เป็นต้น ก็ได้จากวิธีปฏิบัติภาวนานี้ทั้งหมด พระอรหันต์สมัยพุทธกาล มีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธานประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมท่องจำแล้ว จารึกเป็นพระไตรปิฎก หยิบยกขึ้นมาเป็นวิชาการให้พวกเราได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตราบจนทุกวันนี้ การแสวงหาที่สงบในอรัญราวป่า คือรุกขมูล เป็นการปฏิบัติให้จิตสงบ ในเมื่อจิตสงบไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นในสังขารที่ปรุงแต่ง เกิดเป็นวิญญาณ แสดงท่าทีออกมา โดยแยกรูป แยกนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ออกมาได้ โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติ แต่ปฏิบัติเกิดก่อนปริยัติแน่ พระพุทธเจ้าไปปฏิบัติก่อน จนสำเร็จสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้แยกแยะออกไป เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน ออกไปตามรูปการณ์อย่างนี้ ในการปฏิบัติจะเหลือ ๒ คือ สติ สัมปชัญญะ ที่กำหนด ใช้สติกำหนดจิต ให้จิตรู้หน้าที่การงานโดยถูกต้อง แล้วจะเหลืออยู่หนึ่งเดียว คือความไม่ประมาท ดำเนินชีวิตด้วยความถูกต้อง นี่เป็นหลักปฏิบัติ ต่อไปนี้จะบรรยายโพธิปักขิยธรรมภาคปฏิบัติให้ญาติโยมฟัง คำว่า " โพธิปักขิยธรรม " แยกออกแล้วมีความหมายอย่างนี้ " โพธิ " แปลว่า รู้ รู้โดยความหมายของคำว่าโพธินี้หมายถึง การรู้ที่จะทำให้สิ้นอาสวะ คือ รู้อริยสัจ ๔ " ปักขิย " แปลว่า ที่เป็นฝ่าย โพธิปักขิยธรรม จึงหมายความว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายรู้ถึงมรรคผล ถ้าจะแปลสั้น ๆ ก็ว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายให้ถึงการตรัสรู้
โพธิปักขิยธรรมนี้ แบ่งออกเป็น ๗ กอง รวมเป็นธรรมะ ๓๗ ประการ ในธรรม ๓๗ ข้อนี้ จะได้องค์ธรรมที่ไม่ซ้ำกัน ๑๔ องค์ ขอให้ทำความเข้าใจไว้ก่อนตามที่กล่าวนี้โพธิปักขิยธรรม ๗ กอง ได้แก่
๑.สติปัฏฐาน มี ๔ ประการ
๒.สัมมัปปธาน มี ๔ ประการ
๓.อิทธิบาท มี ๔ ประการ
๔.อินทรีย์ มี ๕ ประการ
๕.พละ มี ๕ ประการ
๖.โพชฌงค์ มี ๗ ประการ
๗.มรรค มี ๘ ประการ
กองที่ ๑ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ ที่ปฏิบัติอยู่ ณ บัดนี้ สติ ความระลึกรู้อารมณ์ เป็นธรรมฝ่ายดี รู้ทันอารมณ์ในสติปัฏฐาน ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม สติที่ระลึกรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม มีจุดประสงค์จำแนกเป็น ๒ ทาง คือ
๑.ถ้าเจริญสมถภาวนา ก็พิจารณาตั้งมั่นในบัญญัติ เพื่อให้จิตสงบ มีอานิสงส์ให้บรรลุ ฌานสมาบัติ
๒.ถ้าเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็พิจารณาตั้งมั่นอยู่ในรูปนาม เพื่อให้เกิดปัญญา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอานิสงส์ให้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน
การพิจารณาไตรลักษณ์ ก็เพื่อให้รู้สภาพตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายที่ยึดถือเป็นตัวตนเป็นชายหญิงนั้นล้วนแต่เป็นเพียงรู้เป็นเพียงรูปกับนามเท่านั้น และรูปนามเหล่านั้นยังมีลักษณะเป็น อนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา หาแก่นสารไม่ได้เลย จะได้ไม่ติดอยู่ในความยินดีพอใจ อันเป็นการเริ่มต้นที่จะให้ถึงการดับทุกข์ต่อไป
ฉะนั้นสติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นทางสายเอก จัดว่าเป็นทางสายเดียวที่สามารถให้ผู้ที่ดำเนินตามทางนี้ ถึงความรอบรู้ความจริงจนบรรลุพระนิพพาน ดังนั้นผู้ปรารถนาจะบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ต้องเริ่มต้นด้วยสติปัฏฐาน เพื่อบรรลุญาณธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ญาณธรรม คือ ธรรมที่ควรรู้มีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่
๑.สังขาร คือ ธรรมที่ปรุงแต่ง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป
๒.วิกาล คือ ธรรมที่เปลี่ยนแปลงผันแปร ได้แก่ ธรรมที่เปลี่ยนแปลงผันแปรของสัตว์ที่เป็นไปในภพต่าง ๆ
๓.ลักษณะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้รู้ให้เห็น ได้แก่ลักษณะของสภาวะ
๔.นิพพาน คือ ธรรมที่พ้นจากกิเลส คือ อสังขตธรรม อสังขตธรรมนี้เราก็จะมองเห็นเด่นชัดเช่นเดียวกัน
๕.บัญญัติ คือ ธรรมที่สมมติใช้พูดจาเรียกขานกัน ได้แก่ อัตถบัญญัติ และสัททบัญญัติ
อารมณ์ของสติปัฏฐาน มี ๔ อย่าง คือ
๑.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติที่ตั้งมั่นพิจารณากายเนือง ๆ ได้แก่สติที่กำหนดรู้ ที่เรากำหนดอยู่ ณ บัดนี้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถย่อย ได้แก่การเคลื่อนไหว คู้เหยียด เหยียดขา เป็นต้น เพื่อให้ตระหนักว่า การยืน การเดิน นั่ง นอน อันเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายนั้น เกิดจากธาตุลมที่มีอยู่ในร่างกาย โดยอำนาจของจิต ทางธรรมะ เรียกว่า รูป คือ รูปที่เกิดจากจิต หาได้มีผู้ใดมาบงการแต่อย่างใดไม่ ในบางแห่งจะพบว่าพิจารณากายในกาย หรือ กายในอันเป็นภายใน กายในอันเป็นภายนอก คำเหล่านี้เป็นภาษาธรรมะ อธิบายกันเป็นหลายนัย เช่น กาเยกายานุปัสสี แปลว่าเห็นกายในกาย คำว่า กาเย หมายถึง รูปกับกาย คือ กัมมัชรูป แต่ร่างกาย มีทั้งจิต เจตสิก และรูป ส่วนคำว่า กายานุปัสสี หมายเพียงให้ กำหนดดูแต่รูปธรรม เท่านั้น คือดูรูปอย่างเดียว ไม่ใช่ดูจิต เจตสิกที่มีอยู่ในร่างกายด้วย คำว่า กายในกาย หมายตรงว่า รูปในรูป แต่ในร่างกายนี้มีมากมายหลายรูป แต่ให้พิจารณาดูรูปเดียวในหลาย ๆ รูปนั้น เช่น จะพิจารณาลมหายใจ เข้าออก พองหนอ ยุบหนอ คือ ลมหายใจเข้าก็พอง ลมหายใจออกก็ยุบ ก็พิจารณาวาโยธาตุแต่รูปเดียว เรียกว่าอานาปาณสติ ลมหายใจเข้าออก พองหนอ ยุบหนอ เรียกว่า อานาปาณสติ ส่วนคำว่า กายในอันเป็นภายใน และกายในอันเป็นภายนอกนั้น ถ้าพิจารณาดูรูปในกายของตนเองก็เป็นภายใน รูปในกายผู้อื่นถือว่าเป็นภายนอก ดังนี้
