วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การปล่อยวาง โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท

การที่เราอยู่ร่วมกันรี้จะต้องมีระเบียบ ระเบียบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนหมู่มาก ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น อยู่คนเดียวก็ต้องมีระเบียบอย่างพระวินัย พระวินัยสมัยก่อนนี้มีนิดเดียวพระสงฆ์ที่มาบวชในพระพุทธศาสนามีมากขึ้นต่างคนต่างจะทำอะไร ก็มีหลายเรื่อง บางคนอยากจะทำอย่างนั้น บางคนอยากจะทำอย่างนี้ ก็มีกันมาเรื่อยๆ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าของเราตั้งข้อกติกา คือพระวินัยขึ้นมา เพื่อเป็นข้อปฏิบัติอยู่ไปนานๆ ก็มีตนบางคนก็ทำเรื่องมาอีกหลายอย่าง ดังนั้นพระวินัยจึงไม่มีทางจบสิ้น หลายล้านสิกขาบท แต่ก็ไม่จบ พระวินัยไม่มีทางจบสิ้น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องธรรม เรื่องธรรมะนี่มีทางจบ ก็คือ “การปล่อยวาง” เรื่องพระวินัยก็คือเอาเหตุผลกัน ถ้าเอาเหตุผลกันแล้วไม่จบหรอก สมัยหนึ่งอาตมาไปบริหารพระ 3-4 องค์ไปอยู่ในป่า ไฟไม่ค่อยจะมี เพราะอยู่บ้านป่า องค์หนึ่งก็ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน อ่านอยู่ที่หน้าพระประธานที่ทำวัตรกัน อ่านอยู่ก็ทิ้งตรงนั้นแล้วก็หนีไป ไฟไม่มี มันก็มืด พระองค์ที่มาทีหลังก็มาเหยียบหนังสือ จับหนังสือขึ้นมาก็โวยวายขึ้นว่า “พระองค์ไหนนี่ไม่มีสติ ทำไมไม่รู้จักที่เก็บหนังสือ” สอบสวนถามไปถึงพระองค์นั้น พระองค์นั้นก็รับปากว่า “ผมเอาหนังสือเล่มนี้ไว้ที่นี่” “ทำไมท่านไม่รู้จักเก็บหนังสือ ผมเดินมา ผมเหยียบหนังสือเล่นนี้” “โอ...อันนั้นเป็นเพราะท่านไม่สำรวมต่างหากเล่า” เห็นไหมมันมีเหตุผลอย่างนั้น จึงเถียงกัน องค์นั้นบอกว่า “เพราะท่านไม่เอาไปไว้ในที่เก็บ ท่านไม่รู้จักเก็บหนังสือ ท่านจึงไว้อย่างนี้” องค์นี้บอกว่า “เป็นเพราะท่านไม่สำรวม ถ้าท่านสำรวมแล้ว คงไม่เดินเหยียบหนังสือเล่มนี้” มีเหตุผลว่าอย่างนั้น มันก็เกิดเรื่องทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่จบด้วยเรื่องเหตุผล เรื่องธรรมะที่แท้จริงนั้น ต้องทิ้งเหตุทิ้งผล คือ ธรรมะมันสูงกว่านั้น ธรรมะที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ ระงับกิเลสทั้งหลายได้นั้น มันอยู่นอกเหตุเหนือผลไม่อยู่ในเหตุอยู่เหนือผล ทุกข์มันไม่มี สุขมันจึงไม่มี ธรรมนั้นท่านเรียกว่าระงับ ระงับเหตุระงับผล ถ้าพวกใช้เหตุผลอยู่อย่างนี้ เถียงกันตลอดจนตาย เหมือนพระสององค์นั้น ธรรมที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ ต้องอยู่นอกเหตุเหนือผล นอกสุขเหนือทุกข์ นอกเกิดเหนือตาย ธรรมนี้เป็นธรรมที่ระงับ คนเราก็มาสงสัยอยู่นี่แหละ ผู้ชายยิ่งสงสัยมาก ความสงสัยนี่ตัวสำคัญ มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะตายอยู่แล้ว มันไม่ใช่ธรรมของพระพุทธองค์ ธรรมนั้นเป็นข้อปฏิบัติ เป็นทางเดิน เดินไปเท่านั้น ถ้ามัวคิดว่าเมื่อไปถึงนี้ ฉันนี้สุขเหลือเกิน ไม่ได้ ฉันนี้ทุกข์เหลือเกิน ไม่ได้ แต่ถ้าฉันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ นี่คือมันระงับแล้วสงสัยไม่มี ตรงโน้นมันจะมีอยู่ที่ตรงไหน มันก็อยู่ตรงที่ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สุขเกิดขึ้นมา ทุกข์เกิดขึ้นมา เรารู้มันทั้งสองอย่างนี้ สุขนี้ก็สักว่าสุข ทุกข์เกิดขึ้นมาเรารู้มันทั้งสองอย่างนี้ สุขนี้ก็สักว่าสุข ทุกข์นี้ก็สักว่าทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นมาดับไปเท่านั้นจะเอาอะไรกับมัน สงสัยทำไมมันเกิดอย่างนั้นเมื่อเกิดอีกทำไมมันไปอย่างนั้นล่ะ สงสัยอย่างนี้มันเป็นทุกข์ ปฏิบัติไปจนตายก็ไม่รู้เรื่อง มันทำให้เกิดเหตุ ไม่ระงับเหตุของมัน
ความเป็นจริง ธรรมที่พวกเราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ธรรมนี้นำเราไปสู่ความสงบ สงบจากอะไร จากสิ่งที่ชอบใจ จากสิ่งที่ไม่ขอบใจ ถ้าเราชอบสิ่งที่เราชอบใจ ไม่ชอบสิ่งที่เราไม่ชอบใจ มันไม่หมด ธรรมนี้ไม่ใช่ธรรมระงับ ธรรมนี้เป็นธรรมก่อทุกข์ขึ้นมา ให้เข้าใจอย่างนั้น ฉะนั้น เราจึงสงสัยตลอดเวลา แหม วันนี้ฉันได้มาแล้ว พรุ่งนี้ทำไมหายไปแล้ว มันหายไปไหน ฉันนั่งเมื่อวานนี้ มันสงบดีเหลือเกิน วันนี้ทำไมมันวุ่นวาย มันไม่สงบ เพราะอะไร อย่างนี้ก็เพราะเราไม่รู้เหตุของมัน ครั้นปล่อยวางว่า มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ เห็นไหม มันเป็นอยู่ของมันอย่างนี้ วันนี้มันสงบแล้ว เออไม่แน่นอนหนอ เราต้องเห็นโทษมันอย่างนี้ สงบแล้วมันก็ไม่แน่นอน ฉันไม่ยึดมั่นไว้ สงบก็สงบเถอะ ความไม่สงบก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ฉันไม่ว่า ฉันเป็นผู้ดูเท่านั้น ที่สงบฉันก็รู้ว่าเรื่องมันสงบ ที่ไม่สงบฉันก็รู้ว่าเรื่องไม่สงบ เห็นไหมเรื่องมันเป็นอยู่ของมันอย่างนั้น อย่างนี้มันก็ระงับ มันก็ไม่วุ่นวาย มันจะสงบ ฉันก็รู้ว่ามันเรื่องของมัน ฉันจะดูอยู่แค่นี้แหละ ดูเรื่องที่มันสงบ มันก็ไม่แน่นอน ดูเรื่องที่มันวุ่นวาย มันก็ไม่แน่นอน มันแน่นอนอยู่แต่ว่ามันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเราอย่าไปเป็นกับมันเลย ถ้าอย่างนี้ มันก็สบายและสงบ เพราะเรารู้เรื่องมัน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น อยากให้เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ มันสงบ เพราะเรารู้เรื่องว่าเป็นอย่างนั้น แล้ก็มีการปล่อยวาง เราคิดดูซิว่า ถ้าคนทุกคนต้องพูดให้ถูกใจฉัน คนทุกคนต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ฉันจึงจะสบาย คนทั้งโลกจะให้เขามาพูดถูกใจเรามีไหม จะทำถูกใจเราทุกคนมีไหม