วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงปู่บุดดา ตอบเรื่อง นิพพาน และจิต

หลวงปู่บุดดา ตอบเรื่อง นิพพาน และจิต
ศิษย์: หลวงปู่ครับ นิพพานโลกุตระ เป็นอย่างไร
หลวงปู่: มันก็หมดอาสวะซิ อวิชชาไม่เหลือ
ศิษย์: จิตยังอยู่ไหมครับ
หลวงปู่: จิตปรมัตถ์ไป เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ จิตยังอยู่ มันเกิด-ดับ มันเป็นสังคตะไป ไม่ใช่สัตว์ คน เป็นสังคตธรรม สังคตธรรมมีอยู่(ยังเป็นความปรุงอยู่ "สังขารธรรม") อสังคตะธรรมมีอยู่(พ้นความปรุง "วิสังขารธรรม") วิราคะธรรมมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คนเท่านั้น
ศิษย์: หมดสมมุติ หมดความยึดถือไช่ไหมครับ
หลวงปู่: ฮื้อ! มันไม่มีอาสวะ ไม่มีอวิชชาสวะ ไม่มีอวิชชาสังโยชน์ ไม่มีอวิชชานุสัย ล่ะก็ กิเลส กรรม วิบาก มันก็ไม่มี จิตไม่มีนาม-รูปของขันธ์แล้ว มันเหนือนาม-รูปของขันธ์แล้ว สังคตะมันเหนือขันธ์ ๕ วิราคะธรรมมันเหนือขันธ์ ๕ (เหนือ คือ ไม่ถูกครอบงำ ไม่มีอุปาทานขันธ์ ย่อมไม่กลับกำเริบอีก) ขันธ์ ๕ ยังมีนามรูปติดต่อกันทางอายตนะธาตุนี่ ส่วนนิพพานปรมัตถ์นี้ไม่เกิดไม่ดับเป็นอสังคตะธรรม(พ้นความปรุง "วิสังขารธรรม") แต่ จิต เจตสิก รูป ปรมัตถ์นี้ ยังเกิดดับเป็นสังคตะธรรม วิราคะธรรม ไม่มีราคะ หมดราคะถึงโลกุตระแล้วนั่น ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เผาลนแล้ว
ศิษย์: เมื่อดับจิต แล้ว นิพพาน สูญ ไม่เหลืออะไรเลยหรือปล่าวครับ
หลวงปู่: นิพพานไม่สูญ เป็นแต่อาสวะกิเลสสูญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม วิบาก มันสูญ แต่ สังคตะธรรม อสังคะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย บารมี ๓๐ ทัศน์ที่พระพุทธเจ้าสร้างเป็นของไม่ตาย แต่ว่าตัวบุญต้องเปลี่ยนแปลงไปจนกว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ เพราะถ้าเป็นตัวบุญอยู่กับพระเวสสันดรก็ไม่ตรัสรู้ซิ ก็ได้เป็นกษัตริย์ไม่ตรัสรู้ซิ แต่เพราะ(พระสิทธัตถะ)สละหมดอย่างพระเวสสันดร เที่ยวออกค้นคว้าถึง ๖ ปี(ซึ่งก็ต้องอาศัยบารมี อันเป็นนิสัยที่สั่งสมมา)จึงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าบางองค์ก็อายุไม่เท่ากันมาองค์ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี(แล้วแต่บารมี)
ศิษย์: ที่เขาว่าไปเที่ยวเมืองนิพพานน่ะ เขาไปกันได้จริงหรือป่าวครับ
หลวงปู่: เที่ยวได้แต่ปริยัติน่ะซิ พูดเอาภาคปริยัติก็เที่ยวได้ ภาคปฏิเวธเที่ยวได้ที่ไหนล่ะ มันมีบอกเมื่อไหร่ล่ะ
ศิษย์: แล้วอย่างมโนมยิทธิล่ะครับ
หลวงปู่: นั่นมันเรื่อง พุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ก็ตามใจซิ ก็นิมิตมันมีอยู่ หลับตาลืมตาก็มี มีของพระอริยะเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงพุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ได้ให้เห็นกันทั่ว กามโลก รูปโลก อรูปโลก ให้เขาได้เห็นกันเมื่อครั้งเสด็จลงจากดาวดึงส์นี่ ก็จิตนี่ล่ะมันรับธรรมะ นอกจากกายกับจิตแล้วจะเอาอะไรไปรับล่ะ กายกับจิตนี่ล่ะมันรองรับพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้ารู้นรก ๒ ชั้น นรกชั้นนอก นรกชั้นใน สวรรค์ชั้นนอก สวรรค์ชั้นใน นิพพานชั้นนอก นิพพานชั้นใน มันต้องมีภายนอกภายในพิสูจน์กันดู
ดูนิพพานกันอย่างนี้ อ่านพระไตรปิฎกกันอย่างนี้ซิ นิพพานไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่นามขันธ์ มันเหนือรูปขันธ์ นามขันธ์ สร้างบารมีมาก็เอาเป็นเครื่องมือ สร้างบารมีต่างหากล่ะ นามรูปนี่ตรัสรู้แล้วเอาไปเมื่อไหร่ล่ะ บารมี ๓๐ ทัศน์ ไม่ใช่ตัวขันธ์ ๕ มันเหนือขันธ์ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เหลือขันธ์ ๕ พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายตรัสรู้ ละสังโยชน์แล้วก็ยังเหลือขันธ์ ๕ เขายังเขียนรูปโลกไว้ให้ดู แต่อยู่เหนือขันธ์ ๕
(ที่มา หลวงปู่บุดดา ตอบเรื่อง นิพพาน และจิต "หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี")
โดย: Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย

อสังขตะมีเพียงสิ่งเดียว คือ นิพพาน
ธรรมะจริงๆแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นสังขตธรรม ยังเป็นความปรุงอยู่ กับส่วนที่พ้นความปรุง เรียกอสังขตะ อสังขตะมีอันเดียวคือ นิพพาน นอกนั้นจะยังเป็นสังขตะอยู่ โลกุตระบางอย่างยังเป็นสังขตะ บางอย่างถึงจะเป็นอสังขตะ สังขตธรรม เช่น มรรค ผล เวลาเกิดมรรค มรรคเกิดแล้วดับมั้ย เกิดแล้วดับ เห็นมั้ย มีเกิดแล้วดับ เป็นสังขตะ อริยผลเกิดขึ้นแล้วดับมั้ย เกิดแล้วดับ อริยมรรคนะ ไม่ว่าจะชั้นใดชั้นหนึ่งก็ตาม เกิดขึ้นชั่ว ๑ ขณะจิตเท่านั้นเอง อริยผลเกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะ แต่ละคนไม่เท่ากัน บางคน ๒ ขณะ บางคน ๓ ขณะ ถ้าพวกอินทรีย์กล้า ปัญญาแก่กล้า เกิด ๓ ขณะ ถ้าปัญญาไม่กล้ามากก็เกิด ๒ ขณะ จะล้างกิเลสได้เท่ากันนะ แต่ความรู้ความเข้าใจก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น มรรคเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ผลเกิดขึ้นแล้วก็ดับ สิ่งที่ไม่ดับมีแต่นิพพาน ธรรมะมี ๒ ส่วน ส่วนที่ปรุงแต่ง กับไม่ปรุงแต่ง ส่วนที่ปรุงแต่งก็มีสองส่วนนะ ส่วนที่เป็นโลกียะ กับส่วนที่พ้นจากโลกียะเป็นโลกุตระ ธรรมะส่วนของโลกียะเนี่ย เป็นสิ่งที่พวกเรามีอยู่แล้ว ธรรมะในส่วนของโลกุตระของเรายังไม่เกิด คือ มรรค ผล ยังไม่เกิด แต่ธรรมะในส่วนของอสังขตะ คือนิพพาน มีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วแต่ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะว่าจิตเราไม่มีคุณภาพพอ จิตมันมีคุณภาพระดับไหน ก็เห็นธรรมะระดับนั้น ถ้าจิตคุณภาพสูง ก็เห็นธรรมะระดับสูง จิตพ้นจากความปรุงแต่ง ก็เห็นธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง จิตยังปรุงแต่งอยู่ ก็เห็นธรรมะที่ปรุงแต่งอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆเลย วันไหนจิตใจเราหดหู่นะ โลกทั้งโลกดูหดหู่ไปหมดเลย นิพพานมีอยู่แล้วนะ นิพพานไม่ได้เกิดขึ้น เพียงแต่เราไม่เห็น วันใดใจของเราพ้นจากการปรุงแต่ง เราก็เห็นนิพพาน วันใดใจเราปรุงแต่งเราก็ไม่เห็นหรอก เพราะฉะนั้นเมื่อใดพ้นความปรุงแต่งก็เห็นเหมือนอย่างในโลก วันใดจิตใจเราหดหู่นะ โลกก็หดหู่ด้วย ใจเรานี้แหละสร้างโลก คล้ายๆใส่แว่นตาเข้าไป ใส่สีชมพูโลกก็สีชมพู ใส่สีมืดๆหน่อย โลกก็มืดๆหน่อย ใจเราเป็นอย่างไรเราก็เห็นธรรมะระดับนั้น ใจเราชั่วเราก็เห็นแต่เรื่องชั่วๆ ใจเราดีขึ้นมาก็เห็นของดี ในความวุ่นวายก็ยังเห็นของดีได้นะ ถ้าใจของเราดีพออย่างเห็นคนเขาประท้วง คนเขาตีกัน เผาบ้านเผาเมือง นี่เห็นเรื่องไม่ดี ถ้าใจของเรามีคุณภาพพอเราก็เห็น โลกนี้เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เป็นไปอย่างที่ปราถนา ปราถนาสันติภาพมันไม่มี ปราถนาให้คนสามัคคีกันมันไม่มี กลับไปเห็นธรรมะได้ นี่ใจถ้ามีคุณภาพพอ เพราะฉะนั้นถ้าใจเราพ้นความปรุงแต่ง เราก็เห็นธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง เห็นนิพพานได้ อยู่ที่ใจเรานี่เองใจนี้เป็นคนสร้างโลก สร้างภพ กระทั่งพ้นโลกพ้นภพแล้ว คือ พระนิพพาน ก็อาศัยใจนี้แหละไปรู้ ถ้ามีคุณภาพพอก็รู้ได้ ไม่มีคุณภาพก็ไม่รู้หรอก ให้เรามาฝึกจิตฝึกใจ
(พระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชโช แสดงธรรมที่สวนสันติธรรมเมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนฉันเช้าระหว่างนาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๑๕ ถึงนาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๑๕)

คาถาธรรมบท

คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรค
ความไม่ประมาท เป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว บัณฑิตทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาททราบเหตุนั่นโดยความแปลกกันแล้ว ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาทยินดีแล้วในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ เพ่งพินิจ มีความเพียรเป็นไปติดต่อมีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานอันสะอาดผู้ใคร่ครวญแล้วจึงทำผู้สำรวมระวัง ผู้เป็นอยู่โดยธรรม และผู้ไม่ประมาทผู้มีปัญญาพึงทำที่พึ่งที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่นความไม่ประมาท ความสำรวมระวัง และความฝึกตน ชนทั้งหลายผู้เป็นพาลมีปัญญาทราม ย่อมประกอบตามความประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด ท่านทั้งหลายอย่าประกอบตามความประมาทอย่าประกอบการชมเชยด้วยสามารถความยินดีในกามเพราะว่าคนผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์เมื่อใด บัณฑิตย่อมบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาทเมื่อนั้นบัณฑิตผู้มีความประมาทอันบรรเทาแล้วนั้น ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท ไม่มีความโศก ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความโศก นักปราชญ์ย่อม พิจารณาเห็นคนพาล เหมือนบุคคลอยู่บนภูเขามองเห็นคนผู้อยู่ที่ภาคพื้นฉะนั้น ผู้มีปัญญาดี เมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมไม่ประมาทเมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ ย่อมตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคลเห็นปานนั้นไป ประดุจม้ามีกำลังเร็วละม้าไม่มีกำลังไป ฉะนั้นท้าวมัฆวาฬถึง ความเป็นผู้ประเสริฐ ที่สุดกว่า เทวดาทั้งหลายด้วยความไม่ประมาทบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทบัณฑิตติเตียนทุกเมื่อ ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป ดังไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไป ฉะนั้นภิกษุผู้ยินดีแล้วในความไม่ประมาทหรือเห็นภัยใน ความประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อมรอบ ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว ฯ