๒.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเวทนานี้ ใช้ในการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ต่างกับพิจารณากาย ใช้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะจะเพ่งเวทนาโดยความเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานให้เกิดฌานจิตหาได้ไม่ การพิจารณาเวทนา จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนาก็ดี เป็นธรรมชาติที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานที่จะให้เห็นได้ด้วยตา จึงมิใช่รูปธาตุ แต่เป็นนามธาตุ เวทนาจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะห้ามไม่ให้เกิดก็ห้ามไม่ได้ ครั้นเมื่อหมดเหตุปัจจัยก็จะดับไปเอง หมดไปเอง เป็นต้น อนึ่ง ความหมายเวทนาในเวทนานี้ และเวทนาในเวทนาอันเป็นภายใน ภายนอกก็เป็นทำนองเดียวกับกายในกายตามที่กล่าวมาแล้ว ความจริงเวทนาก็เกิดอยู่ทุกขณะ ไม่มีเวลาว่างเว้นเลย คนทั้งหลายก็รู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เพราะไปยึดว่า เราสุข เราทุกข์ จึงไม่อาจรู้สภาวะความเป็นจริงได้ เวทนานี้เวลาเกิดขึ้นก็จะเกิดแต่อย่างเดียว เป็นเจตสิกธรรม ปรุงแต่งให้จิตรับรู้
๓.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิต ก็คือวิญญาณขันธ์ ที่กำหนดพิจารณาจิต ก็เพื่อให้รู้เท่าทันว่า จิตที่กำลังเกิดอยู่นั้นเป็นจิตชนิดใด จิตเป็นโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตที่เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ เพื่อให้ประจักษ์ชัดว่า ที่มีความรู้สึกโลภ โกรธ หลง หรือ ศรัทธา ฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เป็นอาการของจิต เป็นธรรมชาติที่เป็นนามธรรม ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่ง เพื่อรับอารมณ์ เมื่อหมดเหตุปัจจัย อาการนั้น ๆ ก็ดับไปเอง ไม่มีอะไรเหลืออยู่อันสภาวธรรมที่เรียกว่า จิต นั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน เห็นด้วยตาก็ไม่ได้ จึงไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นนามธรรม เป็นนามจิต ไม่ใช่นามเจตสิก เช่นเวทนา เป็นต้นที่ว่าจิตในจิต หรือ จิตภายใน จิตภายนอกนั้น ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเหมือนกัน
๔.ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งธรรม มีนิวรณ์ อุปาทานขันธ์ อายตนะ โพชฌงค์ อริยสัจ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ เป็นสติในการเจริญวิปัสสนาแต่อย่างเดียว เป็นการพิจารณาให้รู้ให้เห็นทั้งรูปทั้งนาม จึงกล่าวได้ว่าการพิจารณา กาย เวทนา และจิต ย่อมรวมลงได้ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น สรุปแล้วการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่า กายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา จิตก็สักแต่ว่าจิต ล้วนแต่เป็นเพียงธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา แม้แต่สติหรือปัญญาที่รู้ก็เป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ พิจารณาทั้งรูปธรรม นามธรรม ปัญญารู้แจ้งเห็นชัดทั้งรูปทั้งนาม แยกจากกันเป็นคนละสิ่งคนละส่วน รูปก็ส่วนรูป นามก็ส่วนนาม ไม่ปะปนกันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน รู้เห็นเช่นนี้จัดว่าเข้าถึงนามรูปปริจเฉทญาณ อันเป็นญาณต้น ที่เป็นทางให้บรรลุถึงมรรคและผลต่อไป
ผลที่ได้รับจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้นก็คือ
๑. พิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณาก็คือ รูปขันธ์ เหมาะแก่มัณฑบุคคลที่มีตัณหาจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณา ได้แก่ อสุภสัญญา จะประหาร สุภสัญญา
๒.พิจารณา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณา คือ เวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ละเอียด เหมาะแก่บุคคลซึ่งมีตัณหาจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณาได้แก่ ทุกขสัญญา ทำให้ประหาร สุขสัญญา เสียได้
๓.พิจารณา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณาคือ วิญญาณขันธ์ ซึ่งมีอารมณ์ไม่กว้างขวางนัก เหมาะแก่มัณฑบุคคลที่มีทิฏฐิจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณาได้แก่ อนิจจสัญญา ทำให้ประหาร นิจจสัญญา เสียได้
๔.พิจารณา ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณา คือ ทั้งรูปทั้งนาม ซึ่งมีอารมณ์กว้างขวางมาก เหมาะแก่บุคคลที่มีทิฏฐิจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณาได้แก่ อนัตตสัญญา ทำให้ประหาร อัตตสัญญา เสียได้
ฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นรูปเห็นนามที่เคยเห็นว่า สวยงาม เห็นว่าเป็น ความสุขสบาย เห็นว่า เที่ยง เห็นว่าเป็นตัวตน จะได้รู้ว่าของจริงแท้นั้นเป็นประการใด โดยการเข้าใจเห็นแจ้งว่า สภาวะนั้นประกอบด้วย ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเจริญสติปัฏฐาน ควรกระทำด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
สติ ก็คือ ตั้งมั่นในการพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างนี้ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นว่า รูป นาม นั้นมีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สัมปชัญญะ คือ ให้พินิจเห็นว่ามีประโยชน์ และพินิจพิจารณาว่าควรทำ จึงทำเพื่อให้เกิดปัญญายิ่ง ๆ ขึ้น จึงจะบรรลุมรรคและผลได้ขอให้เข้าใจว่า อันความพินิจที่จะประกอบด้วยปัญญา หรือ สติสัมปชัญญะนี้ ถ้ามีแก่ผู้ใดแล้ว นับว่าผู้นั้นอยู่ใกล้พระนิพพาน ทั้งนี้เพราะ นัตถิ ฌานัง อปัญญัสสะ ความพินิจย่อมไม่มีแก่ผู้หาปัญญามิได้ นัตถิ ปัญญา อฌายิโน ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ ตัมหิ ฌานัญจะ ปัญญัญจะ นิพพานะ สันติเก ความพินิจกาลปัญญา มีในผู้ใด ผู้นั้นแหละอยู่ใกล้พระนิพพาน
กองที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔ คือ เพียรพยายามทำการงานที่ชอบ ความเพียรพยายามชอบ ที่จะจัดเป็นสัมมัปปธาน ต้องประกอบด้วยหลัก ๒ ประการคือ
๑.ต้องเป็นความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด แม้ว่าเลือดเนื้อจะเหือดแห้ง เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตาม หากยังไม่บรรลุถึงธรรมอันพึงถึงแล้ว ก็จะไม่ถดถอยความเพียรพยายามนั้นต่อไป
๒.ความเพียรพยายามที่ว่ายิ่งยวดนั้น ต้องเป็นไปในธรรม ๔ ประการ จึงจะได้ชื่อว่า สัมมัปปธาน ธรรม ๔ ประการนั้นได้แก่
๒.๑ เพียรพยายามไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
๒.๒ เพียรพยายามละอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดไป
๒.๓ เพียรพยายามให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
๒.๔ เพียรพยายามให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น
ข้อควรรู้ ตามธรรมดาอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วนั้นย่อมดับไปแล้ว และการที่จะลบล้างอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดสิ้นไปนั้นย่อมทำไม่ได้ ที่กล่าวว่าจะเพียรพยายามที่ละอกุศลธรรมให้หมดไปนั้น ขอให้เข้าใจว่าเพียงแต่พยายามอย่าไปนึกถึงอกุศลนั้น ๆ อีก เพราะว่าถ้าไปนึกคิดขึ้นอีก ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง กระวนกระวายใจ จัดว่าอกุศลได้เกิดขึ้นแล้วทางมโนทวาร จึงต้องพยายามจนลืมเสีย ไม่เก็บมานึกคิดอีก และตั้งใจให้มั่นว่า จะไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นอกุศลอีก ดังนี้แหละจึงจะได้ชื่อว่า เพียรเพื่อละอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดไป อีกนัยหนึ่งแสดงว่าอกุศลที่ได้ทำแล้วนั้น ที่ให้ผลแล้วก็มี ที่ยังไม่ให้ผล เพราะยังไม่มีโอกาสก็มี แต่ที่จะอันตรธานสูญหายไปเองนั้นไม่มีเลย แต่ถ้าในชาติใดสามารถประหารสักกายทิฏฐิได้แล้ว ด้วยสัมมัปปธานทั้งสี่นี้ ชาตินั้นแหละถือว่าได้ละอกุศลที่ได้เคยทำมาแล้วอย่างสิ้นเชิง
กองที่ ๓ อิทธิบาท ๔ ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงความสัมฤทธิ์ผล ชื่อว่า อิทธิบาท ความสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผล คือบรรลุถึงกุศลฌานจิต และมรรคจิต ชื่อว่าอิทธิบาท เป็นธรรมที่ให้ถึงความสำเร็จ เป็นกิจการงานอันเป็นกุศลเท่านั้น ได้แก่
๑.ฉันทะ ความพอใจและเต็มใจ
๒.วิริยะ คือความพยายามอย่างยิ่งยวด
๓.จิตตะ คือการที่มีจิตจดจ่อ ฝักใฝ่แน่วแน่
๔.วิมังสา คือปัญญา
มีข้อควรสังเกตว่าองค์ธรรมของอิทธิบาทเหมือนองค์ธรรมของธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นอธิบดี ซึ่งมีความความหมายว่า เป็นไปเพื่อให้กิจการงานสำเร็จผลเช่นกัน แต่กระนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ คือธรรมที่ชื่อว่า เป็น อธิบดี ได้นั้นจะเป็นไปในกิจการงานอันเป็นทั้ง กุศลและอกุศลส่วนธรรมที่ชื่อว่า อิทธิบาท นั้น เป็นไปเพื่อความสำเร็จกิจอันเป็นกุศลฝ่ายเดียว และต้องเป็นกุศลที่จะให้บรรลุถึง มหคตกุศล คือ ญานจิต และ โลกุตรกุศล คือ มรรคจิต เท่านั้น ดังตัวอย่างเช่น ขโมย ทำการได้สำเร็จ เพราะเขาพยายามและใช้ปัญญาหาวิธีต่าง ๆ จนทำทุจริตนั้นได้ จัดว่าความเพียรและปัญญาของเขานั้นเป็นอธิบดี คือ เป็นหัวหน้าหรือผู้นำ แต่จะเรียกว่าเป็นอิทธิบาทไม่ได้ ขอให้เข้าใจว่าธรรมที่จะชื่อว่าอิทธิบาท ต้องเป็นไปในการให้สำเร็จฌานจิต และมรรคจิตเท่านั้น แม้แต่ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาของพระอรหันต์ ก็ไม่ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะท่านเป็นผู้ที่สำเร็จอันสุดยอดแล้ว อนึ่งการที่สำเร็จกิจนั้น ย่อมประกอบด้วยธรรม ๔ ที่เป็นองค์ธรรมของอิทธิบาท แต่การเกิดขึ้นนั้น อาจจะไม่กล้าเสมอกัน บางทีฉันทะกล้า บางทีวิริยะกล้า หรือ จิตตะกล้า ปัญญากล้า ถ้าธรรมะใดกำลังกล้าก็จัดว่าธรรมนั้นเป็นอิทธิบาท