ไม่มีเมื่อไม่มี เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีการปล่อยวาง เราเกิดมาในชีวิตหนึ่ง เราจะหาความสงบว่า คุณต้องพูดให้ถูกใจฉัน คุณต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสบาย ในชีวิตหนึ่งจะได้สบายไหมคนเรา คุณต้องพูดให้ถูกใจฉัน คุณต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นฉันก็ไม่สงบ คนคนนี้เกิดมาไม่รู้กี่ชีวิตก็ไม่มีความสงบเพราะคนหลายคน ใครจะมาพูดให้ถูกใจเราทุกคนใครจะมาทำให้ดีทุกหน มันไม่มีหรอกอย่างนี้ นี่มันเป็นธรรมะ เราจะต้องศึกษาอย่างนี้ ฉะนั้น เราจะต้องอดทน อดทนต่ออารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา อย่าไปหมายมั่น อย่าไปยึดมั่นจับมาดูแล้วรู้เรื่อง เราก็ปล่อยมันไปเสีย อย่างนางเตยนี้ เห็นไหม มันทำอย่างนั้น มันถูกใจเราไหม บางทีก็ไปในวัดและก็เข้าห้องน้ำเสีย ฉันจะปลงสังขารเดี๋ยวนี้ ฉันไม่หนีหรอก จะไปรื้อส้วมเอามันออกมา ต่อมามันก็ทำอีก เพราะคนมันเป็นบ้าเสียแล้ว จำเป็นมันก็ต้องปล่อยไป นางเตยมันเป็นบ้าเสียแล้ว เราต้องรู้เรื่องกันว่ามันเป็นบ้ามันสติไม่ดี มันเสียสติ อย่าไปถือมันเลย เขาจะพูดอย่างไรก็รับฟังมันไปเถอะ มันจะทำอย่างไรก็ระวังไว้ มันเป็นอย่างนั้นของมัน เราต้องถอยกลับมาอยู่ตรงนี้ เราก็มีความสบาย อารมณ์ก็เหมือนกันฉันนั้น ที่มันมากระทบเราอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็ร้าย บางทีก็ดี บางทีก็ชอบใจ บางทีก็ไม่ชอบใจ คนทุกๆคนนั่งอยู่ในนี้ก็เหมือนกันจะทำให้ถูกใจเราทุกคนมีไหม มันไม่ได้ นอกจากเราปฏิบัติธรรมะให้รู้ว่าคนคนนี้มันเป็นอย่างนี้นานาจิตตังไม่เหมือนกัน เราจำเป็นต้องอบรมใจของเราทุกๆคนเมื่อมันโกรธขึ้นก็ดูความโกรธ ความโกรธนี้มันมาจากไหน เราให้มันโกรธหรือเปล่า ดูว่ามันดีไหม ทำไมเราถึงชอบมัน ทำไมเราถึงไม่ทิ้งมัน เมื่อโกรธขึ้นมาแล้วไม่ดี ไม่ดีเราเก็บมันไว้ทำไม ก็เป็นบ้าเท่านั้น ทิ้งมันเสียถ้าเห็นว่ามันไม่ดี มันก็จะไปในทำนองนี้ เมื่ออยู่ด้วยกันกับคนมากๆ มันก็ยิ่งให้การศึกษาเรามากที่สุด ให้มันวุ่นวายเสียก่อน ให้รู้เรื่องของความวุ่นวายเสียก่อน มันจึงจะถึงความสงบ อย่าหนีไปที่ไหน พระอานนท์กับพระพุทธเจ้าของเราในสมัยก่อน ไปบิณฑบาตบ้านมิจฉาทิฏฐิ พอไปถึงหน้าบ้าน พระพุทธองค์ก็สะพายบาตรยืนเฉย ท่านก็สบายเพราะว่าท่านเข้าใจว่าเรายืนอยู่เฉยๆ มันไม่บาปหรอก เขาจะให้ก็ไม่เป็นไร เขาจะไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ท่านยืนอยู่เฉยๆ พระอานนท์เดินย่ำเท้าไปมา อายเขา คิดว่าพระพุทธองค์นี้อยู่ทำไม ถ้าเขาไล่ก็น่าจะหนีไป เขาไม่ให้ก็ยังทนอยู่ ไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย พระพุทธองค์ก็เฉย จนกว่าสุดวิสัยแล้วก็ไป บางทีเขาก็ให้ให้ในฐานที่ไม่เคารพ พระพุทธเจ้าก็เอา เขาให้พระพุทธเจ้าก็เอา ท่านไม่หนีไปไหน ไม่เหมือนพระอานนท์ พอกลับมาถึงอาราม พระอานนท์ก็กราบพระพุทธองค์ ถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงไหนที่เขาไม่ใส่บาตรให้เรา เราจะไปยืนอยู่ทำไม มันเป็นทุกข์อายเขา เขาไม่ให้ก็รีบไปที่อื่นเสียดีกว่า” พระพุทธองค์ตรัส “อานนท์ ตรงนี้ถ้าเรายังไม่ชนะมัน ไปที่อื่นก็ไม่ชนะ ถ้าเราชนะอยู่ที่นี่ ไปที่อื่นเราก็ชนะ” พระอานนท์ว่า “ชนะไม่ชนะไม่รู้เรื่องแหละ อายเขา” “อายทำไมอานนท์ อย่างนี้มันผิดหรือเปล่า เป็นบาปไหม เรายืนอยู่ เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร” พระอานนท์บอกว่า “อาย” “อายทำไม เรายืนอยู่เฉยๆ มันเป็นบาปที่ไหน อานนท์เราจะต้องทำอยู่อย่างนี้ ถ้าเราชนะมันตรงนี้ ไปที่ไหนมันก็ชนะ แต่ถ้าเขาไม่ให้ เราก็ไปที่โน้น ถ้าไปที่โน้นแล้ว เขาไม่ให้ เราจะไปไหน อานนท์” “ไปอีก ไปบ้านโน้นอีก” “ถ้าหากบ้านโน้นเขาก็ไม่ให้ เราจะไปตรงไหน” “ไปตรงโน้นอีก” “เลยไม่มีที่หยุดเลย อานนท์ ถ้าเราไม่ชนะตรงนี้ ไปข้างหน้ามันไม่ชนะ ถ้าเราชนะอยู่ที่นี่แห่งเดียว ไปที่อื่นมันก็ชนะทั้งนั้น อานนท์เข้าใจผิดแล้วไม่ต้องอายซิ”
พระองค์ตรัสว่า อะไรเป็นบาป อันนั้นท่านให้อาย อะไรที่ไม่เป็นบาปจะอายทำไม ใครอายก็โง่เท่านั้น ภาวนายังไม่เป็นเลย ถ้าอายอย่างนั้น เราจะไปอยู่ตรงไหนถึงจะมีปัญญา ถ้าไปอยู่คนเดียว ไม่มีใครพูดดีพูดชั่วให้ มันก็สบายแต่เราจะไม่รู้เรื่อง สบายอย่างนี้ มันไม่มีปัญญา ถ้าถูกอารมณ์แล้ว ปัญญามันไม่มี ก็เป็นทุกข์อย่างนั้น ฉะนั้น เราอยู่ในโลก ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์เรื่อยไปเป็นธรรมดา ไม่อยากเป็นมันก็เป็น ไม่อยากจะอยู่มันก็อยู่ เป็นไปอยู่อย่างนั้น ให้เรามาพิจารณาอย่างนั้น เราต้องกลับมาย้อนพิจารณาอารมณ์ที่ท่านตรัสว่า นินทาสรรเสริญมันเป็นคู่กันมา เรื่องนินทาเรื่องสรรเสริญเป็นธรรมดาของโลก ถ้าไม่ดีเขาก็นินทา ถ้าดีเขาก็สรรเสริญพระพุทธองค์ท่านไม่เห็นแก่นินทา ไม่เห็นแก่สรรเสริญ จงเรียนสรรเสริญให้มันรู้จัก จงมาเรียนนินทาให้มันรู้จัก ให้รู้จักสรรเสริญกับนินทา สรรเสริญนินทามันก็มีผลมีเหตุเท่ากัน นินทาเราก็ไม่ชอบ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ถ้าสรรเสริญเราชอบ สิ่งที่เราชอบมันพาให้เราทุกข์มีไหม เช่นว่าเรามีเพชรสักก้อนหนึ่ง เราชอบมาก ชอบกว่าก้อนหินธรรมดา เอาวางไว้ ถ้ามีขโมยมา หยิบเอาก้อนเพชรไป เราจะเป็นอย่างไร นั่นของดีมันหาย ทำให้เราเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน ดังนั้น เราต้องอดทนต่อสู้ ให้เรามีสติคุ้มครองจิตของเรา สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว อันนี้ช่วยประคับประคองดวงใจของเราให้อยู่กับธรรมะ สติระลึกได้ว่า บัดนี้เราจะจับไม้เท้า เมื่อเราจับไม้เท้าอยู่ก็รู้ว่าเราจับไม้เท้านี่เป็นสัมปชัญญะ ถ้าเรารู้อยู่ในขณะนี้ ขณะเมื่อเราจะทำ หรือเมื่อเราทำอยู่ ก็รู้ตามความจริงของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้แหละที่จะช่วยประคับประคอบใจของเราให้รู้ธรรมะที่แท้จริง ทีนี้ถ้าหากว่า เราเผลอไปนาทีหนึ่ง ก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง เราไม่มีสติสองนาที เราก็เป็นบ้าสองนาที ถ้าไม่มีสติครึ่งวัน เราก็เป็นบ้าอยู่ครึ่งวันเป็นอย่างนี้ สตินี้คือความระลึกได้ เมื่อเราจะพูดอะไร ทำอะไร ต้องรู้ตัว เราทำอยู่ เราก็รู้ตัวอยู่ ระลึกได้อยู่อย่างนี้ คล้ายๆกับเราขายของอยู่ในบ้านเรา เราก็ดูของของเราอยู่ คนจะเข้ามาซื้อของหรือขโมยของของเรา ถ้าเราสะกดรอยมันอยู่เสมอ เราก็รู้เรื่องว่า คนคนนี้มันมาทำไม เราจับอาวุธของเราไว้อยู่อย่างนี้ คือเรามองเห็น พอขโมยมันเห็นเรา มันก็ไม่กล้าจะทำเรา อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติรู้อยู่ มันจะทำอะไรเราไม่ได้ อารมณ์มันจะทำให้เราดีใจอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ มันไม่แน่นอนหรอก เดี๋ยวมันก็หายไป จะไปยึดมั่นถือมั่นทำไม อันนี้ฉันไม่ชอบ อันนี้ก็ไม่แน่นอนหรอก ถ้าอย่างนี้ อารมณ์นั้นก็เป็นโมฆะเท่านั้น เราสอนตัวของเราอยู่ เรามีสติอย่างนี้ เราก็รักษาอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ตอนกลางวัน ตอนกลางคืน ตอนไหนๆ ก็ตาม
เมื่อเรายังมีสติอยู่ เมื่อนั้นแหละเราได้ภาวนาอยู่ การภาวนาไม่ใช่ว่าเราจะนั่งสมาธิอย่างเดียว ยืนเดินนั่งอยู่เราก็รู้จัก นอนอยู่เราก็รู้จัก เรารู้จักตัวของเราอยู่เสมอ จิตเรามีความประมาทเราก็รู้จัก ไม่มีความประมาท เราก็รู้จักของเราอยู่ ความรู้อันนี้แหละที่เรียกว่า “พุทโธ” เรารู้เห็นนานๆ พิจารณาดีๆ มันก็รู้จักเหตุผลของมัน มันก็รู้เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ชาวตะวันตกมาอยู่ในประเทศไทย อยู่ไปเฉยๆอย่างนั้น ความที่อยู่ติดต่อใกล้ชิดกันไป ถึงแม้พูดภาษาไม่รู้เรื่องก็ตาม แต่มันรู้เรื่องเข้าใจได้ เห็นไหม มองดูหน้ากันรู้เรื่องกัน ถึงพูดภาษาไม่รู้เรื่อง แต่ก็อยู่กันไปได้ มันรู้กันด้วยวิธีนี้ ไม่ต้องพูดกัน ทำงานก็ต่างคนต่างทำ ทำอยู่ใกล้ๆกันนั่นแหละ ไม่รู้จักพูดกัน มันก็ยังรู้เรื่องกัน อยู่ด้วยกันได้ รู้ได้โดยอากัปกิริยาที่ว่ารักกันหรือชอบกัน อะไรมันก็รู้ของมันอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนั้น เหมือนกันกับแมวกับสุนัข มันไม่รู้ภาษา แต่ว่ามันก็รู้จักรักเจ้าของเหมือนกัน แมวหรือสุนัขอยู่บ้านเรา ถ้าเรามาถึงบ้าน สุนัขมันก็วิ่งไปทำความขอบคุณด้วย เห็นไหม ถ้าเรามาจากตลาดหรือมาจากที่อื่นมาถึงบ้านแมวอยู่ที่บ้านเรา มันก็มาทำความขอบคุณ มันจะร้องว่า เหมียวๆ มันมาเสียดมาสีเรา แต่ภาษามันไม่รู้ แต่จิตมันรู้อย่างนั้น อันนี้เราก็อยู่ไปได้อย่างนั้น เราต้องให้เข้าใจกันอย่างนั้น เราปฏิบัติธรรมะบ่อยๆ จิตมันก็คุ้นเคยกับธรรมะ เช่นว่า ความโกรธเกิดขึ้นมามันเป็นทุกข์ พระท่านว่ามันเป็นทุกข์มาแล้วชอบทุกข์ไหม ไม่ชอบ แล้วเอาไว้ทำไมถ้าไม่ชอบจะยึดเอาไว้ทำไม ทิ้งมันไปสิ ถ้าทุกข์มันเกิดล่ะ คุณชอบทุกข์หรือเปล่า ไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบทุกข์แล้วยึดไว้ทำไม ก็ทิ้งมันเสียซิ ท่านก็สอนทุกวันๆ ก็รู้เข้าไปๆ ทุกข์มันเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง เราก็รู้คำสอนครั้งหนึ่ง ทุกข์เราก็ไม่ชอบ ไม่ชอบทุกข์แต่เราไปยึดไว้ทำไม สอนอยู่เรื่อยๆ บางทีก็เห็นชัด เห็นชัดก็ค่อยๆวาง วางไปก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างเก่า ทีหนึ่งก็ดี สองทีก็ดี สามทีก็ดี มันก็เกิดประโยชน์แล้ว เกิดรู้เรื่องขึ้นแล้ว เมื่อมันเกิดมาความรู้เฉพาะตัวของเรา เราจะนั่งอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พูดภาษาไม่เป็นแต่จิตเรารู้ภาษาธรรมะ เราปิดปากตรงนี้ไว้ ปิดปากกาย แต่เปิดปากใจนี้ไว้ ใจมันพูด นั่งอยู่เงียบๆ ยิ่งพูดดี พูดกับอารมณ์ รู้อารมณ์เสมอ นี่เรียกว่า “ปากใน” นั่งอยู่เฉยๆ เราก็รู้จัก พูดอยู่ข้างในรู้อยู่ข้างใน ไม่ใช่คนโง่ คนรู้อยู่ข้างใน รู้จักอารมณ์สั่งสอนตัวเองก็เพราะอันนี้... ชีวิตของเรานี้ มันแก่ทุกวัน เกิดมามีการยกเว้น ไม่แก่บ้างไหม วันคืนของเรานี้ ตอนเช้า ตอนเที่ยง ตอนเย็น ตอนค่ำ มันยกเว้นอายุเราไหม วันนี้มันก็ให้แก่ พรุ่งนี้มันก็ให้แก่ นอนหลับอยู่มันก็ให้แก่ นอนหลับอยู่มันก็ให้แก่ ตื่นอยู่ก็ให้โตขึ้นตามเรื่องของมัน เรียกว่า ปฏิปทาของมันสม่ำเสมอเหลือเกิน เราจะนอนอยู่ มันก็ทำงานของมันอยู่ เราจะเดิน มันก็ทำงานคือ ความโตของเรานี่แหละ กลางวันมันก็โต กลางคืนมันก็โต จะนั่งจะนอนมันมีความโตของมันอยู่ เพราะชีวิตประจำวันมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ร่างกายของเรามันได้อาหาร มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่าปฏิปทาของมัน มันจึงทำให้เราโต จนไม่รู้สึก ดูเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย มันก็โตของมันเอง แต่สิ่งที่เราทำคือ เรากินอาหาร กินข้าว ดื่มน้ำ นั่นเป็นเรื่องของเรา เรื่องร่างกายมันจะโตจะอ้วน มันก็เป็นของมัน เราก็ทำงานของเรา สังขารก็ทำงานของสังขาร มันไม่พลิกแพลงอะไร นี่ปฏิปทามันติดต่อกันอยู่เสมอ