คาถาธรรมบท จิตตวรรค
นักปราชญ์ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอกรักษาได้โดยยากห้ามได้โดยยาก ให้ตรง ดังช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้นจิตนี้อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัย คือเบญจกามคุณเพียงดังน้ำซัดไปในวิปัสสนากรรมฐานเพียงดังบก เพื่อจะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรนดุจปลาอันชาวประมง ยกขึ้นแล้วจากที่อยู่คือน้ำโยนไปแล้วบนบกดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น การฝึกฝนจิตที่ข่มได้ยาก อันเร็ว มีปรกติตกไปในอารมณ์อันบุคคลพึงใคร่อย่างไร เป็นความดี เพราะว่าจิตที่บุคคลฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ นักปราชญ์พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยากละเอียดอ่อนมีปกติตกไปตามความใคร่ เพราะว่าจิตที่บุคคลคุ้มครองแล้วนำสุขมาให้ ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตอันไปในที่ไกล ดวงเดียวเที่ยวไปหาสรีระมิได้ มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์แก่บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้แจ่มแจ้งซึ่งพระสัทธรรมมีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย ภัยย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ ผู้มีจิตอันราคะไม่รั่วรด ผู้มีใจอันโทสะไม่ตามกระทบแล้วผู้มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ผู้ตื่นอยู่ กุลบุตรทราบกายนี้ว่าเปรียญด้วยหม้อแล้วพึงกั้นจิตนี้ให้เปรียบเหมือนนครพึงรบมารด้วยอาวุธคือ ปัญญา อนึ่งพึงรักษาตรุณวิปัสสนาที่ตนชนะแล้ว และไม่พึงห่วงใย กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้วมีวิญญาณปราศแล้วไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน ประดุจท่อนไม้ไม่มีประโยชน์โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจก ก็หรือคนมีเวรเห็นคนผู้คู่เวรกันพึงทำความฉิบหาย และความทุกข์ใดให้จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิดพึงทำบุคคลนั้นให้เลวยิ่งกว่าความฉิบหายและความทุกข์นั้นมารดาบิดาไม่พึงทำเหตุนั้นได้ หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ไม่พึงทำเหตุนั้นได้ จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้วพึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น ฯ

คาถาธรรมบท ปุปผวรรค
ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ใครจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้พร้อมกับเทวโลก ใครจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาด เลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้น พระเสขะจักรู้แจ้งแผ่นดินพระเสขะจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้พร้อมกับเทวโลก พระเสขะจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้นภิกษุทราบกายนี้ว่า เปรียบด้วยฟองน้ำ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะกายนี้ว่ามีพยับแดดเป็นธรรม ตัดดอกไม้อันเป็นประธานของมารแล้ว พึงไปสู่ที่ที่มัจจุราชไม่เห็น มัจจุย่อมจับนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายนั่นเทียวไปเหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดบ้านอันหลับแล้วไป ฉะนั้น มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุดย่อมทำนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลาย ไม่อิ่มแล้วในกามคุณนั่นแล ไว้ในอำนาจ ภมรไม่ยังดอกไม้อันมีสีให้ชอกช้ำ ลิ้มเอาแต่รสแล้วย่อมบินไป แม้ฉันใดมุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น บุคคลไม่พึงใส่ใจคำแสลงหูของชนเหล่าอื่น ไม่พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของชนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น ดอกไม้งามมีสีแต่ไม่มีกลิ่นแม้ฉันใดวาจาสุภาษิตย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำ ฉันนั้น ดอกไม้งามมีสีมีกลิ่นแม้ฉันใด วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำดี ฉันนั้นนายมาลาการพึงทำกลุ่มดอกไม้ให้มาก แต่กองแห่งดอกไม้แม้ฉันใดสัตว์ [ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ] ผู้เกิดแล้วพึงทำกุศลให้มากฉันนั้น กลิ่นดอกไม้ย่อมฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์หรือกฤษณาและกะลำพัก ย่อมฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษย่อมฟุ้งทวนลมไปได้เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทั่วทิศ กลิ่นคือศีลเป็นเยี่ยมกว่าคันธชาติเหล่านี้ คือจันทน์ กฤษณา ดอกบัว และมะลิ กลิ่นกฤษณาและจันทน์นี้ เป็นกลิ่นมีประมาณน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลายเป็นกลิ่นสูงสุด ย่อมฟุ้งไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วมีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาทผู้พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ดอกปทุมมีกลิ่นหอม พึงเกิดในกองแห่งหยากเยื่ออันเขาทิ้งแล้วในใกล้ทางใหญ่นั้น ย่อมเป็นที่รื่นรมย์ใจฉันใด พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นเพียงดั่งกองหยากเยื่อ ย่อมไพโรจน์ล่วงปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นดังคนบอดด้วยปัญญา ฉันนั้น ฯ

คาถาธรรมบท พาลวรรค
ราตรียาวแก่คนผู้ตื่นอยู่ โยชน์ยาวแก่คนผู้เมื่อยล้า สงสารยาวแก่คนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ถ้าว่าบุคคลเมื่อเที่ยวไปไม่พึงประสบสหายประเสริฐกว่าตน หรือสหายผู้เช่นด้วยตนไซร้ บุคคลนั้นพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่น เพราะว่าคุณเครื่องความเป็นสหาย ย่อมไม่มีในคนพาล คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ดังนี้ตนนั่นแลย่อมไม่มีแก่ตน บุตรทั้งหลายแต่ที่ไหน ทรัพย์แต่ที่ไหน ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นพาล ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมเหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้นถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลันเหมือนลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น คนพาลมีปัญญาทราม มีตนเหมือนข้าศึกเที่ยวทำบาปกรรมอันมีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ย่อมเสพผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแลทำแล้วเป็นดี บุคคลอันปีติโสมนัสเข้าถึงแล้ว [ด้วยกำลังแห่งปีติ] [ด้วยกำลังแห่งโสมนัส]ย่อมเสพผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นดี คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำหวาน ตลอดกาลที่บาปยังไม่ให้ผลแต่บาปให้ผลเมื่อใดคนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น คนพาลถึงบริโภคโภชนะด้วยปลายหญ้าคาทุกเดือนๆ เขาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว๑๖ หน ของพระอริยบุคคลทั้งหลายผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว ก็บาปกรรมบุคคลทำแล้วยังไม่แปรไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไปฉะนั้นบาปกรรมนั้นย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดแล้ว ฉะนั้นความรู้นั้นย่อมเกิดแก่คนพาลเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์อย่างเดียว ความรู้ยังปัญญาชื่อว่ามุทธาของเขาให้ฉิบหายตกไป ย่อมฆ่าส่วนแห่งธรรมขาวของคนพาลเสียภิกษุผู้เป็นพาล พึงปรารถนาความสรรเสริญอันไม่มีอยู่ความห้อมล้อมในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในอาวาส และการบูชาในสกุลของชนเหล่าอื่น ความดำริย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุพาลว่า คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองฝ่าย จงสำคัญกรรมที่บุคคลทำแล้วว่า เพราะอาศัยเราผู้เดียว คฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นจงเป็นไปในอำนาจของเราผู้เดียว ในบรรดากิจน้อยและกิจใหญ่ทั้งหลาย กิจอะไรๆ อิจฉา[ความริษยา]มานะ [ความถือตัว] ย่อมเจริญแก่ภิกษุพาลนั้น ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ารู้ยิ่งแล้ว ซึ่งปฏิปทา ๒ อย่างนี้ว่า ปฏิปทาอันเข้าอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพานเป็นอย่างหนึ่งดังนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนืองๆ ฯ

คาถาธรรมบท ปัณทิตวรรค
บุคคลพึงเห็นบุคคลใดผู้มักชี้โทษ เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ มักกล่าวข่มขี่ มีปัญญา พึงคบบุคคลผู้เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณที่ประเสริฐโทษที่ลามกย่อมไม่มี บุคคลพึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอนและพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษก็บุคคลนั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษบุคคลไม่ควรคบมิตรเลวทราม ไม่ควรคบบุรุษอาธรรม์ควรคบมิตรดี ควรคบบุรุษสูงสุด บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรมมีใจผ่องใสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศร พวกช่างถากย่อมถากไม้บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกฝนตน ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น ห้วงน้ำลึกใสไม่ขุ่นมัว แม้ฉันใด บัณฑิตย์ทั้งหลายฟังธรรมแล้วย่อมผ่องใส ฉันนั้นสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรมทั้งปวงโดยแท้ สัตบุรุษทั้งหลายหาใคร่กามบ่นไม่ บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการสูงๆ ต่ำๆ บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน ไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งผู้อื่น ไม่พึงปรารถนาบุตร ไม่พึงปรารถนาทรัพย์ ไม่พึงปรารถนาแว่นแคว้น ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จแก่ตนโดยไม่ชอบธรรมบัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีลมีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ในหมู่มนุษย์ชนผู้ที่ถึงฝั่งมีน้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ก็ชนเหล่าใดแล ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระสุคตเจ้าตรัสแล้วโดยชอบชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมารที่ข้ามได้โดยยาก แล้วจักถึงฝั่ง บัณฑิตออกจากอาลัยแล้ว อาศัยความไม่มีอาลัยละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว บัณฑิตพึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้โดยยาก ละกามทั้งหลายแล้วไม่มีกิเลสเครื่องกังวล พึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิตชนเหล่าใดอบรมจิตด้วยดีโดยชอบ ในองค์แห่งธรรมสามัคคีเป็นเครื่องตรัสรู้ ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในการสละคืนความถือมั่นชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้วมีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลก ฯ