กองที่ ๔ อินทรีย์ ๕ ธรรมที่เป็นอินทรีย์นี้ หมายถึงธรรมที่เป็นใหญ่ที่เกิดร่วมกับคนจะเป็นได้ทั้งกุศล อกุศล แต่อินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ มีเพียง ๕ องค์ธรรมเท่านั้น และต้องเป็นไปตามสภาวธรรมที่เป็นกุศล คือรู้ให้ถึงฌานและอริยสัจเท่านั้น ได้แก่ สัทธินทรีย์
๑.สัทธินทรีย์ คือความศรัทธาเป็นใหญ่ในอารมณ์ จะต้องเป็นภาวนาศรัทธาด้วย ไม่ใช่ปกติศรัทธาด้วย ไม่ใช่ปกติศรัทธา ซึ่งมีกำลังไม่แรงกล้า เพราะอกุศลอาจทำให้เสื่อมได้ จึงต้องเป็นภาวนาศรัทธา ที่เนื่องมาจากกรรมฐานต่าง ๆ มีอานาปานสติ เป็นต้น ศรัทธาชนิดนี้แรงกล้าและแนบแน่นในจิตมาก เรียกภาวนาศรัทธาอกุศลจะทำให้ศรัทธาเสื่อมได้ยาก ยิ่งเป็นวิปัสสนาศรัทธาด้วยแล้ว อกุศลไม่อาจจะทำให้ศรัทธานั้นเสื่อมได้เลย ภาวนาศรัทธานี่แหละ ที่ได้ชื่อว่าสัทธินทรีย์ คือมีอินทรีย์แก่กล้าฉะนั้น
๒.วิริยินทรีย์ ความเพียรเป็นใหญ่ในการพยายามอย่างยิ่งยวด ซึ่งต้องเป็นความเพียรที่ต้องบริบูรณ์ด้วยองค์ ๔ แห่งสัมมัปปธาน จึงจะเรียกได้ว่า วิริยินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมนี้
๓.สตินทรีย์ สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ ทันอารมณ์ปัจจุบัน อันเกิดจากสติปัฏฐาน ๔ จึงเรียกสตินั้นว่า สตินทรีย์
๔.สมาธินทรีย์ การทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่น จดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ไม่ฟุ้งซ่าน จึงจะเรียกสมาธินั้นว่า สมาธินทรีย์
๕.ปัญญินทรีย์ ปัญญาที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ ในสภาวะที่เกิดร่วม ด้วยการรู้แจ้งเห็นจริงว่า รูปนามขันธ์ อายตนะ ธาตุ มีลักษณะเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เต็มไปด้วยโทษภัยเป็นวัฏฏทุกข์อนึ่ง ขอให้เข้าใจว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ หรือ ที่เรียกว่าเป็นอินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมนั้น แสดงความเป็นใหญ่ในอันที่จะให้ถึงซึ่งควรตรัสรู้ มรรค ผล นิพพาน และมหคตกุศลจิต เท่านั้น
กองที่ ๕ พละ ๕ พละในโพธิปักขิยธรรม นั้น มุ่งหมายเอาเฉพาะกุศลพละเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะอยู่ ๒ ประการ คือ อดทน ไม่หวั่นไหวประการหนึ่ง และย่ำยีธรรมที่เป็นข้าศึก อีกประการหนึ่ง ดังนั้น จึงมีเพียงพละ ๕ เท่านั้นคือ
๑.สัทธาพละ ความเชื่อถือเลื่อมใส เป็นกำลังให้อดทน ไม่หวั่นไหว และย่ำยีธรรมอันเป็นข้าศึก มีตัณหา เป็นต้น และต้องเป็นภาวนาศรัทธาที่เกิดจากอารมณ์กรรมฐาน ไม่ใช่ปกติศรัทธา จึงจะมีกำลังอดทน มีกำลังที่จะย่ำยีหรือตัดขาดตัณหาได้
๒.วิริยะพละ ความเพียรพยายาม ก็ต้องเป็นความเพียรอย่างยิ่งยวด จึงจะมีกำลังอดทน ย่ำยีโกสัชชะ คือ ความเกียจคร้าน อันจัดว่าเป็นข้าศึก แก่การปฏิบัติได้แน่นอน
๓.สติพละ สติมีความระลึกได้ในอารมณ์สติปัฏฐานต้องมีสภาพเป็นพละ จึงจะมีกำลังต้านทานข้าศึก อันได้แก่ ปมาทะ ความพลั้งเผลอได้
๔.สมาธิพละ ความตั้งใจมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน จะเพียงเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในสหภาวธรรมเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีกำลังเป็นพละ คือมีทั้งความอดทน ไม่หวั่นไหว สามารถต้านทานกิเลสอันเป็นข้าศึกของการปฏิบัติได้แก่ วิกเขปะ คือความฟุ้งซ่าน พาให้ออกนอกอารมณ์กรรมฐาน จัดว่าเป็นข้าศึกแก่การเจริญภาวนา
๕.ปัญญาพละ ต้องให้ปัญญานั้นมีกำลังอดทนเข้มแข็งในการที่จะย่ำยี โมหะ คือ ความโง่ หลง งมงาย มืดมน อนธการ เป็นต้น
ฉะนั้นการเจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาก็ดี จะต้องให้พละทั้ง ๕ นี้ ต่างมีกำลังสม่ำเสมอกัน เพราะถ้าพละได้กำลังอ่อน การเจริญภาวนาก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้
กองที่ ๖ โพชฌงค์ คำว่า โพชฌงค์ มีความหมายดังนี้ โพธิเป็นตัวรู้ โพชฌงค์เป็นส่วนที่ให้เกิดรู้ รวมความแล้วก็คือ องค์ที่เป็นเครื่องให้ตรัสรู้ คือรู้อริยสัจ ๔ สิ่งที่จะรู้อริยสัจ ๔ นั้นคือ มรรคจิต องค์ที่เป็นเครื่องให้รู้อริยสัจ ๔ ที่ชื่อว่าโพชฌงค์นี้มีอยู่ ๗ ประการ และโพชฌงค์แต่ละองค์ ต้องเนื่องมาจากเหตุผลที่ถูกต้องด้วยดังนี้
๑.สติสัมโพชฌงค์ ต้องเนื่องมาจากสติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สติที่ปกติระลึกรู้ในอารมณ์ทั่วไป สตินั้นจะต้องเลื่อนฐานะกำลังขึ้นเป็น อินทรีย์ และ พละ แล้วสตินั้นจึงจะเลื่อนมาเป็น โพชฌงค์ เป็นสัมมาสติด้วยอำนาจของวิปัสสนาภาวนา จึงจะทำลายความประมาทได้สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์ มีความสามารถทำให้เกิดมรรคฌานได้ มีหวังแน่นอนในการที่จะรู้อริยสัจ ๔ สามารถที่จะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคล ๘ จำพวกได้ ขอให้เข้าใจว่า สติเจตสิกที่จะเป็นโพชฌงค์ ขอให้เข้าใจว่า สติเจตสิกที่จะเป็นโพชฌงค์นั้น ต้องบริบูรณ์ทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการคือ
๑.๑ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ในมหาสิตปัฏฐาน ๔ อารมณ์ต้องมาจากสติปัฏฐาน มีสติรู้ในสัมปชัญญะในสติปัฏฐาน ๔
๑.๒ ต้องเว้นจากการสมาคมจากผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน
๑.๓ ต้องเสวนากับผู้ที่เคยเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง และเข้าใจดีด้วย