การทำความเพียรของเราก็เหมือนกัน ต้องพยายามอยู่อย่างนั้น เราจะต้องมีสติติดต่อกันอยู่อย่างนั้นเสมอ มีความรู้ติดต่อกันอยู่เสมอเป็นวงกลม จะไปถอนหญ้าก็ได้ จะนั่งอยู่ก็ได้ จะทานอาหารก็ได้ จะกวาดบ้านอยู่ก็ได้ ต้องไม่ลืมมีความรู้ติดต่ออยู่เสมอตัวนี้มันรู้ธรรมะมันจะพูดอยู่เรื่อยๆ ใจข้างในมันจะพูดอยู่เรื่อยๆ เป็นอยู่อย่างนั้น มีความรู้อยู่ มีความตื่นอยู่ มีความเบิกบานอยู่สม่ำเสมออย่างนั้น นั้นเรียกว่า เป็นประโยชน์มาก ไม่ต้องสงสัยอะไรเลย อะไรมันเกิดขึ้นมา เราก็เห็นว่าอันนี้มันไม่แน่นอน มันไม่เที่ยงอันนั้นก็ดี แต่ว่ามันไม่แน่นอน มันไม่เที่ยง เท่านี้ละเราก็รู้ของเราไปเรื่อยๆ เท่านั้นแหละการปฏิบัติของเรา มีคนถามว่า การทำภาวนานี้ต้องอธิษฐานหรือไม่ว่า จะทำเวลานานเท่าไร่ ห้า หรือ สิบนาที อาตมาเลยบอกว่า ไม่แน่นอน บางทีอธิษฐานว่า ฉันจะนั่งสามชั่วโมง นั่งไปได้สิบนาทีก็เดือดร้อนแล้ว ไม่ถึงชั่วโมงก็หนีไปแล้ว เมื่อหนีไปแล้วก็มานั่งคิดว่า แหม เรานี้พูดโกหกตัวเราเองเอาแต่โทษตัวเองอยู่ ไม่สบายใจ บางทีก็เอาธูปสักดอกหนึ่งมาจุด อธิษฐานจิตใจว่า ไฟจุดธูปดอกนี้ไม่หมด ฉันจะไม่ลุกหนี ฉันจะพยายามอยู่อย่างนี้ พอท่านพูดอย่างนี้ พญามารก็มาแล้วนั่งเข้าไปสักนิด นั่นทุกข์หลายเหลือเกิน เดี๋ยวมดกัด เดี๋ยวยุงกัด มันวุ่นไปหมด จะลุกหนีไปก็อธิษฐานแล้ว นี่มันตกนรก นึกว่านานเต็มทีแล้ว ลืมตามองดูธูปก็ยังไม่ถึงครึ่งเลย หลับตาอธิษฐานใหม่ต่อไปอีก สามทีสี่ทีธูปก็ยังไม่หมดเลยก็มาคิดเรานี่มันไม่ดีเหลือเกิน โกหกตัวของตัวอยู่ เลยวุ่นยิ่งกว่าเก่าอีก เรานี้เป็นคนไม่ดี เป็นคนอัปรีย์จัญไร เป็นคนโกหกพระพุทธเจ้า โกหกตัวเราเอง เกิดบาปขึ้นมาอีก อาตมาเห็นว่า ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ พอสมควรที่จะเลิกก็เลิก เหมือนกันกับเราทานข้าว เราอธิษฐานมันเมื่อไร ทานไ มันจวนจะอิ่มจะพอ เราก็เลิกเมื่อนั้น กินมากไปก็อาเจียนออกเท่านั้นแหละ ให้มันพอดีอย่างนั้นเราเหมือนพ่อค้าเกวียน ต้องรู้จักกำลังโคของเรา ต้องรู้จักกำลังเกวียนของเรา โคของเรามีกำลังเท่าไร เกวียนของเรารับน้ำหนักได้เท่าไร ต้องรู้จัก ต้องเอากำลังเกวียนของเรา อย่าเอาตามความอยากของเราสิ เรามีเกวียนเล่นเดียว อยากจะบรรทุกหนักให้ขนาดรถสิบล้อ มันก็พังเท่านั้น ก็ตายน่ะสิ มันต้องค่อยๆไป ค่อยๆทำ อย่างนี้ให้รู้จักของเราปฏิปทาเราทำไปเรื่อยๆก็สบาย มันวุ่นวายก็ตั้งใหม่ ถ้ามันวุ่นวายนักก็ลุกเดินจงกรมเสียซิ เดินมันจนเหนื่อย พอเหนื่อยก็มานั่ง นั่งกำหนด มันเหนื่อยมันจะสงบ ระงับ ถ้าเดินก็พอแรง นั่งก็สมควรแล้ว อยากจะพักผ่อนก็พักผ่อนเสีย แต่ว่าจิตใจอย่าลืม มีสติอยู่ ทั้งเดินทั้งนั่ง ทั้งนอน อยู่ให้สม่ำเสมออย่างนั้น ให้เราเข้าใจอย่างนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องไม่ย่อหย่อนจะต้องทำความพยายามอย่างนั้น ความอยากจะเร็วของเรา อันนี้ไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นความอยากของเรา ใจอยากจะเร็วที่สุด แต่มันทำไม่ได้ธรรมชาติเป็นอยู่อย่างนั้น เราก็กำหนดจิตปฏิบัติตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น อยากจะให้มันเร็วที่สุดนั้น ไม่ใช่ธรรม มันคือความอยากของเรา เราจะทำตามความอยากของเรานั้นไม่จบ ให้รู้จักดูประวัติของพระอานนท์ พระอานนท์นั้นมีศรัทธามากที่สุด พรุ่งนี้เขากำหนดให้พระอรหันต์ทำปฐมสังคายนาแล้ว คณะสงฆ์ก็กำหนดพระอานนท์องค์หนึ่งว่าจะเอาไปร่วมทำสังคายนา แต่จะเอาเฉพาะพระอรหันต์ทั้งนั้น พระอานนท์เหลือเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่รู้จะทำอย่างไร พระอานนท์ก็อาศัยความอยาก นึกว่าเราจะต้องทำอะไรหนอ จึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พรุ่งนี้เขาจะนับเข้าอันดับแล้ว จะประชุมสงฆ์ทำสังคายนา ตอนกลางคืนก็ตั้งใจนั่ง ไม่ได้นอนทั้งคืน นั่งทำอยู่งอย่างนั้น อยากจะเป็นพระอรหันต์ กลัวจะไม่ทันเพื่อนเขาทำไปทุกอย่าง คิดไปทางนี้ก็มีแต่ปัญญาหยาบคิดไปทางโน้นก็มีแต่ปัญญาหยาบ คิดไปทางไหนก็มีแต่ปัญญาหยาบทั้งนั้น วุ่นวายไปหมด คิดไปก็จวนจะสว่าง เรานี่แย่ เราจะทำอย่างไรหนอเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายจะทำสังคายนาแล้ว เรายังเป็นปุถุชนจะทำอย่างไรหนอ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทางแสดงไว้ เราพิจารณาทุกอย่างไม่ขัดข้องแต่เรายังตัดกิเลสไม่ได้ ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ทำอย่างไรหนอ เลยคิดว่าเราก็ทำความเพียรมาตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงบัดนี้ หรือมันจะเหนื่อยไปมากกระมัง คิดว่าควรจะพักผ่อน ก็ปล่อยวางทอดธุระหมดเท่านั้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนเลย พอเท้าพ้นพื้นเท่านั้น ตอนนั้นขณะจิตเดียว พอดีจิตรวมได้ ที่ตั้งใจว่าจะพักผ่อน มันปล่อยวางทอดธุระตอนนั้นเองพระอานนท์ได้ตรัสรู้ธรรม ตอนที่ว่าอยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น อยากจะให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีเวลาจะพักผ่อน ไม่ปล่อยวาง ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะตรัสรู้ธรรม ให้เข้าใจว่า การที่ตรัสรู้ธรรมนั้น มันพร้อมกับการปล่อยว่างด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าเราจะเร่งให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ด้วยเห็นว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น พอพักผ่อน พอวางเข้าปุ๊บ ตรงนั้นไม่มีอะไรเข้ามายุ่ง ไม่มีความอยากเข้ามายุ่ง เลยสงบตรงนั้นเลย พอจิตตอนนั้นรวมดีเป็นโอกาสพบตรงนั้น พระอานนท์เกือบจะไม่รู้ตัว รู้ตัวว่ามันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น ที่พระอานนท์อยากจะตรัสรู้ให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ได้ นี่คือความอยากแต่พอรู้จักวาง ตรงนั้นแหละคือการตรัสรู้ธรรมะ คนไม่รู้จักมันก็ทำยาก เช่นว่า ตรงนั้นไม่ใช่ที่อยู่ของคน ความวิตกของปุถุชนจะไปวิตกตรงนั้นก็ไม่ได้เช่น นี่พื้น นั่นหลังคา ตรงนี้(ระหว่างหลังคากับพื้น) ไม่มีอะไร เห็นไหม ตางนี้ไม่มีภพ ภพคือหลังคากับพื้น ระยะกลางนี้เรียกว่าไม่มีภพ ถ้าคนจะอยู่ก็ต้องอยู่ข้างล่างหรือข้างบน ตรงนี้ไม่มีคนที่จะอยู่ เพราะว่ามันไม่มีภพ ตรงนี้คนไม่สนใจ การปล่อยวางอย่างนี้ คนไม่สนใจว่าการปล่อยวางมันเกิดอะไรไหม เมื่อขึ้นไปถึงโน้นเป็นภพเคยอยู่ ลงมาทางนี้ก็เป็นภพเคยอยู่ ขึ้นไปข้างบนหน่อยก็สุขสบายหล่นลงมาก็เจ็บ แล้วเป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์กับสุขแต่ที่มันจะวางให้เป็นปกติไม่มี เพราะว่าที่ไม่มีภพนั้นคนไม่สนใจ แม้จิตจะวิตกก็ให้วิตกไปในปกติไม่มีภพ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีภพ ไม่มีชาติ คือ ไม่มีอุปทานนั่นเอง อุปาทานเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าอุปาทานนั้นเราปล่อยไม่ได้ เราอยากจะสงบมันก็ไม่สงบ คนเราอยู่กับภพ ถ้าไม่มีภพ คิดไม่ได้ เพราะนิสัยของคนมันเป็นอย่างนั้น กิเลสของคนเป็นอย่างนั้น พระนิพพานที่พระพุทธองค์ท่านว่าพ้นจากภพชาติ ฟังไม่ได้ ไม่เข้าใจ มันเข้าใจแต่ว่าต้องมีภพชาติ ถ้าไม่มีภพชาติ ถ้าไม่มีที่อยู่ ฉันจะอยู่อย่างไร ยิ่งคนธรรมดาๆ อย่างเราแล้ว ฉันจะอยู่อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ อยากจะเกิดอีก แต่ก็ไม่อยากตาย มันขัดกันเสียอย่างนี้ ฉันอยากเกิด แต่ฉันไม่อยากตาย มันพูดเอาคนเดียวตามภาษาคนแต่การเกิดแล้วไม่ตายนั้นมีไหมในโลก เมื่อคนอยากเกิดก็คือคนนั้นอยากตายนั่นเอง แต่เขาพูดว่าฉันอยากเกิด แต่ฉันไม่อยากตาย มันคิดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เขาก็ไปคิดให้มันทุกข์ ทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น เพราะเขาไม่รู้จักทุกข์ เขาจึงคิดอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านว่า ตายนี้มาจากความเกิด ถ้าไม่อยากตาย อย่าเกิดซิ แต่นี่อยากเกิดอีก แต่ว่าไม่อยากตาย พูดกับกิเลสตัณหานี้มันก็ยาก มันก็ลำบาก มันถึงมีการปล่อยวางได้ยาก มีการปล่อยวางไม่ได้อย่างนี้ กิเลสตัณหามันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ไม่มียางต้นเสาอันนี้ อะไรไปเกาะ ไม่มีที่เกาะ ก็จึงไม่มีภพ ไม่มีชาติ ถ้าพูดถึงว่าเราไม่มีภพมีชาติ เราฟังไม่ได้ จนกระทั่งท่านย้ำเข้าไปถึงตัวตนนี้ว่า ไม่มีตัวมีตน ตัวตนนั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น มันจริงอยู่ มันก็จริงโดยสมมุติ ถ้าพูดถึงวิมุตติ ตัวตนก็ไม่มี เป็นธรรมธาตุอันหนึ่งเกิดขึ้นมาเพราะเหตุเพราะปัจจัยเกิดขึ้นมาเท่านั้น เราก็ไปสมมุติว่ามันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เมื่อเป็นสมมุติเป็นตัวเป็นตนก็ยึดตัวยึดตนนั้นอีก เลยเป็นคนมีตน ถ้ามี “ตน” ก็มี “ของตน” ถ้าไม่มี “ตน” “ของตน” ก็ไม่มี ถ้ามี“ตน”มันก็มีสุขมีทุกข์ ถ้ามี“ตน” มันก็มี “ของตน” พร้อมกันขึ้นมาเลย เราไม่รู้เรื่องอย่างนั้น ฉะนั้นคนเราจึงไปคิดว่า อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย พูดถึงเรื่องกระแสพระนิพพานแล้ว ถ้าไม่รู้ปัจจัตตังแล้ว ก็ไม่มีใครที่จะปรารถนาอะไรถึงพระนิพพานนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องปรารถนาอีกด้วย พระนิพพานปรารถนาไม่ได้เหมือนกัน อย่างนี้มันเป็นลักษณะที่เข้าใจยาก ถึงเราจะเข้าใจในเรื่องพระนิพพาน แต่จะพูดให้คนอื่นฟัง ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน มันไม่เข้าใจ เพราะธรรมอันนี้ ถ้าแบ่งให้กันได้มันก็สบายละซิ แต่ธรรมนี้มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้เฉพาะตัวของเราเอง บอกคนอื่นได้ แต่มีปัญหาอยู่ว่าคนอื่นจะรู้ไหม ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “อักขาตาโรตถาคตา” แปลว่าพระตถาคตเป็นแต่ผู้บอก นั่นก็เหมือนกับเราทุกวันนี้แหละ เป็นผู้บอก ไม่ใช่ผู้ทำให้ บอกแล้วให้เอาไปทำ จึงจะเกิดความมหัศจรรย์ขึ้น เกิดความเป็นจริงขึ้นเฉพาะตน เป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” วิญญูชนรู้เฉพาะตัวเองทั้งนั้น อย่างพูดวันนี้ จะมาเชื่ออาตมานั้นก็ยังไม่ใช่ของดี มันยังไม่ใช่ของแท้ คนที่เชื่อคนอื่นอยู่ พระพุทธองค์ท่านว่ายังโง่อยู่ พระพุทธองค์ท่านให้รับรู้ไว้ แล้วไปพิจารณาให้มันเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะตัวเราเอง ธรรมนี้มันจึงเป็นปัจจัตตังอย่างนั้น ทีนี้ในเรื่องการฟังธรรม ก็ให้ทำความเข้าใจว่าต้องไม่ปฏิเสธ รับฟัง ไม่เชื่อก็พิจารณาดู ไม่เชื่อก็ว่าไม่ว่า เชื่อก็ไม่ว่า วางไว้ก่อน เราจะรู้โดยให้เกิดปัญญา อะไรทุกอย่างถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอในใจของเราเอง ก็ยังไม่ปล่อยวาง คือว่า มีสองข้าง นี่ข้างหนึ่ง นี่ก็ข้างหนึ่ง คนเรานั้นจะแอบเดินมาข้างนี้ หรือแอบเดินไปข้างนั้น ที่เดินไปกลางๆ ไม่ค่อยเดินหรอก มันเป็นทางเปลี่ยวเดี๋ยวรักก็ไปทางรัก พอชังก็ไปทางชัง จะปล่อยการรักการชังนี้ไป มันเป็นทางเปลี่ยว มันไม่ยอมไป