คาถาธรรมบท อรหันตวรรค
ความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีทางไกลอันถึงแล้ว ผู้มีความโศกปราศไปแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ผู้มีกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงอันละได้แล้ว ท่านผู้มีสติย่อมขวนขวายท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนหงส์สละเปือกตมไป ฉะนั้น ชนเหล่าใดไม่มีการสั่งสมมีโภชนะอันกำหนดแล้ว มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร คติของชนเหล่านั้น รู้ได้โดยยาก เหมือนคติฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ภิกษุใดมีอาสวะสิ้นแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้วในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร รอยเท้าของภิกษุนั้นไปตามได้โดยยากเหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น อินทรีย์ของภิกษุใดถึงความสงบระงับเหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุนั้น ผู้มีมานะอันละได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่ภิกษุผู้มีอาสวะสิ้นแล้วมีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้คงที่ เปรียบดังเสาเขื่อน มีวัตรดีปราศจากกิเลสเพียงดังเปือกตม ผ่องใส เหมือนห้วงน้ำที่ปราศจากเปือกตมมีน้ำใส ย่อมไม่พิโรธ สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้คงที่ มีอาสวะสิ้นแล้ว เช่นนั้น ใจ วาจาและกายกรรมของภิกษุผู้ขีณาสพนั้น ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สงบระงับ คงที่ เป็นธรรมชาติสงบแล้ว นรชนใดไม่เชื่อต่อผู้อื่น รู้นิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ทำไม่ได้ ผู้ตัดที่ต่อมีโอกาสอันขจัดแล้ว มีความหวังอันคลายแล้ว นรชนนั้นแลเป็นบุรุษผู้สูงสุด พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใดคือบ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน ที่นั้นเป็นภาคพื้นอันบุคคลพึงรื่นรมย์ ชนไม่ยินดีในป่าเหล่าใด ป่าเหล่านั้น ควรรื่นรมย์ ผู้มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จักยินดีในป่าเห็นปานนั้น เพราะว่าท่านไม่ใช่ผู้แสวงหากาม ฯ

ธรรมบท ยมกวรรค
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตามทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตามทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริต ๓ อย่างเหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเราคนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่าคนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวรธรรมนี้เป็นของเก่า ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึก ความหมายมั่นย่อมระงับจากชนเหล่านั้น มารย่อมรังควาญบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่างาม ผู้ไม่สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลว เหมือนลมระรานต้นไม้ที่ทุรพลฉะนั้น มารย่อมรังควาญไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่สำรวมดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา ปรารภความเพียร เหมือนลมระรานภูเขาหินไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ใดยังไม่หมดกิเลสดุจน้ำฝาดปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งห่มผ้ากาสายะผู้นั้นไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ส่วนผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้วตั้งมั่นแล้วในศีลประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระและมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดีฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่บุคคลมุงดี ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้วฉันนั้น บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเศร้าโศกบุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อนผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง บุคคลผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่าบาปเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนโดยยิ่งผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้าย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่าบุญอันเราทำไว้แล้ว ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อยย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้วไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ

คาถาธรรมบท สหัสสวรรค
หากว่าวาจาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้บทอันเป็นประโยชน์บทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประเสริฐกว่า คาถาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้ คาถาบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบประเสริฐกว่าก็บุคคลใดพึงกล่าวคาถา ประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ตั้งร้อย บทธรรมบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบประเสริฐกว่า บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพัน ในสงครามบุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงครามส่วนบุคคลใดพึงชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงครามตนแลอันบุคคลชนะแล้วประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจักประเสริฐอะไร เพราะว่า เทวดา คนธรรพ์ มารกับทั้งพรหมพึงทำความชนะของบุรุษผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีปกติประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ ผู้เป็นสัตว์เกิดเห็นปานนั้นให้กลับแพ้ไม่ได้ ก็การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การบูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร ก็การบูชา ของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่งแล แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าผู้บำเรอไฟในป่าตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร บุคคลผู้มุ่งบุญพึงบูชายัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกตลอดปีหนึ่ง ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว [ทาน] นั้น แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ถึงส่วนที่ ๔แห่งการอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย การอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย ประเสริฐกว่า ธรรม ๔ ประการคือ อายุวรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์ ก็บุคคลผู้มีศีลเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ทุศีล มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไร้ปัญญามีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นอมตบทมีชีวิตอยู่ร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุดมีชีวิตอยู่ร้อยปี

คาถาธรรมบท ปาปวรรค
บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้นเพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผลบุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย[พอประมาณ] จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด]คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มากเว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ ผู้ใดย่อมประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนบาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาลดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามกย่อมเข้าถึงนรกผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพานอากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ไม่มีเลย อากาศท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไปส่วนแห่งแผ่นดิน ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ

คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค
ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญาสัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา ชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตนย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมได้ความสุขในโลกหน้าท่านอย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าวแล้วพึงกล่าวตอบท่านเพราะว่าถ้อยคำแข็งดีให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องท่านถ้าท่านไม่ยังตนให้หวั่นไหวดุจกังสดาลถูกขจัดแล้ว ท่านนี้จะเป็นผู้ถึงนิพพานความแข็งดีย่อมไม่มีแก่ท่าน นายโคบาลย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน ด้วยท่อนไม้ฉันใด ความแก่และความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไปฉันนั้น คนพาลผู้ไร้ปัญญาทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้สึก ภายหลังย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้ ฉะนั้นผู้ใดย่อมประทุษร้ายในพระขีณาสพผู้ไม่มีอาชญา ผู้ไม่ประทุษร้าย ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเหตุแห่งทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งพลันทีเดียว คือเวทนาหยาบช้า ความเสื่อมทรัพย์ ความแตกแห่งสรีระอาพาธหนัก ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความขัดข้องแต่พระราชาการกล่าวตู่อันร้ายแรง ความสิ้นญาติ ความย่อยยับแห่งโภคะทั้งหลาย หรือไฟย่อมไหม้เรือนของเขา เมื่อตายไป เขาผู้ไร้ปัญญาย่อมเข้าถึงนรก ความประพฤติเปลือย การทรงชฎาการนอนที่เปือกตม การไม่กินข้าว หรือการนอนเหนือแผ่นดิน ความคลุกคลีด้วยธุลี ความเพียรอันปรารภด้วยความเป็นคนกระโหย่ง ยังสัตว์มีความสงสัยอันข้ามไม่ได้แล้วให้หมดจดไม่ได้ ถ้าแม้บุคคลผู้ประดับแล้ว เป็นผู้สงบ ฝึกแล้วเที่ยงแล้ว เป็นผู้ประพฤติ ธรรมอันประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก แล้วพึงประพฤติสม่ำเสมอไซร้ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสมณะบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ บุรุษผู้เกียดกันอกุศลวิตกด้วยหิริ มีอยู่ในโลกน้อยคน บุรุษผู้บรรเทาความหลับตื่นอยู่ ดุจม้าที่เจริญหลบแส้ หาได้ยากม้าที่เจริญถูกนายสารถีเฆี่ยนด้วยแส้ย่อมทำความเพียร ฉันใด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีความเพียรมีความสังเวช ฉันนั้นเถิด เธอทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และการวินิจฉัยธรรมเป็นผู้มีวิชชาและจรณะอันสมบูรณ์ เป็นผู้มีสติ จักละทุกข์มีประมาณไม่น้อยนี้เสียได้ ก็พวกใช้น้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศรพวกช่างถากย่อมถากไม้ ผู้มีวัตรอันงามย่อมฝึกตน ฯ