๑.๔ ต้องพยายามเจริญสติให้รู้อยู่ทุกอารมณ์และทุกอิริยาบถไม่ขาด
ทั้ง ๔ อย่างนี้จะเป็นเหตุช่วยให้ สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น เพราะถ้าประกอบด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล้ว สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ก็อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ลำบากจะเห็นได้ชัดเจนว่า สติสัมโพชฌงค์นี้ ต้องเนื่องมาจากการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่มาจากอย่างอื่น เพียงแต่รักษาศีลหรือเจริญสมาธิเท่านั้นก็ไม่อาจเกิดได้ ต้องเจริญวิปัสสนาในมหาสติปัฏฐาน ๔ ด้วย
๒.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์นี้ ได้แก่ ปัญญาที่รู้สภาวะของรูปธรรมนามธรรมว่า เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาได้ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานฉะนั้นปัญญาที่จะเข้าถึงความเป็นธัมมะวิจยะสัมโพชฌงค์นี้ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดาที่รู้อย่างอื่นต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน และปัญญานี้จะต้องต่อเนื่องจากอิทธิบาท อินทรีย์และพละด้วยฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ต้องสมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการดังนี้
๒.๑ ต้องเข้าใจวิปัสสนาภูมิ ๖ คือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ แต่เมื่อสรุปโดยย่อแล้ว ก็ได้แก่รูปธรรมนามธรรมฉะนั้นเมื่อเราพิจารณารูปนาม ก็ชื่อว่าเราพิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ แต่ผู้ที่ขาดการศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะรู้และเข้าใจแตกฉานในภูมิของวิปัสสนา สำหรับผู้ที่เคยเรียนรู้ปริยัติมาบ้างแล้ว ก็สามารถที่จะเลือกพิจารณาภูมิใดภูมิหนึ่งตามความพอใจ วิปัสสนาภูมิหนึ่งตามความพอใจ วิปัสสนาภูมินี้แหละเป็นอารมณ์ของปัญญาที่จะทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น
๒.๒ ต้องทำอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ คือปัญญากับศรัทธาต้องมีกำลังเสมอกันเมื่อพิจารณา เพราะถ้าศรัทธามากเกินไป ก็จะขาดเหตุผล ถ้าปัญญามากเกินไปแม้จะรู้จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่ออ่อนศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้วก็ไม่อาจบรรลุธรรมได้วิริยะกับสมาธิก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องให้เสมอกัน ถ้าอย่างใดอ่อนหรือแรงเกินไป ก็จะไม่ทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เกิดได้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าสมาธิมากเกินไปจะเกิดความสงบ ก็จะเพลิดเพลินพอใจความสงบนั้นเสีย ฉะนั้นต้องอาศัยความเข้าใจทำอินทรีย์ให้เสมอกันถ้าศรัทธาสมาธิแรง ก็จะให้ตัณหาความพอใจเกิด และถ้าปัญญามากไปก็จะเกิดวิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ทำให้ฟุ้งซ่าน สงสัยไปว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ ทำให้คิดค้นมากเกินไป หรือถ้าปริยัติเข้ามามากเกินไป ปัจจุบันอารมณ์จะพลอยเสียไปด้วย เพราะอาจจะนึกรู้ไปก่อน เป็นวิปัสสนึก จะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโพชฌงค์นี้ได้วิริยะถ้ามากนักก็จะฟุ้งซ่าน ส่วนสมาธิมากก็จะมีอาการคล้ายซึมเซ่อ ซึมเซอะ และเอาแต่ความสงบ จะทำให้ขาดการขวนขวายในธรรมส่วนสตินั้นมีมากเท่าใด รู้ทันอารมณ์ทุกขณะก็ยิ่งดีมาก เพราะฉะนั้นสตินี้ทำให้มากเข้าไว้ จะรู้เท่าทันเหตุการณ์ได้ ไม่เหมือนอย่างอื่น
๒.๓ ต้องสมาคมกับผู้ที่เจริญวิปัสสนา เข้าใจสภาวะของรูปนาม เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อกัน
๒.๔ ต้องมีสติรู้ทันอารมณ์ทุกอิริยาบถ เพราะปัญญาที่เข้าในโพชฌงค์นี้ ต้องพิจารณาเข้ากับความเกิดดับของรูปนาม สภาวะลักษณะของรูปนาม มิฉะนั้นก็เข้าถึงโพชฌงค์นี้ไม่ได้แน่นอน
๓.วิริยะสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเพียรพยายามในกิจของสัมมัปปธาน ๔ นั่นเอง แต่การที่วิริยะจะขยับเลื่อนขึ้นมาเป็นโพชฌงค์ จะต้องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ขอให้เข้าใจว่า วิริยะจะเป็นองค์ของโพชฌงค์ได้ก็ต้องสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน ต้องรู้และมั่นใจในอานิสงส์ของความเพียรว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรารถนา ต้องอาศัยความเพียรพยายามไม่ท้อถอย ต้องอดทน ถ้าไม่มีความเพียรแล้วความสำเร็จจะมีไม่ได้เลย คบหาสมาคมกับคนที่ขยันหมั่นเพียร หลีกเลี่ยงบุคคลที่เหลาะแหละเกียจคร้าน มั่นใจในสติปัฏฐานสี่นี้เท่านั้น เป็นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายล้วนปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น ท่านจึงผ่านเข้าถึงความเป็นอริยบุคคลด้วย