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมะ ทรงเทศน์เป็นปฐมเทศนาเลย ตรงนี้ ทางหนึ่งเป็นสุขทางกาม ทางหนึ่งเป็นทางทุกข์ทรมานตนเอง สองทางนี้ไม่ใช่ทางสงบ ท่านพูดว่าไม่ใช่ทางของสมณะ สมณะนี้คือ ความสงบ สงบจากสุขทุกข์ ไม่ใช่มีความสุขแล้วมันสงบ ไม่ใช่มีความทุกข์แล้วมันสงบ ต้องปราศจากสุขหรือทุกข์ มันจึงเป็นเรื่องความสงบ ถ้าเราทำอย่างนั้นแล้วมีความสุขใจเหลือเกิน อันนี้ก็ไม่ใช่ธรรมะที่ดีนะ แต่เราต้องวางสุขหรือทุกข์ไว้สองข้าง ความรู้สึกต้องไปกลางๆ เดินผ่านมันไปกลางๆ เราก็มองดู สุขก็เห็น ทุกข์ก็เห็น แต่เราไม่ปรารถนาอะไร เดินมันเรื่อยไป เราไม่ต้องการสุข เราไม่ต้องการทุกข์ เราต้องการ ความสงบ จิตใจของเราไม่ต้องแวะไปหาความสุข ไม่ต้องแวะไปหาความทุกข์ ก็เกินมันไปเรื่อยเป็นสัมมาปฏิปทา เป็นมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเกิดขึ้นแล้ว สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริวิตกวิจาร มันก็ชอบทั้งนั้น อันนี้เป็นสัมมามรรคเป็นมรรคปฏิปทา ถ้าจะทำอย่างนี้ให้เกิดอย่างนั้น ทีนี้เราได้ฟังเราก็ไปคิดดู ธรรมะทั้งหมดนี้ ท่านต้องการให้ปล่อยวาง ปล่อยวางจะเกิดขึ้นมานั้น ต้องรู้ความเป็นจริง ถึงจะปล่อยวางได้ ถ้าความรู้ไม่เกิด ก็ต้องมีการอดทน มีการพยายาม มีการปฏิบัติธรรมอยู่ มันต้องใช้ทุนอยู่เสมอทีเดียว เรียกว่าต้องปฏิบัติธรรม แต่เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้ว ธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วย อย่างเลื่อยคันนี้ เขาจะเอาไปตัดไม้ เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้ว อะไรก็หมด เลื่อยก็เอาวางไว้เลย ไม่ต้องไปใช้อีก เลื่อยคือธรรมะ ธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าหากว่ามันเสร็จแล้ว ธรรมะที่อยู่ก็วางไว้ เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ ท่อนนี้ก็ตัด ท่อนนี้ก็ตัด ตัดเสร็จแล้วก็วางไว้ที่นี่ อย่างนั้นเลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อยไม้ก็ต้องเป็นไม้ นี่เรียกว่าถึงหยุดแล้ว ถึงจุดของมันที่สำคัญแล้ว สิ้นการตัดไม้ ไม่ต้องตัดไม้ ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้ การประพฤติปฏิบัติต้องอาศัยธรรมะ ถ้าหากว่าพอแล้ว ไม่ต้องเพิ่มมัน ไม่ต้องถอนมัน ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยวางอยู่อย่างนั้น เป็นไปตามธรรมชาติอันนั้น ถ้าไปยึดมั่นหมายมั่น สงสัยอันนี้เป็นอย่างนั้น มันอยู่ไกลเหลือเกิน อยู่ไกลมากทีเดียว ยังเป็นเด็กอยู่ ยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั่นแหละ ทำอะไรไม่ถูกอยู่นั่น ไม่เอาแล้วอย่างนั้น มันเป็นทุกข์ต้องดู ต้องดูออกจากจิตใจของเรา ดูมันปล่อยมัน ดูว่าอะไรมันเกิดขึ้น ก็รู้ว่าอันนี้ไม่แน่ อันนี้เกิดไม่จริง อันนี้มันปลอม ความจริงมันก็อยู่อย่างนั้น ที่เราอยากให้อันนั้นเป็นอันนี้ อันนี้เป็นอันนั้น นั่นไม่ใช่ทาง มันเป็นอยู่อย่างนั้น ก็วางมันเสีย ความสงบเกิดขึ้นได้ เราข้ามไปข้ามมา มันไม่รู้เรื่อง ก็เป็นทุกข์ตลอดเวลา หายสงสัยเสีย อย่าไปสงสัยมัน เลิกมันเถอะ อย่างไปเป็นทุกข์หลายพอแล้ว ปล่อยวางมันเสีย (หัวเราะ)

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ภารวรรคที่ ๓
อัสสาทสูตรที่ ๑ ว่าด้วย ความปริวิตกของพระโพธิสัตว์เกี่ยวกับขันธ์ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า
อะไรหนอเป็นคุณของรูป อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก
อะไรเป็นคุณของเวทนา อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก
อะไรเป็นคุณของสัญญา อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก
อะไรเป็นคุณของสังขาร อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก
อะไรเป็นคุณของวิญญาณ อะไรเป็นโทษ
อะไรเป็นเครื่องสลัดออก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ปริวิตกต่อไปว่า
สุขโสมนัส อันใดอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของรูป
รูปใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของรูป
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในรูปเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป

สุขโสมนัส อันใดอาศัยเวทนาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของเวทนา
เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของเวทนา
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทะราคะ ในเวทนาเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา

สุขโสมนัส อันใดอาศัยสัญญาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของสัญญา
สัญญาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของสัญญา
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในสัญญาเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งสัญญา

สุขโสมนัส อันใดอาศัยสังขารเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของสังขาร
สังขารใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของสังขาร
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในสังขารเสียได้ นี้เป็นเป็นเครื่องสลัดออกแห่งสังขาร

สุขโสมนัส อันใดอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ
วิญญาณใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีคามแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในวิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ....

อัสสาทสูตรที่ ๒ ว่าด้วย สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
เราได้พบคุณแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แล้ว
เราได้เห็นคุณแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้

เราได้เที่ยวค้นหาโทษแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
เราได้พบโทษแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แล้ว
เราได้เห็นโทษแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว
เราได้เที่ยวค้นหาเครื่องสลัดออกแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
เราได้พบเครื่องสลัดออกแห่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แล้ว
เราได้เห็นเครื่องสลัดออกแห่ง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแ
ล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย....