๔.ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติและความอิ่มเอิบใจนี้ มีได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าปีติในสมถะก็ได้แก่ปีติที่เป็นองค์ฌาน ส่วนปีติในวิปัสสนาก็คือ ความอิ่มใจในการเจริญวิปัสสนา ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เมื่อมีสติรู้ทันอารมณ์ มีปัญญาเข้าใจสภาวะ เห็นสภาพไตรลักษณ์ของรูปนาม รู้สึกตัวมีความเพียรอย่างจริงจัง ไม่ย่อท้อย่อมเกิดปีติชื่นชมเป็นธรรมดา ปีติในวิปัสสนาย่อมทำลายความเฉื่อยชา เบื่อหน่ายได้ การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การระลึกถึงคุณของการบริจาค ตลอดจนคุณของพระนิพพาน ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดได้ การละเว้นที่จะคบหาผู้ที่ปราศจากศรัทธาหมั่นเจริญสติปัฏฐาน หากได้ปฏิบัติบริบูรณ์ด้วยคุณธรรมที่กล่าวมานี้แล้ว ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้
๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มีลักษณะทำให้จิตใจสงบเยือกเย็นรู้สึกสบายใจ ความสงบประณีตของปัสสัทธินี้ อาจถึงทำให้เข้าใจผิด สำคัญว่าความสงบสบายนั้น คือเข้าถึงพระนิพพานขึ้น แล้ว กลายเป็นวิปัสนูปกิเลส คือ กิเลสของพระนิพพานไปปัสสัทธิที่เกิดไม่ใช่ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้จะเกิดในวิปัสสนาก็ตาม ปัสสัทธิที่จะเป็นองค์ของโพชฌงค์ ต้องเป็นไปตามอารมณ์ที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ฉะนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จะเกิดได้ ต้องบริบูรณ์ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๕.๑ บริโภคอาหารให้สมควรทั้งปริมาณและคุณภาพ
๕.๒ อยู่ในที่ที่มีอากาศพอเหมาะพอสบาย
๕.๓ ใช้อิริยาบถที่สะดวกสบาย ไม่ต้องฝืนจนเกินไป
๕.๔ พิจารณาเชื่อว่ากรรมดี นั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน
๕.๕ เว้นการสมาคมกับบุคคลทุศีล
๕.๖ สมาคมกับผู้มีศีล มีกาย วาจาสงบไม่เพ้อเจ้อ
๕.๗ ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกอารมณ์จิต ทุกอิริยาบถผู้ที่สมบูรณ์ด้วยธรรม ๗ ประการนี้ จะทำให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น ความจริงแล้ว ปัสสัทธินี้ก็ไม่ได้มาจากไหน ได้มาจากปีตินั่นเอง กล่าวคือ เป็นปีติแล้ว ปัสสัทธิต้องมีด้วย เมื่อปีติยังมีกำลังกล้าอยู่ แสดงว่ายังอิ่มเอิบตื่นเต้นอยู่มาก จึงยังไม่เห็นอาการของปัสสัทธิ เมื่อปีติสงบลงบ้างแล้ว ปัสสัทธิจะปรากฏอาการ ความสงบสบายจะปรากฏชัดขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกันดังนี้
๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์นี้มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเหมือนกัน เพราะผู้ที่ได้ฌานแล้ว จะยกองค์ฌานขึ้นพิจารณาวิปัสสนาได้ สมาธินั้นก็จะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา สมาธิในฌานนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ เหตุที่จะเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ จะต้องบริบูรณ์ด้วยเหตุดังนี้
๖.๑ ต้องรักษาความสะอาดในปัจจัยสี่ มีอาหารเป็นต้น
๖.๒ ต้องเจริญศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิให้เสมอกัน อย่าให้มากน้อยกว่ากัน
๖.๓ ต้องเข้าใจรักษานิมิตของสมถกรรมฐาน และอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน กำหนดเสีย ต้องเข้าใจยกจิตให้แก่กล้าขึ้น
๖.๔ ถ้าวิริยะอ่อนก็ต้องมีปัญญา ต้องมนสิการ ให้วิริยะแก่กล้าขึ้นเสมอกับสมาธิ (ปีติจะต้องช่วยวิริยะให้มีกำลังขึ้น)
๖.๕ ถ้ามีวิริยะอ่อนลง สมาธิอ่อนลง ความฟุ้งซ่านจะมีมากขึ้น ในบุคคลนั้น อันความฟุ้งซ่านเป็นกิเลสเป็นเหตุให้เกิดนิวรณ์ ต้องปรับจิตให้อยู่ในปัจจุบันอารมณ์ ถ้าไม่ปรับจิตให้อยู่ในปัจจุบัน อารมณ์มีนิวรณ์ ขณะใดที่ได้อารมณ์ปัจจุบัน ความฟุ้งซ่านหรือนิวรณ์จะเกิดไม่ได้เลย เหตุที่เกิดความฟุ้งซ่านก็เพราะ สติรับปัจจุบันอ่อนหรือน้อยไป จะต้องพยายามให้จิตอยู่ในปัจจุบันอารมณ์เสมอ ความฟุ้งซ่านก็จะหมดลงไปเอง โดยดับไป จะใช้วิธีบังคับอื่นใดไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ที่อยากหรือต้องการให้เป็นไป
๖.๖ ทำใจให้ยินดีในความไม่ประมาท มีสติอยู่ตลอดเวลา คือ ตัวกำหนดทุกอย่าง อย่าขาดกำหนด ต้องเจริญพระกรรมฐานให้ถูกกับจริต ต้องปราศจากปลิโพธกังวล อันเป็นความกังวลในใจเสีย เว้นจากการคบหาสมาคมกับบุคคลช่างพูด ช่างเจรจา ต้องเว้นไป อย่าไปคบหาบุคคลที่ช่างพูด ช่างเจรจา ชอบคุย ออกสมาคมกับผู้ที่รักษาความสงบระงับ สำหรับผู้ที่เจริญฌานก่อนจะยกองค์ฌานขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา จะต้องมีวสีชำนาญในองค์ฌานมาก่อน จึงจะยกอารมณ์เข้าสู่วิปัสสนาได้ ไม่ใช่ว่าพอได้ฌานแล้วก็ยกขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาได้เลย ต้องมีสติสัมปชัญญะ ต้องรู้สึกทันทุกอารมณ์ทันปัจจุบันทุกอิริยาบถด้วย เมื่อบริบูรณ์ด้วยอุปการธรรมอย่างนี้แล้ว สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด
๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีลักษณะวางใจให้เป็นกลาง เชื่อมั่นต่อกรรม เชื่อว่าทุกอย่างย่อมเป็นไปตามผลของกรรม ที่ว่าวางใจให้เป็นกลางนั้น คือ ไม่ยินดีต่อความสุข ไม่เดือดร้อนต่อความทุกข์ที่มีต่อตน เพราะเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามอำนาจของกรรม ไม่มีผู้จะแก้ไขกรรมที่ทำมาแล้วได้ ทำใจไม่ยินดี ยินร้ายในอารมณ์ที่ตนประสบ ในเวลาที่ตนเจริญพระกรรมฐาน ธรรมที่ช่วยอุปการะอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีดังต่อไปนี้
๗.๑ ต้องพิจารณาให้รู้และเข้าใจว่า สภาวะที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงรูปนามเท่านั้น