อัสสาทสูตรที่ ๓ ว่าด้วย คุณและเครื่องสลัดออกแห่งขันธ์ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าคุณแห่งรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่เพราะคุณแห่งรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)มีอยู่ ฉนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดในรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ถ้าโทษแห่งรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่เพราะโทษแห่งรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)มีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ถ้าเครื่องสลัดออกแห่งรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงออกไปจากรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)ได้ แต่เพราะเครื่องสลัดออกแห่งรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)มีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงพึงออกจากรูป(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายยังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ โทษโดยความเป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริงเพียงใด สัตว์ทั้งหลายก็ยังไม่เป็นผู้ออกไป พรากไป หลุดพ้นไป มีใจอันหาขอบเขตมิได้ อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้องทั้งสมณ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เพียงนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายรู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ออกไป พรากไป หลุดพ้นไป มีใจอันหาขอบเขตมิได้ อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้องทั้งสมณ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์

-------------------------------------------------------------------------
อัสสาทสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗
พระสุตตันตปิฏก เล่ม ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวรรค
-------------------------------------------------------------------------
สรุป อัสสาทสูตร
สุขโสมนัส อันใดอาศัยขันธ์ ๕ เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของขันธ์ ๕
ขันธ์ ๕ ใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของขันธ์ ๕
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในขันธ์ ๕ เสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งขันธ์๕
พระพุทธองค์เที่ยวค้นหาคุณแห่งขันธ์ ๕ ได้พบคุณแห่งขันธ์ ๕ แล้ว ได้เห็นคุณแห่งขันธ์ ๕ เท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว ว่า
ถ้าคุณแห่งขันธ์ ๕ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงกำหนัดในขันธ์ ๕ แต่เพราะคุณแห่งขันธ์ ๕ มีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดในขันธ์ ๕
ถ้าโทษแห่งขันธ์ ๕ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ แต่เพราะโทษแห่งขันธ์ ๕ มีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕
ถ้าเครื่องสลัดออกแห่งขันธ์ ๕ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงออกไปจากขันธ์ ๕ ได้ แต่เพราะเครื่องสลัดออกแห่งขันธ์ ๕ มีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงพึงออกจากขันธ์ ๕ ได้
------------------------------------------------------------------------
ปัญหา การเจริญสมถะและวิปัสสนา มีอานิสงส์อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย " ธรรม ๒ อย่างนี้ เป็นธรรมมีส่วนแหงวิชชา ธรรม ๒ อย่าง คืออะไร คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ "
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย " สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ? ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ? ย่อมละราคะได้ "
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย " วิปัสสนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ? ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ? ย่อมละอวิชชาได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย " จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะย่อมไม่หลุดพ้น หรือ ปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชาย่อมไม่เจริญ "
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย " เพราะเหตุนี้แล ความสิ้นราคะ ชื่อเจโตวิมุติ ความสิ้นอวิชชา จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ..”
ป. ทุก. อํ. (๒๗๕-๒๗๖)ตบ. ๒๐ : ๗๗-๗๘ ตท. ๒๐ : ๖๙-๗๐ตอ. G.S. ๑ : ๕๕-๕๖

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลักธรรมศึกษาทางลัดคัดย่อ จากวัดหนองป่าพง

หลวงพ่อชา สุภัทโท เทศนาเชิงอุปมาอุปมัยสอนคณะศิษย์ที่เดินทางมาจากลอนดอนให้เข้าใจว่า หลักธรรมคำสอนแท้จริงนั้นเป็นไปเพื่อการปฏิบัติให้พ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร มีข้อควรจำไว้ในใจว่า อารมณ์ทั้งหลายนั้น จะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้มันเหมือนงูเห่า มีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้ว ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี ทำให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จึงควรเจริญสติอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด จะทำอะไรๆ ก็ให้มีสติอยู่ด้วยทั้งนั้น เมื่อมีสติแล้ว สัมปชัญญะความรู้ตัวมันก็จะเกิดขึ้นมา สติกับสัมปชัญญะเป็นของคู่กัน เมื่อทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ก็จะนำปัญญาให้เกิดตาม ทีนี้เมื่อมีทั้งสติสัมปชัญญะปัญญาแล้วก็จะเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนนั้นไม่ใช่ธรรมะที่เพื่อฟังเฉยๆ หรือรู้เฉยๆ แต่เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ต้องทำให้เกิดขึ้น ต้องทำให้มีขึ้นในใจของเราให้ได้ จะไปที่ไหนก็ให้มีธรรมะ จะพูดก็ให้มีธรรมะ จะเดินก็ให้มีธรรมะ จะนอนก็ให้มีธรรมะ จะทำอะไรๆ ก็ให้มีธรรมะทั้งนั้น คำว่า “มีธรรมะ” นี้ก็คือ จะทำอะไรก็ตาม จะพูดอะไรก็ตาม ให้ทำด้วยปัญญา ให้พูดด้วยปัญญา ให้นึกคิดด้วยปัญญา ผู้ใดมีสติ สัมปชัญญะควบกับปัญญาอยู่ตลอดเวลาแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าทุกเมื่อ ดังนั้น จงเป็นผู้ปฏิบัติให้ธรรมะทั้งหลายมารวมอยู่ที่ใจ มองลง ไปที่ใจ ให้เห็นสติ ให้เห็นสัมปชัญญะ ให้มีปัญญา เมื่อมีทั้งสามอย่างนี้แล้ว มันจะมีการปล่อยวาง รู้จัก เกิดแล้วมันก็ดับ ดับแล้วมันก็เกิด เกิดแล้วมันก็ดับ ที่เรียกว่า “เกิดๆ ดับๆ” นี้คืออะไร คืออารมณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ดับแล้วมันก็เกิดขึ้นมา ในทางธรรมะเรียกว่าการเกิดดับ มันก็มีเท่านี้ ทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว ทุกข์มันก็ดับไป ทุกข์ดับไปแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นมา นอกเหนือจากนี้ไปก็ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์เกิด แล้วทุกข์ก็ดับไป มีเท่านี้ เมื่อจิตของเราเห็นการเกิด-ดับอยู่เสมอ ทุกวันทุกเวลา ตลอดทั้งกลางวัน ตลอดทั้งกลางคืน ตลอดทั้งการยืน เดิน นั่ง นอน ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่มีอะไร จริงๆ มีแต่เกิด-ดับอยู่เท่านี้เอง แล้วทุกอย่างมันก็จบอยู่ตรงนี้ เมื่อเห็นอารมณ์เกิด-ดับอย่างนี้อยู่เสมอไปแล้ว จิตใจก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเมื่อคิดไปแล้วก็ไม่มีอะไรมากมาย มันมีแต่การเกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ มันมีอยู่เท่านี้ ฉะนั้นเมื่อคิดแล้ว ก็ไม่รู้จะไปเอาอะไรกับมัน พอคิดได้เช่นนี้ จิตก็จะปล่อยวางปล่อยวางอยู่กับธรรมชาติ มันเกิดเราก็รู้ มันดับเราก็รู้มันสุขเราก็รู้ มันทุกข์เราก็รู้ รู้แล้วไม่ใช่ว่าเราจะไปเป็นเจ้าของสุข หรือเมื่อทุกข์ขึ้นมา เราก็ไม่เป็นเจ้าของทุกข์เหมือนกัน เมื่อไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข มันก็มีแต่การเกิด-ดับอยู่เท่านั้น ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นแหละ เพราะมันไม่มีอะไร