๗.๒ ตั้งจิตใจเป็นกลางในสังขารว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่เสียใจเมื่อจะต้องมีการสูญเสีย
๗.๓ เว้นจากการคบหาสมาคมกับบุคคลที่ยังยึดมั่นเหนียวแน่นในสมมุติ ในสัตว์บุคคล ว่าเป็นของเรา ของเขา
๗.๔ สมาคมคบหากับบุคคลที่เข้าใจสังขาร รู้จักสภาวธรรม
๗.๕ มีสติสัมปชัญญะทุกอารมณ์ น้อมใจให้มั่นคง วางใจให้เป็นกลาง ๆ
อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ จัดว่าเป็นองค์สำคัญองค์หนึ่งของโพชฌงค์ คล้ายกับว่าปล่อยวางได้แล้ว ปัญญาพอที่จะตรัสรู้ในอริยสัจได้ความสำคัญของโพชฌงค์เจาะจงที่ วิปัสสนาไม่ใช่สมาธิ ที่เอาสมถะมาสงเคราะห์ไว้กับโพชฌงค์ด้วยก็มุ่งหมายถึงผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานปรารถนาจะยกองค์ฌานขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาเพราะฉะนั้นสมถะที่กล่าวว่าเป็นองค์โพชฌงค์ได้หมายเอาสมถะที่สงเคราะหเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ทั้งนี้เพราะการที่จะเป็นโพชฌงค์ ต้องมาจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เพราะโพชฌงค์ในโพธิปักขิยธรรม ก็คือธรรมในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หากแต่กำลังและการงานของสภาวธรรมนั้น มีกำลังแก่กล้าขึ้นตามลำดับของภูมิธรรม บางท่านอาจคิดว่าตนเองปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐานมานานแล้ว และได้อารมณ์ดีด้วย เหตุใดจึงยังไม่บรรลุมรรคผล ขอให้เข้าใจเถิดว่า เพราะองค์ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น สติ ปัญญา วิริยะ ศรัทธา สมาธิ เป็นต้น ยังไม่บรรลุถึงความเป็นโพชฌงค์ อันเป็นองค์ที่ตรัสรู้ ฉะนั้นจะต้องสำรวจอารมณ์ของตนว่า อันใดยังบกพร่องจะต้องพยายามทำให้สมบูรณ์ขึ้น จำเป็นจะต้องรู้ถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อถอย ให้เข้าใจเถิดว่า การที่จะบรรลุมรรคผล รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น มิใช่ของที่จะทำได้ง่ายเลย จะต้องเข้าใจเหตุและผลอย่างละเอียดรอบคอบ มีทางเดียวคือเจริญสติปัฏฐาน ๔
กองที่ ๗ มรรคมีองค์ ๘ มรรคที่จัดไว้ในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้กล่าวเฉพาะมรรคที่เป็นทางชอบแต่อย่างเดียว จึงมีเพียง ๘ มรรค เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบด้วยการเห็นว่า ร่างกายหรือสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานี้ ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นเพียงธรรมชาติรูปกับนามเท่านั้น รูปกับนามนี้ยังเป็นสภาพอนิจจัง คือไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทุกขัง เพราะความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ จึงทำให้เป็นทุกขังและยังเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนที่บังคับบัญชาได้ จะมีสภาพเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยก็หมดไปเองด้วย ไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น
๒.สัมมาสังกัปปะ คือ การคิดดำริแต่สิ่งที่ชอบไม่ออกนอกลู่นอกทาง จะกล่าวว่าเป็นความดำริที่สนับสนุนความเห็นชอบ คือสัมมาทิฏฐิก็ได้ เพราะความดำรินั้น คือ คิดแต่ทางที่จะให้พ้นจากวัฏฏทุกข์เท่า
๓.สัมมาวาจา คือ พูดจาแต่ในสิ่งที่ชอบ หมายถึงการสำรวมระวังในการพูด ไม่ให้ผิดได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดจาหยาบคายไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ขอให้สังเกตด้วยว่า การปฏิบัติตามมรรค ๘ นี้ต้องรักษาศีลมากกว่าผู้ที่สมาทานศีลธรรมดา เพราะต้องเว้นจากการกระทำที่เกี่ยวกับทางกายวาจาแม้แต่การเลี้ยงชีพที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องทุกอย่าง เช่นการพูดเท็จ จะต้องไม่มีการหยอกล้อ หรือหลอกลวงผู้อื่นด้วยวาจา เว้นจากการพูดหยาบทุกชนิด แม้ว่าจะเป็นการด่าประชด กระทบกระแทกเปรียบเปรยก็ตาม ไม่พูดส่อเสียด อย่าพูดใส่ร้าย หรือยุยงให้แตกแยกกัน และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือพูดพล่อย ๆ ไม่เป็นสาระ แม้จะเป็นการพูดสนุก ขบขัน ก็ควรเว้น รวมทั้งการพูดทำนองโอ้อวดคุณวิเศษของตนเองด้วย
๔.สัมมากัมมันตะ การทำงานนี้หมายถึงงานทั่วไปที่จะพึงกระทำ ต้องกระทำด้วยการมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เว้นจากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นเพียงเพื่อความสนุกสนานชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม มรรคมีองค์ ๘ นี้ ต้องละเว้น
๕.สัมมาอาชีวะ ท่านกำหนดไว้ว่า เลิกจากการหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ที่เป็นมิจฉาชีพ อาชีพที่ทำให้เดือดร้อนผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ฆ่าสัตว์ขาย ทำของปลอมปน เป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิตก็เว้นจากการตั้งตนเป็นอาจารย์ผู้วิเศษ ใบ้หวย และกิจกรรมอื่นนอกรีดนอกรอยของบรรพชิตที่ไม่ควรทำ
๖.สัมมาวายมะ คือ มีความเพียรพยายามในทางที่จะให้พ้นทุกข์ หรือตามหลักของสัมมัปปธาน ๔
๗.สัมมาสติ การระลึกชอบ ตรงกับสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง ที่ว่าระลึกในที่นี้ คือ การพิจารณาเนื่อง ๆ ใน ๔ อย่างต่อไปนี้
๗.๑ พิจารณาเห็นกายในกาย
๗.๒ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
๗.๓ พิจารณาเห็นจิตในจิต
๗.๔ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมจะไม่อธิบายซ้ำอีก เพราะได้อธิบายไว้แล้วในหมวดสติปัฏฐาน ๔
๘.สัมมาสมาธิ คือ การตั้งใจแน่วแน่ในการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อบรรลุถึงมรรคและนิพพาน บางท่านเจริญฌาน เมื่อได้ฌานแล้ว จึงยกเอาองค์ฌานขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนา จะเห็นได้ว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้ มีพร้อมทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติต้องอาศัยการเกี่ยวเนื่องกันอย่างพรั่งพร้อม จึงจะสำเร็จกิจ จึงจะประหารกิเลสได้ในมรรคมีองค์ ๘ นี้ ท่านแสดงสัมมาทิฏฐิมรรค คือ คามเห็นที่ถูกต้อง อันได้แก่ปัญญาไว้ก่อน เพราะเป็นองค์ที่มีอุปการคุณอย่างดียิ่ง การที่จะสำเร็จมรรคผล เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น จะขาดปัญญาหรือแม้แต่กำลังของปัญญาอ่อนยิ่งหย่อนไปไม่ได้เลย ท่านอธิบายไว้ว่า เมื่อมีปัญญาชอบแล้วก็ย่อมจะคิดชอบ เมื่อคิดชอบแล้วก็จะพูดชอบ เจรจาชอบ มันเป็นการชอบไปหมด ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นท่านสาธุชน โปรดได้รับทราบไว้ดังที่กล่าวนี้ เมื่อพูดชอบแล้วก็ย่อมทำชอบ เป็นผู้ทำการงานขอบก็ย่อมมีความเป็นอยู่เลี้ยงชีพชอบไปด้วย เมื่อมีอาชีพชอบ ที่มั่นคงก็ย่อมมีความเพียร ความพยายามที่จะดำรงชีพนั้น เมื่อมีความพากเพียรที่ชอบ ก็ย่อมมีการระลึกนึกแต่ในทางที่ชอบ ที่ถูกต้อง เมื่อมีสติระลึกชอบแล้ว ก็ย่อมมีความตั้งใจแต่ในสิ่งที่ชอบที่ควรกระทำ อันมรรคมีองค์ ๘ นี้ มีทั้งที่เป็นโลกียะ และโลกุตระ จะแตกต่างกันบ้างก็คือ ถ้าเป็นโลกียะ จะไม่พร้อมกันทั้ง ๘ มรรค แต่ถ้าเป็นโลกุตระ แล้วต้องพร้อมกันทั้งองค์ ๘ เป็นมัคคสมังคี ต้องประกอบพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า พร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา คือ ไตรสิกขา ๓ มรรคที่เป็นโลกียะ มีอารมณ์อย่างอื่นได้ แต่มรรคที่เป็นโลกุตระ จะต้องมีอารมณ์เป็นนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะศีลในโลกียะนั้น เพียงเว้นสิ่งอันพึงเว้นที่มาปรากฏเฉพาะหน้า แต่โลกุตระไม่ต้องมีวัตถุเว้น เพราะ วีรตีเจตสิก หรือศีลที่เป็นโลกุตระนั้น เป็นองค์มรรคมีหน้าที่ประหารกิเลส ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงละเว้นการงานทุจริต เพราะหน้าที่หรือกิจการของมรรค ประหารกิเลสได้เป็นสมุทเฉท คือ เด็ดขาด แต่มรรคในโลกียะเพียงข่มไว้ได้ชั่วคราวเวลาเจริญฌาน เรียกว่า วิขัมภนประหาร หรือเพียง ตทังคประหาร ขอให้เข้าใจว่าสติปัฏฐาน ๔ และอัฏฐังคิกมรรคในโพธิปักขิยธรรม สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นธรรมหมวดแรกนั้น ทำหน้าที่เพื่อให้แจ้งพระนิพพาน แต่มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหมวดสุดท้าย ก็เป็นไปเพื่อให้แจ้งพระนิพพาน ฉะนั้นการที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องดำเนินไปตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา อันมีสติปัฏฐาน ๔ และมรรคมีองค์ ๘ เป็นจุดเริ่มต้น และจุดที่จะให้สำเร็จ แต่ในขณะที่บรรลุแจ้งพระนิพพานนั้น โพธิปักขิยธรรมต้องประกอบ หมายถึงทำหน้าที่พร้อมเพรียงกัน ขอกล่าวย้ำเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาธุระนี้ เป็นสิ่งสำคัญข้อหนึ่งของสัทธรรม ๓ เพราะนอกจากจะเรียนรู้ปริยัติสัทธรรมแล้ว ก็ต้องเจริญสัทธรรมข้อ ๒ อันได้แก่ ปฏิบัติสัทธรรม ถ้าปรารถนาจะให้หลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ ก็มีทางเดียว คือ เจริญวิปัสสนา มีสติปัฏฐานและมรรคที่องค์ ๘ เป็นทางเดิน จึงจะสามารถึงสัทธรรมข้อ ๓ คือ ปฏิเวชสัทธรรม อันนำมาซึ่งสันติสุขอันถาวร พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการปฏิบัตินี้ว่า เป็นการบูชาอย่างเยี่ยมยอด แนวทางวิปัสสนานี้ ถือเอารูปธรรม นามธรรม เป็นกรรมฐาน เอารูปนามเป็นอารมณ์ เอารูปนามเป็นทางเดิน โดยมีสติเป็นผู้เพ่ง ปัญญาเป็นผู้รู้ เพื่อให้แจ้งแทงตลอดในสภาวธรรม ที่หลงยึดมั่นถือมั่นว่ามีสภาพความเป็นจริงอย่างไร และละโมหะที่ทำให้หลงงมงายออกเสียได้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระอย่างถูกต้อง และได้ผลสมความปรารถนา สรุปได้ดังนี้
๑. ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอน คือ มีกัลยาณมิตร
๒.มีที่ปฏิบัติที่สงบสงัดเป็นสัปปายะ
๓.ต้องมีธรรมคือ ความตั้งใจจริง ความไม่ประมาท และปัญญา
๔.ไม่มีปลิโพธ คือ ความไม่กังวล ห่วงใยใด ๆ ทั้งสิ้น
ฉะนั้นผู้ที่จะปฏิบัติ ควรจะประกอบองค์คุณธรรม คือ มีความเลื่อมใส ศรัทธาจริง ไม่มีหนี้สินที่จะทำให้ห่วงกังวล ไม่มีโรคร้ายแรง โรคติดต่อ ไม่เป็นโรคจิต ไม่เป็นโรคประสาท พร้อมที่จะทำความเพียรได้ และควรเป็นบุคคลที่มีระเบียบ แบบแผนพร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบกติกา ของสำนักวิปัสสนากรรมฐานทุกประการของความสุขสวัสดีจงมีแก่สาธุชนทุกท่านเทอญ
-----------------------------------------------------------------
โพธิปักขิยธรรมธรรมบรรยายของพระราชสุทธิญานมงคล(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ๕ ธันวาคม ๒๕๓๒