อารมณ์ทั้งหลายที่ว่ามานี้เหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรมาขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษของมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออก ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น ดังนี้ ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ไม่ชอบก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งพิษที่มีอยู่ในตัวมันนั่นเอง ฉะนั้น คนที่ฉลาดแล้ว เมื่อปล่อยอารมณ์ก็ปล่อยอย่างนั้น ดีก็ปล่อยมันไป แต่ปล่อยอย่างรู้เท่าทัน ชั่วก็ปล่อยมันไป ปล่อยไปตามเรื่องของมัน อย่างนั้นแหละอย่าไปจับอย่าไปต้องมัน เพราะเราไม่ต้องการอะไร ชั่วก็ไม่ต้องการ ดีก็ไม่ต้องการ หนักก็ไม่ต้องการ เบาก็ไม่ต้องการ สุขก็ไม่ต้องการ ทุกข์ก็ไม่ต้องการ มันก็หมดเท่านั้นเอง ทีนี้ความสงบก็ตั้งอยู่เท่านั้นแหละ เมื่อความสงบตั้งอยู่แล้ว เราก็ดูความสงบนั้นแหละ เพราะมันไม่มีอะไรแล้ว เมื่อความสงบเกิดขึ้น ความวุ่นวายก็ดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสว่านิพพานคือความดับ ดับที่ตรงไหน? ก็เหมือนไฟเรานั่นแหละ มันลุกตรงไหน มันร้อนตรงไหน? มันก็ดับที่ตรงนั้น มันร้อนที่ไหนก็ให้มันเย็นตรงนั้น ก็เหมือนกับนิพพานก็อยู่กับวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารก็อยู่กับนิพพาน เหมือนกันกับความร้อนกับความเย็น มันก็อยู่ที่เดียวกันนั่นเอง ความร้อนก็อยู่ที่มันเย็น ความเย็นก็อยู่ที่มันร้อน เมื่อมันร้อนขึ้น มันก็หมดเย็น เมื่อมันหมดเย็น มันก็ร้อน วัฏฏสงสารกับนิพพานนี้ก็เหมือนกัน ท่านให้ดับวัฏฏสงสารคือความวุ่น การดับความวุ่นวายก็คือการดับความร้อน ไฟทางนอกก็คือไฟ ธรรมดามันร้อน เมื่อมันดับแล้ว มันก็เย็น แต่ความร้อนภายในคือราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นไฟเหมือนกัน ลองคิดดูเมื่อราคะความกำหนัดเกิดขึ้นมันร้อนไหม เมื่อโทสะเกิดขึ้นก็ร้อน เมื่อโมหะเกิดขึ้นมันก็ร้อน ความร้อนนี่แหละที่ท่านเรียกว่าไฟ เมื่อไฟมันเกิดขึ้น มันก็ร้อน เมื่อมันดับ มันก็เย็น ความดับนี่แหละคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะที่เข้าไปดับซึ่งความร้อนท่านเรียกว่าสงบ คือดับซึ่งวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารคือความเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น เมื่อถึงนิพพานแล้ว ก็คือการเข้าไปดับซึ่งความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง อันนั้นเรียกว่าการดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ก็ดับที่ใจของเรานั่นแหละ คือใจถึงความสงบ ในความสงบนั้น สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี แต่มนุษย์เรานั่นแหละจะอดสุขไม่ได้ เพราะเห็นว่าความสุขเป็นยอดของชีวิตแล้ว แม้พระนิพพานก็ยังมาว่าเป็นความสุขอยู่เพราะความคุ้นเคย ตามเป็นจริงแล้ว เลิกสิ่งทั้ง 2 อย่างนี้ก็เป็นความสงบ เมื่อใดที่ใจเราร้องไห้ เมื่อนั้นเป็นโอกาสที่ดีแล้วที่จะได้ศึกษาธรรมะที่แท้จริง ถ้าน้ำตาไม่ออกก็ไม่ได้เห็นธรรมะ เพราะน้ำตาเป็นการระบายของไม่ดีออกจากใจ ต้องให้มันออกให้หมด ถึงจะสบาย น้ำตานี้มันเป็นน้ำกิเลส เมื่อทุกข์ก็บีบน้ำนี้ให้ไหลออกมา เมื่อสุขมากก็บีบน้ำนี้ออกมาอีกเหมือนกัน ถ้าหมดน้ำนี้เมื่อใดก็จะสบาย ทำใจได้ก็จะมีแต่ความสงบ ความสบาย นับว่าได้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ เหมือนได้ตายก่อนตาย ทั้งสบายทั้งสงบ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ใช่ธรรมะที่เพื่อฟังเฉยๆ หรือรู้เฉยๆ แต่เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ต้องทำให้เกิดขึ้น ต้องทำให้มีขึ้นในใจของเราให้ได้ ขอให้ท่านผู้อ่านเป็นผู้ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้พ้นจากวัฏฏสงสาร นี้คือหลักธรรมศึกษาทางลัด

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลักธรรมในการครองตน ครองคน และครองงาน
หลักธรรมในการครองตน
หลักธรรมที่ทำให้ตนเองปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง รู้จักตนเอง ควบคุมตนเอง คือ
1.1 สติ สัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว ผู้นำต้องรู้ตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้การประพฤติปฏิบัติมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
1.2 หิริโอตัปปะ หิริคือการละอายต่อความชั่ว โอตัปปะคือการเกรงกลัวต่อบาป ธรรมะข้อนี้ช่วยให้คนที่ยึดถือไม่กล้าทำความชั่ว
1.3 ขันติ โสรัจจะ ขันติคือความอดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความทุกข์ อดทนต่อถ้อยคำที่ทำให้เจ็บใจ อดทนต่อความหิวกระหาย โสรัจจะคือความสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่หยิ่งยะโส ไม่โอ้อวด ไม่ยกตนเสมอท่าน จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมะที่ทำให้งาม
1.4 สัปปุริสธรรม7 ได้แก่การเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักกาลเวลา รู้จักประมาณ รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล และรู้จักตนเอง
หลักธรรมในการครองคน
หลักธรรมคำสอนที่ใช้สร้างมนุษย์สัมพันธ์ในระหว่างเพื่อนผู้ร่วมงาน เพื่อให้เกิดความยินดี เต็มใจทำงาน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของงาน ได้แก่
พรหมวิหาร 4 คือ
มีเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข ผู้น้อยจักไร้ทุกข์เกษมศรี
หัวหน้างานเป็นผู้นำกระทำดี มีเมตตาเป็นศรีประจำตน
กรุณา ปรารถนาให้พ้นทุกข์ แสดงตนช่วยคนสุขด้วยทุกหน
ทุกข์ของผู้ร่วมงานเหมือนทุกข์ตน แบ่งทุกข์ให้หลุดพ้นด้วยกรุณา
ยินดีเมื่อได้ดี ดีใจด้วย มุทิตา นำช่วยสวยหนักหนา
ผู้ร่วมงานซาบซึ้งตรึงอุรา ผู้นำพาให้เกิดขวัญกำลังใจ
กระทำตนเป็นคนกลางทุกทางที่ อุเบกขา นำชี้ให้ผ่องใส
ธรรมะของผู้นำประจำใจ พรหมวิหารสี่นี้ไซร้แจ่มใสเอย (สุบินรัตน์ รัตนศิลา 2543)
และเพื่อให้สายสัมพันธ์ผู้นำกับผู้ตามแน่นแฟ้น แนบแน่นและจงรักภักดี ผู้นำจะต้องมี
สังคหวัตถุ 4 ได้แก่
ทาน การให้สิ่งตอบแทน ให้รางวัลการทำงาน
ปิยวาจา การพูดไพเราะอ่อนหวาน
อัตถจริยา การรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม
สมานัตตา การเสมอต้นเสมอปลาย ไม่หน้าไหว้หลังหลอก
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นำต้องมีคือ ความเที่ยงธรรม หรือความยุติธรรม เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำลำเอียง เพราะรัก เพราะหลง เพราะโกรธ เพราะกลัว จะทำให้เกิดความแตกแยกในผู้ร่วมงาน
หลักธรรมในการครองงาน
หน้าที่การงานจะสำเร็จบรรลุจุดประสงค์ได้ต้องอาศัยหลักธรรมสำคัญคือ
อิทธิบาท 4 ได้แก่
ฉันทะ ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ สิ่งที่มีอยู่
วิริยะ ความเพียรพยายามอุตสาหะในหน้าที่การงาน ไม่ท้อแท้ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
จิตตะ ความเอาใจใส่ ความปฏิบัติงาน การใฝ่หาวิชาความรู้ประสบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน
วิมังสา การใช้สติปัญญา ใคร่ครวญ ไตร่ตรองให้รอบคอบ
-----------------------------------------------------------------
หลักพรหมวิหาร 4 (ด้วยวัตถุสิ่งของเงินทอง ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยวาจาทั้งความรู้และธรรม)
เมตตา ใช้ในกรณีปกติ = ให้ความรัก ให้ความปรารถนาดี กับมิตรและบุคคลอื่น (อย่าหวังผลตอบแทนเพราะจะเป็นราคะหรือโลภะ อย่าเป็นเสน่หาเพราะจะเกิดทุกข์และเกิดความลำเอียงจนเสียความยุติธรรม)
กรุณา ใช้ในกรณีเมื่อเขาตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ = ความมีใจพลอยหวั่นไหวอยากให้เขาพ้นทุกข์
มุทิตา ใช้กรณีเมื่อเขาได้ดี ทำดี ประสบความสำเร็จก้าวหน้า = พลอยยินดี ส่งเสริม สนับสนุน (แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการ หลักธรรม กฎธรรมชาติ และความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก โดยให้อัตตาหิ อัตโนนาโถ ทำงาน)
อุเบกขา ใช้กรณีเมื่อต้องรักษาความถูกต้อง รักษากฎ รักษาธรรม = วางเฉย (มีลักษณะร่วมสุขร่วมทุกข์ มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม)
อุเบกขา เป็นตัวทำให้ เมตตา กรุณา มุทิตา พอเหมาะพอดี และเป็นตัวรักษากฎกติกา